เอกสารผลลัพธ์ สำหรับการประชุมสุดยอดอาเซียน ครั้งที่ 15 และการประชุมอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง รวมถึงการประชุมเตรียมการระดับรัฐมนตรี 21 — 25 ตุลาคม 2552 ที่ชะอำ-หัวหิน
ในระหว่างวันที่ 21-25 ตุลาคม 2552 คาดว่า ที่ประชุมสุดยอดอาเซียน ครั้งที่ 15 และการประชุมอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง รวมถึงการประชุมเตรียมการระดับรัฐมนตรี จะมีการลงนาม/รับรอง/เผยแพร่เอกสารที่จะเป็นผลลัพธ์การประชุมทั้งหมดกว่า 15 ฉบับ (รายละเอียดตามเอกสารแนบ) โดยในจำนวนนี้ ฉบับที่สำคัญสรุปสาระสำคัญได้ ดังนี้
1. ปฏิญญาชะอำหัวหินว่าด้วยการจัดตั้งคณะกรรมาธิการระหว่างรัฐบาลอาเซียนว่าด้วยสิทธิมนุษยชน - เป็นเอกสารที่จะย้ำเจตนารมณ์ของรัฐสมาชิกอาเซียนในการส่งเสริมและคุ้มครองสิทธิมนุษยชนในภูมิภาค โดยการให้การสนับสนุนการดำเนินงานของคณะกรรมาธิการฯ ซึ่งถือเป็นองค์การหลักในเรื่องสิทธิมนุษยชนของอาเซียน รวมถึงการให้คำมั่นที่จะพัฒนาคณะกรรมาธิการฯ ให้มีอำนาจหน้าที่ด้านการส่งเสริมและคุ้มครองสิทธิมนุษยชนให้เข้มแข็งมากยิ่งขึ้น โดยปฏิญญาฯ จะระบุให้มีการทบทวนเขอบเขตอำนาจหน้าที่ของคณะกรรมาธิการฯ ทุก 5 ปี และสนับสนุนให้ทุกฝ่ายที่เกี่ยวมีส่วนร่วมในการส่งเสริมและคุ้มครองสิทธิมนุษยชนในภูมิภาค
2. ปฏิญญาชะอำหัวหินว่าด้วยความร่วมมือด้านการศึกษาเพื่อให้บรรลุเป้าหมายประชาคมอาเซียนที่เอื้ออาทรและแบ่งปัน — เป็นเอกสารที่ย้ำถึงบทบาทสำคัญของการเสริมสร้างความร่วมมือของอาเซียนในด้านศึกษา เพื่อทำให้อาเซียนบรรลุเป้าหมายการเป็นประชาคม 3 เสาหลักภายในปีเป้าหมาย 2558 โดยปฏิญญาฯ จะระบุถึงแนวทางและมาตรการต่างๆ ในการเสริมสร้างความร่วมมือด้านการศึกษาของประเทศสมาชิก อาทิ การเสริมความเข้าใจอันดีระหว่างประชาชนเพื่อให้มีความชื่นชมต่อความแตกต่างทางด้านวัฒนธรรม ศาสนา และความเชื่อ การเสริมสร้างหลักสูตรการศึกษาที่เน้นถึงหลักการประชาธิปไตยและการเคารพในหลักการสิทธิมนุษยชน และการส่งเสริมให้มีการแลกเปลี่ยนนักศึกษาและโอกาสในการเรียนรู้
3. แถลงการณ์อาเซียนว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงทางสภาพภูมิอากาศ - เป็นเอกสารที่แสดงท่าทีที่มีเอกภาพของประเทศสมาชิกอาเซียนในการรับมือกับการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศ โดยเฉพาะการประสานท่าทีของอาเซียนในการเจรจากรอบอนุสัญญาแห่งสหประชาชาติว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (UNFCCC) ที่กรุงโคเปนเฮเกนในเดือนธันวาคมที่จะถึงนี้
