ถ้อยแถลงโดย ฯพณฯ นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรีแห่งราชอาณาจักรไทย พิธีเปิดการประชุมสุดยอดอาเซียน ครั้งที่ 15 วันที่ 23 ตุลาคม 2552 ณ อำเภอชะอำ หัวหิน ประเทศไทย (กรุณาตรวจสอบกับการกล่าวถ้อยแถลงจริง)
(คำแปลอย่างไม่เป็นทางการ)
************************
ใต้ฝ่าพระบาท,
ฯพณฯ ทั้งหลาย,
ท่านเลขาธิการอาเซียน,
ท่านแขกผู้มีเกียรติ,
ท่านสุภาพบุรุษและสุภาพสตรี
1. ผมขอต้อนรับทุกท่านสู่อำเภอชะอำ หัวหิน ด้วยความอบอุ่นอย่างยิ่งอีกวาระหนึ่ง
2. เมื่อ 9 เดือนก่อนหน้านี้ เราได้มาพร้อมกัน ณ ที่นี้ เพื่อให้คำมั่นที่จะร่วมกันทำงาน
เพื่อแปลงความมุ่งหวังของเราไปสู่การสร้าง “ประชาคมอาเซียนที่มีประชาชนเป็นศูนย์กลาง” ซึ่งเป็นองค์กรที่ตั้งอยู่บนกฎกติกา และมีประสิทธิภาพยิ่งขึ้นเพื่อรับมือกับความท้าทายต่างๆ ในยุคปัจจุบัน
3. ในวันนี้ เราได้มาพร้อมกัน ณ ที่นี้ อีกครั้งหนึ่ง เพื่อยืนยันพันธกรณีร่วมกันที่จะ
ขับเคลื่อนวิสัยทัศน์และความฝันของเราไปอีกก้าวหนึ่งที่เข้าใกล้สู่ความจริง
ท่านสุภาพบุรุษและสุภาพสตรี
(ความสำเร็จ)
4. ขณะที่เราเดินหน้าไปสู่ยุคใหม่ของอาเซียน เราสามารถมองกลับไปอย่างภาคภูมิใจในสิ่งที่เราได้ทำจนสำเร็จร่วมกันในปีที่ผ่านมา
5. ขณะนี้เรามีกฎบัตรอาเซียนใช้อย่างเป็นทางการ อันจะทำให้อาเซียนเป็นองค์กร ที่ตั้งอยู่บนกฎกติกาอย่างแท้จริงและมีประสิทธิภาพยิ่งขึ้นในการผลักดันสิ่งที่รัฐสมาชิกได้ตกลงกันไว้ นอกจากนี้ เพื่อให้ความสำเร็จนี้มีผลจับต้องได้ยิ่งขึ้น เราได้รับรองปฏิญญาชะอำ หัวหินว่าด้วยแผนงานสำหรับประชาคมอาเซียน เพื่อเป็นแนวทางสำหรับความพยายามการสร้างประชาคมในสามเสาหลักของเรา
6. ประชาคมอาเซียนได้เริ่มก่อรูปขึ้นแล้ว โดยขณะนี้คณะกรรมการผู้แทนถาวรอาเซียน ณ กรุงจาการ์ตาได้เริ่มปฏิบัติหน้าที่แล้ว รวมทั้งคณะมนตรีประชาคมอาเซียนทั้งสามก็ได้มีการประชุมของตนเองแล้วตามลำดับเพื่อวางมาตรการต่างๆ สำหรับการบรรลุเป้าหมายและจุดหมายปลายทางของแต่ละองค์กรตามที่ระบุไว้ในกฎบัตรอาเซียน
7. นอกจากนั้น พร้อมกับการเสริมสร้างความพยายามในการสร้างประชาคมดังกล่าว อาเซียนได้รับมือกับความท้าทายต่างๆ ในระดับโลกและระดับภูมิภาค นับตั้งแต่จากวิกฤติเศรษฐกิจและการเงิน ผลกระทบเชิงลบของการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ความมั่นคงทางด้านอาหารและพลังงาน ไปจนถึงภัยพิบัติทางธรรมชาติและโรคระบาด ด้วยความเป็นปึกแผ่นและความเป็นหนึ่งเดียวกัน เราได้ประสบผลสำเร็จในการทำให้อาเซียนยืนหยัดต่อไปได้ รวมทั้งทำให้วิสัยทัศน์อาเซียนเป็นจริง
8. ในการตอบสนองต่อวิกฤติเศรษฐกิจและการเงินโลก เราได้ดำเนินการโดยทันที ในการจัดประชุมรัฐมนตรีคลังอาเซียนบวกสามสมัยพิเศษเมื่อเดือนกุมภาพันธ์ เพื่อเร่งรัดการจัดตั้ง ข้อริเริ่มเชียงใหม่แบบพหุภาคี กระผมหวังเป็นอย่างยิ่งว่ากลไกการช่วยเหลือตนเองในระดับภูมิภาคดังกล่าวจะสามารถจัดตั้งขึ้นได้ในช่วงปลายปีนี้ ประเทศไทยยินดีที่จะเป็นสถานที่ตั้งชั่วคราวของหน่วยเฝ้าระวังทางเศรษฐกิจภายใต้ข้อริเริ่มเชียงใหม่แบบพหุภาคีดังกล่าว
9. การมีผู้แทนของอาเซียนเข้าร่วมประชุมสุดยอดผู้นำ G-20 ได้แสดงให้เห็นว่า ประเด็นเกี่ยวกับอาเซียนมิได้จำกัดอยู่เพียง 10 ประเทศในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้เท่านั้น หากแต่เกี่ยวข้องกับประเทศอื่นๆ ในโลกด้วย เราได้ทำให้เสียงของประเทศกำลังพัฒนาได้รับความสนใจในความพยายามของเราที่จะรับมือกับวิกฤตเศรษฐกิจและการเงินทั้งในกรุงลอนดอนและนครพิตต์สเบิร์ก
10. เมื่อประชาชนทั่วโลกได้รับผลกระทบจากไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ใหม่ (เอชวันเอ็นวัน) อาเซียนได้ร่วมกับประเทศคู่เจรจาในเอเชียตะวันออกจัดการประชุมรัฐมนตรีสาธารณสุขอาเซียนบวกสามสมัยพิเศษที่กรุงเทพฯ เพื่อร่วมกันพิจารณามาตรการที่มีประสิทธิภาพสำหรับป้องกันและควบคุมโรคระบาดในเอเชีย
11. เราได้ยืนยันท่าทีร่วมกันของอาเซียนและประเทศกำลังพัฒนาอื่นๆ ในการเจรจาภายใต้กรอบอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ นอกจากนั้น ประเทศไทยมีความยินดีอย่างยิ่งที่จะปฏิบัติหน้าที่ในการเป็นเจ้าภาพการหารือเกี่ยวกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศที่กรุงเทพฯ เมื่อต้นเดือนที่ผ่านมา เพื่อเตรียมการประชุมรัฐภาคีอนุสัญญาฯ ครั้งที่ 15 ที่กรุงโคเปนฮาเกน
12. เพื่อเสริมสร้างความมั่นคงด้านอาหารในภูมิภาค มีความพยายามที่จะผลักดันให้โครงการนำร่องระบบสำรองข้าวฉุกเฉินในเอเชียตะวันออกให้เป็นกลไกถาวรภายใต้ระบบสำรองข้าวฉุกเฉินของอาเซียนบวกสาม เราควรสนับสนุนความพยายามดังกล่าวและเรียกร้องให้รัฐมนตรีเกษตรและป่าไม้ที่จะมีการประชุมในเดือนหน้าที่บรูไนเพื่อเร่งรัดการจัดตั้งกลไกถาวรนั้น