4. แถลงการณ์การประชุมอาเซียนบวกสามว่าด้วยความร่วมมือเกี่ยวกับความมั่นคงด้านอาหารและการพัฒนาพลังงานชีวภาพ - เป็นเอกสารประกาศเจตนารมณ์ของอาเซียน จีน ญี่ปุ่น และสาธารณรัฐเกาหลี ในการส่งเสริมความร่วมมือด้านความมั่นคงทางอาหารและการพัฒนาพลังงานชีวภาพ เพื่อชีวิตและความเป็นอยู่ที่มั่นคงของประชาชนในภูมิภาค โดยแถลงการณ์ฯ จะระบุมาตรการต่างๆ ที่ประเทศอาเซียนบวกสาม จะร่วมมือกันเพื่อการนี้ อาทิ การจัดตั้งกลไกสำรองข้าวฉุกเฉิน การศึกษาวิจัยร่วมกันและการถ่ายทอดทางเทคโนโลยี และการสนับสนุนให้เกิดนวัตกรรมที่จะเป็นประโยชน์ต่อการสร้างพลังงานทดแทนและพลังงานชีวภาพ
5. แถลงการณ์ว่าด้วยการจัดการภัยพิบัติของการประชุมสุดยอดเอเชียตะวันออก — เป็นเอกสารที่ระบุถึงมาตรการต่างๆ ที่ประเทศที่เข้าร่วมในการประชุมสุดยอดเอเชียตะวันออก (อาเซียนบวกหก) จะร่วมมือกันเพื่อรับมือและจัดการกับปัญหาภัยพิบัติทางธรรมชาติ อาทิ การเพิ่มขีดความสามารถของแต่ละประเทศสมาชิกในการจัดการภัยพิบัติ ลดความเสี่ยงจากภัยพิบัติ และการพัฒนาและฟื้นฟู รวมถึงการให้ความช่วยเหลือซึ่งกันและกันภายหลังเกิดภัยพิบัติ
6. บันทึกความเข้าใจว่าด้วยการจัดตั้งศูนย์อาเซียน-จีน - เป็นเอกสารแสดงความตกลงของอาเซียนกับจีนในการจัดตั้งศูนย์อาเซียน-จีน ที่กรุงปักกิ่ง สาธารณรัฐประชาชนจีน เพื่อทำหน้าที่ส่งเสริมความสัมพันธ์และความร่วมมือระหว่างอาเซียนและจีนในด้านต่างๆ อาทิ การค้า การลงทุน การท่องเที่ยว วัฒนธรรม โดยศูนย์อาเซียน-จีน ถือเป็นศูนย์ในลักษณะเดียวกันแห่งที่ 3 ที่จัดตั้งขึ้นในประเทศคู่เจรจาของอาเซียนต่อจากญี่ปุ่น และเกาหลีใต้
7. บันทึกความเข้าใจระหว่างอาเซียนและสาธารณรัฐประชาชนจีนเกี่ยวกับความร่วมมือเรื่องทรัพย์สินทางปัญญา — เป็นเอกสารที่จะระบุมาตรการต่างๆ ที่อาเซียนและจีนจะร่วมมือกันด้านด้านทรัพย์สินทางปัญญา เช่น การจัดตั้งกลไกการประชุมของหัวหน้าหน่วยงานด้านทรัพย์สินทางปัญญาของประเทศสมาชิกอาเซียนและจีน การประสานประเด็นต่าง ๆ ที่เกี่ยวกับการคุ้มครองสิทธิและการจัดเก็บฐานข้อมูลในทรัพย์สินทางปัญญา รวมทั้งการแลกเปลี่ยนข้อคิดเห็นระหว่างกันในประเด็นเกี่ยวกับการส่งเสริมการพิทักษ์ทรัพย์สินทางปัญญา และการส่งเสริมนวัตกรรมที่จะเป็นพื้นฐานสำคัญสำหรับการพัฒนาเศรษฐกิจของภูมิภาคในอนาคต
8. บันทึกความเข้าใจระหว่างอาเซียนและจีนว่าด้วยการสร้างเสริมความร่วมมือทางด้านมาตรฐาน กฎระเบียบทางเทคนิค การตรวจสอบและรับรอง - เป็นเอกสารที่ระบุถึงมาตรการต่างๆ ที่อาเซียนและจีนจะร่วมมือกันเพื่อให้มั่นใจว่าผลิตภัณฑ์ที่นำเข้าและส่งออกระหว่างทั้งสองฝ่าย จะได้รับการตรวจสอบและรับรองภายใต้กฎระเบียบทางเทคนิกที่มีมาตรฐานทัดเทียมกันและมีความสอดคล้องกับข้อกำหนดด้านความปลอดภัย สุขภาพและสิ่งแวดล้อม ซึ่งเป็นมาตรการสำคัญในการส่งเสริมการค้าระดับภูมิภาคและปกป้องประชาชนของทั้งสองฝ่ายในฐานะผู้บริโภคสินค้า
กองการสื่อมวลชน กรมสารนิเทศ กระทรวงการต่างประเทศ โทร. 643-5170 โทรสาร. 643-5169 E-mail : div0704@mfa.go.th--จบ--