13. เราได้เสริมสร้างลักษณะการมองสู่ภายนอกของอาเซียนโดยการมีความตกลง เขตการค้าเสรีกับประเทศคู่เจรจาสำคัญต่างๆ ในภูมิภาค ได้แก่ จีน ญี่ปุ่น สาธารณรัฐเกาหลี อินเดีย ออสเตรเลีย และนิวซีแลนด์ รวมทั้งปัจจุบันได้สำรวจความเป็นไปได้ในการจัดตั้งความตกลงเขตการค้าเสรีในภูมิภาคที่กว้างยิ่งขึ้น
14. เมื่อต้นปีนี้ กระผมมีความยินดีที่ได้เป็นประธานร่วมของการประชุมสุดยอดสมัยพิเศษกับ ฯพณฯ ประธานาธิบดีสาธารณรัฐเกาหลี และในเดือนหน้า กระผมจะได้รับเกียรติให้เป็นประธานร่วมในการประชุมสุดยอดอาเซียน-สหรัฐฯ กับประธานาธิบดีบารัค โอบามา ที่สิงคโปร์ ขณะนี้เรากำลังทำงานร่วมกันอย่างใกล้ชิดกับรัสเซียเพื่อจัดการประชุมสุดยอดอาเซียน-รัสเซีย ครั้งที่ 2 ในปี 2553
15. กระผมหวังว่า การหารือกับประเทศคู่เจรจาต่างๆ ระหว่างการประชุมสุดยอดที่เกี่ยวข้องจะทำให้เราเห็นภาพที่ชัดเจนขึ้นว่าอาเซียนจะสามารถเป็นพลังผลักดันสำหรับการพัฒนาสถาปัตยกรรมระดับภูมิภาคใหม่ได้อย่างไร
16. พัฒนาการทั้งหมดนี้ได้แสดงให้เห็นถึงการยอมรับอาเซียนโดยประชาคมโลกตลอดระยะเวลาหนึ่งปีครึ่งในฐานะองค์กรที่มีกฏกติกาเป็นพื้นฐานและมีประชาชนเป็นศูนย์กลาง รวมทั้งเป็นองค์กรที่มีพันธกิจที่จะจัดตั้งประชาคมที่มีบูรณาการอย่างสมบูรณ์ภายในปี 2558
17. ความสำเร็จต่างๆ ของอาเซียนสามารถทำให้เรารู้สึกภาคภูมิใจ อาเซียนได้ดำเนินการและเติบโตข้ามผ่านความท้าทายต่างๆ ระดับโลกและระดับภูมิภาค ซึ่งอาเซียนต้องเผชิญ สิ่งที่เหลืออยู่คือภาระหน้าที่ เพื่อพิสูจน์ว่าอาเซียนสามารถทำให้ทุกสิ่งที่ได้ตกลงกัน ประกาศไว้ หรือมุ่งหวังในอนาคต บรรลุผล
ท่านสุภาพบุรุษและสุภาพสตรี
(วิสัยทัศน์สำหรับประชาคมอาเซียน ปี 2558)
18. การทำให้ประชาคมอาเซียนเกิดขึ้นจริงได้ถูกหารืออย่างกว้างขวาง โดยเป็นประชาคมที่เน้นการปฏิบัติ ประชาคมที่มีการเชื่อมโยงระหว่างกัน และประชาคมที่เป็นของประชาชนอย่างแท้จริง สิ่งที่เราจำเป็นต้องทำต่อไปก็คือการวางวิสัยทัศน์ที่ชัดเจนร่วมกันเกี่ยวกับเป้าหมายที่เราจะต้องบรรลุภายในปี 2558 และหลังจากนั้นต่อไป กระผมขออนุญาตเรียนความเห็นเกี่ยวกับสิ่งที่เราจะต้องทำต่อไปเพื่อให้บรรลุวิสัยทัศน์ที่วางไว้
19. ในฐานะ “ประชาคมที่เน้นการปฏิบัติ” อาเซียนสามารถดำเนินการอย่างมุ่งมั่นและทันท่วงทีในการรับมือกับภัยคุกคามจากภายในและภายนอก รวมทั้งความท้าทายต่างๆ ที่มีต่อความมั่นคงในภูมิภาคและความกินดีอยู่ดีของประชาชน
20. เราจำเป็นต้องเริ่มคิดเกี่ยวกับแนวทางใหม่สำหรับการดำเนินการ ในยุคโลกาภิวัฒน์เช่นปัจจุบัน เราไม่มีเวลามากเพียงพออีกต่อไป และเพื่อที่จะรับมือกับความท้าทายต่างๆ อย่างมีประสิทธิภาพ เราจะต้องเสริมสร้างความเข้มแข็งให้กับโครงสร้างขององค์กรเพื่อให้มีการตัดสินใจได้อย่างรวดเร็ว ในขณะเดียวกันที่การดำเนินการตามการตัดสินใจดังกล่าวจะต้องทำได้อย่างทันท่วงที ในการนี้ กระผมสนับสนุนให้เลขาธิการอาเซียนมีบทบาทในการนำประเด็นที่มีความเร่งด่วนไปสู่การพิจารณาของผู้นำอาเซียนเพื่อให้มีการดำเนินการอย่างทันท่วงที
21. ประการที่สอง ในฐานะ “ประชาคมที่ความเชื่อมโยงระหว่างกัน” อาเซียนจะเป็นภูมิภาค ซึ่งสินค้าและประชาชน ตลอดจนการลงทุนและข้อริเริ่มต่างๆ สามารถเคลื่อนไหวผ่านพรมแดนโดยปราศจากอุปสรรคซึ่งสามารถเกิดขึ้นได้โดยความพยายามร่วมกันที่จะส่งเสริมการเชื่อมโยงการขนส่งทั่วภูมิภาคโดยรูปแบบที่หลากหลาย ร่วมกันรับมือกับความท้าทายของการจัดการด้านโลจิสติกส์ และทำการเชื่อมโยงเส้นทางที่ขาดหายไปในโครงการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานแต่ละโครงการก่อนที่แผนปฏิบัติการด้านคมนาคม 5 ปีของอาเซียนจะสิ้นสุดลงในปี 2553 นอกจากนี้ จะต้องมีการประสานการสนับสนุนโครงสร้างพื้นฐานทางกฎหมายและกฎระเบียบทางด้านการอำนวยความสะดวกด้านการค้า เพื่อเอื้ออำนวยต่อการคมนาคมและการติดต่อสื่อสารภายในภูมิภาค
22. เป็นที่ประจักษ์ว่าการเชื่อมโยงระหว่างกันเป็นหัวใจของการคงบทบาทนำของอาเซียนในภูมิภาค รวมทั้งจะทำให้เกิดการเติบโตและรุ่งเรืองอย่างยั่งยืนของภูมิภาคเอเชียตะวันออก ความสำเร็จของแนวคิดนี้ย่อมขึ้นอยู่กับการมีกองทุนที่เพียงพอสำหรับดำเนินโครงการต่างๆ ท้ายที่สุด เราควรจะต้องพิจารณาอย่างจริงจังต่อแนวคิดเกี่ยวกับการจัดตั้งกองทุนพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานทางสาธารณูปโภคสำหรับอาเซียน ในขณะเดียวกัน เราต้องยินดีให้ประเทศคู่เจรจาทั้งจากภายในและภายนอกภูมิภาคมีส่นร่วมและสนับสนุน
23. การเชื่อมโยงระหว่างกันในอาเซียนนี้จะเป็นเพียงก้าวแรก ก่อนที่จะขยายไปสู่การเชื่อมโยงที่กว้างขึ้นในเอเชียตะวันออก ซึ่งจะเชื่อมอาเซียนเข้ากับส่วนที่เหลือของภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก และทำให้เกิดความก้าวหน้าและความเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจแก่ทุกฝ่าย
24. การเสริมสร้างการเชื่อมโยงระหว่างกันในอาเซียนนี้ มิได้หมายความว่า เป็นการเชื่อมโยงประชาชนทางกายภาพเท่านั้น แต่ยังหมายถึงการการยึดโยงทางด้านจิตใจและความคิดของประชาชนของอาเซียนทั่วภูมิภาค เราจำเป็นที่จะต้องส่งเสริมเชื่อมโยงทางด้านภูมิปัญญาและวัฒนธรรมบนพื้นฐานของมิตรภาพและความเข้าใจอันดีของประชาชนต่อเป้าหมายร่วมกัน ตลอดจนการมีมรดกทางประวัติศาสตร์ร่วมกัน การติดต่อระหว่างประชาชนต่อประชาชนนี้จะช่วยส่งเสริมให้เกิดความคิดที่ว่า “เรารู้สึกถึงความเป็นอาเซียน” อันเป็นปัจจัยสำคัญปัจจัยหนึ่งในกระบวนการสร้างประชาคม ในการนี้ ประเทศไทยยินดีที่จะจัดตั้ง “อาเซียนแชนแนล” เพื่อเป็นช่องทางการส่งเสริมความเข้าใจอันดีและอัตลักษณ์ร่วมของประชาชนอาเซียน
25. ประการที่สาม และสำคัญที่สุด คือ ในฐานะ “ประชาคมที่เป็นของประชาชนอย่างแท้จริง” ซึ่งส่งเสริมการเข้าถึงอย่างเท่าเทียมในด้านโอกาสการพัฒนามนุษย์ สิทธิมนุษยชนและเสรีภาพขั้นพื้นฐานต่างๆ ประชาชนของเราจะเป็นผู้ได้รับประโยชน์สูงสุดจากประชาคมอาเซียนในอนาคต อาเซียนได้พยายามปรับปรุงคุณภาพชีวิตของประชาชนมาโดยตลอด ดังนั้น เราจึงจำเป็นที่จะต้องเริ่มดำเนินการที่จะทำให้อาเซียนตอบสนองต่อประชาชน ในอนาคตความสำคัญของอาเซียนจะถูกตัดสินจากความสามารถของอาเซียนที่จะตอบสนองต่อความท้าทายที่ส่งผลกระทบต่อความกินดีอยู่ดีของประชาชนได้อย่างเป็นรูปธรรมและทันท่วงที ความร่วมมือภายในอาเซียนควรจะเน้นที่การสร้างเสริมประชาชนให้สามารถแข่งขันในโลกยุคโลกาภิวัฒน์โดยการศึกษาและการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ นอกจากนี้ เราจำเป็นต้องส่งเสริมให้อาเซียนมีความสัมพันธ์กับประชาชน เพื่อทำให้แน่ใจว่า ประชาชนจะได้รับโอกาสในการมีส่วนร่วมอย่างแข็งขัน ตลอดจนรู้สึกถึงการเป็นเจ้าของในกระบวนการสร้างประชาคมอาเซียนด้วย
26. ในการนี้ ผู้นำอาเซียนได้ดำเนินการอย่างก้าวหน้าโดยร่วมการหารืออย่างไม่เป็นทางการกับผู้แทนจากสมัชชารัฐสภาอาเซียน เยาวชนอาเซียน และองค์กรภาคประชาสังคมอาเซียน ในช่วงการประชุมสุดยอดอาเซียน ครั้งที่ 14 เมื่อต้นปีที่ผ่านมา ในฐานะประธานอาเซียน กระผมได้พบกับผู้นำสมัชชารัฐสภาอาเซียนในช่วงการประชุมสมัชชาใหญ่ของสมัชชารัฐสภาอาเซียน ครั้งที่ 30 ในเดือนสิงหาคม ที่เมืองพัทยา ผู้นำรัฐสภาอาเซียนได้ให้คำมั่นว่าจะสนับสนุนกระบวนการสร้างประชาคมอาเซียนโดยการเร่งการให้สัตยาบันความตกลงต่างๆ ของอาเซียน การประสานกลมกลืนกฎหมายภายใน รวมทั้งการสร้างความตระหนักรู้เกี่ยวกับอาเซียนในหมู่ประชาชน ด้วยเหตุนี้ กระผมจึงหวังว่าการหารือที่สร้างสรรค์กับกลุ่มต่างๆ จะยังคงมีอยู่ในปีต่อไป
27. ในขณะเดียวกัน เราควรทำให้อาเซียนเป็นสัญลักษณ์แห่งความหวังและคุณค่าของประชาชน วัตถุประสงค์และหลักการต่างๆ ที่จารึกไว้ในกฎบัตรอาเซียน รวมทั้งการเคารพสิทธิมนุษยชนและเสรีภาพขั้นพื้นฐานจะต้องถูกแปรเป็นการปฏิบัติที่เป็นรูปธรรมต่อไป
28. ในการนี้ กระผมยินดีที่จะแจ้งว่า ในเวลาไม่เกินสองชั่วโมงจากนี้ไป ความฝันอายุ 15 ปีของเราจะกลายเป็นความจริง โดยการมีพิธีฉลองวาระการจัดตั้งคณะกรรมาธิการระหว่างรัฐบาลอาเซียนว่าด้วยสิทธิมนุษยชน องค์กรดังกล่าว ตลอดจนการจัดตั้งคณะกรรมาธิการอาเซียนว่าด้วยการส่งเสริมและคุ้มครองสิทธิสตรีและเด็กในปีหน้าจะก่อให้เกิดสภาวะแวดล้อมที่เอื้ออำนวยต่อการส่งเสริมและคุ้มครองสิทธิมนุษยชนในภูมิภาค ตลอดจนจะช่วยเพิ่มพูน “ระดับความสบายใจ” ของรัฐสมาชิกอาเซียน เพื่อให้สามารถยอมรับบทบาทที่เพิ่มขึ้นขององค์กรนี้ในอนาคต
ใต้ฝ่าพระบาท,
ฯพณฯ ทั้งหลาย,
ท่านสุภาพบุรุษและสุภาพสตรี
29. ภารกิจที่รออยู่ข้างหน้าของเราย่อมไม่ง่ายดายนัก และรัฐบาลเพียงฝ่ายเดียวก็คงไม่สามารถทำให้บรรลุผลได้ ดังนั้น จึงเป็นความรับผิดชอบของทุกภาคส่วนของสังคม รวมทั้งภาคเอกชน ภาคประชาสังคม ตลอดจนเราทุกคน ที่จะขับเคลื่อน “ประชาคมอาเซียน” ของเราไปข้างหน้า หากพิจารณาถึงพลวัตรที่เปลี่ยนแปลงของภูมิภาคและของโลก เราจะต้องรักษาความพยายามที่จะบรรลุเป้าหมายเหล่านั้นให้ยั่งยืนต่อไป กระผมเชื่อมั่นว่าเราสามารถบรรลุประชาคมอาเซียนที่เป็นจริงร่วมกันได้ โดยการมีความมุ่งมั่นอย่างจริงจังและด้วยจิตวิญญาณแห่งความร่วมมือ
30. กระผมพร้อมที่จะทำงานอย่างใกล้ชิดกับทุกท่าน เพื่อให้การประชุมสุดยอดอาเซียน ครั้งที่ 15 และการประชุมสุดยอดที่เกี่ยวข้องบรรลุผลสำเร็จที่เป็นรูปธรรม และเมื่อถึงเวลาที่เราจะส่งผ่านตำแหน่งประธานต่อไปให้เวียดนามในอีก 3 เดือนข้างหน้า อาเซียนจะอยู่บนเส้นทางที่มุ่งสู่การเป็นประชาคมที่เน้นการปฏิบัติและมีความเชื่อมโยงมากขึ้นเพื่อประโยชน์ของประชาชนของเรา
31. ขอบคุณครับ
กองการสื่อมวลชน กรมสารนิเทศ กระทรวงการต่างประเทศ โทร. 643-5170 โทรสาร. 643-5169 E-mail : div0704@mfa.go.th--จบ--