1. เรา ประมุขของรัฐและหัวหน้ารัฐบาลของรัฐสมาชิกของสมาคมประชาชาติเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ได้มาพบกันที่อำเภอชะอำ หัวหิน ประเทศไทย เพื่อร่วมการประชุมสุดยอดอาเซียน ครั้งที่ 15 ระหว่างวันที่ 23 — 25 ตุลาคม 2552 เราได้หารือกันอย่างกว้างขวาง เปิดกว้าง และบรรลุผลสำเร็จ ภายใต้หัวข้อหลัก “เชื่อมโยงประชาคม สร้างเสริมประชาชน”
กฎบัตรอาเซียน
2. เรายินดีกับความก้าวหน้าในการปฏิบัติให้เป็นไปตามกฎบัตรอาเซียน โดยเฉพาะอย่างยิ่งการเริ่มปฏิบัติหน้าที่ของคณะกรรมการผู้แทนถาวรประจำอาเซียน ณ กรุงจาการ์ตา ซึ่งมีความสำคัญต่อการเสริมสร้างความร่วมมือระหว่างประเทศสมาชิกอาเซียน ปรับปรุงการประสานงานกับสำนักเลขาธิการอาเซียน รวมทั้งส่งเสริมความสัมพันธ์กับหุ้นส่วนภายนอกภูมิภาค
3. เราชื่นชมการดำเนินงานของคณะผู้เชี่ยวชาญด้านกฎหมายระดับสูงว่าด้วยกฎบัตรอาเซียน เรายินดีกับ การลงนามความตกลงว่าด้วยเอกสิทธิ์และความคุ้มกันของอาเซียนโดยรัฐมนตรีต่างประเทศของเรา เพื่อให้นิติฐานะแก่อาเซียน รวมทั้งการรับทราบความก้าวหน้าในการยกร่างพิธีสารต่อท้ายกฎบัตรอาเซียนว่าด้วยกลไกระงับข้อพิพาท
4. เราได้รับรองปฏิญญาชะอำหัวหินว่าด้วยการจัดตั้งคณะกรรมาธิการระหว่างรัฐบาลอาเซียนว่าด้วยสิทธิมนุษยชน และยินดีต่อการจัดตั้งคณะกรรมาธิการดังกล่าว ซึ่งเป็นผลสำเร็จที่เป็นรูปธรรมตามเจตนารมณ์ของกฎบัตรอาเซียน ข้อ 14 รวมทั้งความพยายามของเราที่จะสร้างประชาคมอาเซียนที่มุ่งเน้นการมีประชาชนเป็นศูนย์กลางยิ่งขึ้น เราให้คำมั่นว่าจะสนับสนุนการปฏิบัติหน้าที่ของคณะกรรมาธิการฯ อย่างเต็มที่ โดยสอดคล้องกับขอบเขตอำนาจหน้าที่ของคณะกรรมาธิการฯ ซึ่งจัดทำขึ้นโดยคณะทำงานระดับสูงว่าด้วยองค์กรสิทธิมนุษยชนอาเซียนและรับรองโดยที่ประชุมรัฐมนตรีต่างประเทศ เราเห็นว่า คณะกรรมาธิการฯ จะเป็นกรอบการดำเนินงานสูงสุดสำหรับความร่วมมือภายในภูมิภาคด้านสิทธิมนุษยชน ซึ่งจะวิวัฒน์และพัฒนาต่อไปเพื่อเสริมสร้างการส่งเสริมและคุ้มครองสิทธิมนุษยชนในอาเซียน ตามขอบเขตอำนาจหน้าที่ของคณะกรรมาธิการฯ เราเชื่อว่าคณะกรรมาธิการฯ จะปฏิบัติงานอย่างเต็มที่ โดยจะมีการพัฒนากำหนดการทำงาน ตลอดจนการวางกฎเกณฑ์ด้านการจัดสรรงบประมาณ เรารับทราบข้อเสนอของฟิลิปปินส์ที่จะเป็นที่ตั้งของสำนักงานของคณะกรรมการฯ ดังกล่าว
5. เราย้ำถึงความจำเป็นที่จะจัดสรรทรัพยากรอย่างพอเพียง ซึ่งรวมถึงงบประมาณและบุคคลากร เพื่อเสริมสร้างความแข็งแกร่งของสำนักเลขาธิการอาเซียน เพื่อให้สามารถปฏิบัติภารกิจและความรับผิดชอบที่เพิ่มขึ้นตามกฎบัตรอาเซียน
6. เรายินดีต่อการแต่งตั้ง นายบากัส ฮัปโซโร ให้ดำรงตำแหน่งรองเลขาธิการอาเซียนด้านประชาคมและการบริหารองค์กร ซึ่งจะสนับสนุนเลขาธิการอาเซียนในการดำเนินการตามความรับผิดชอบภายใต้กฎบัตรอาเซียน
การสร้างประชาคมอาเซียน
7. เรายินดีกับความก้าวหน้าที่เกิดขึ้นจากความพยายามร่วมกันที่จะทำให้ประชาคมอาเซียนเกิดขึ้นในปี 2558 โดยเฉพาะอย่างยิ่งการจัดตั้งคณะมนตรีประชาคมการเมืองและความมั่นคงอาเซียน คณะมนตรีประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน และคณะมนตรีประชาคมสังคมและวัฒนธรรมอาเซียน ซึ่งจะช่วยประสาน ความร่วมมือของอาเซียนในสามเสาหลัก
การปฏิสัมพันธ์กับภาคส่วนต่างๆ
8. เราตระหนักอย่างเต็มที่ว่า การสร้างประชาคมอาเซียนที่ประสบผลสำเร็จ โดยเป็นประชาคมที่มีประชาชนเป็นศูนย์กลางภายในปี 2558 จะต้องได้รับความร่วมมือและความสนับสนุนจากทุกภาคส่วนของสังคมอาเซียน รวมทั้งการมีส่วนร่วมของประชาชนอาเซียนในทุกด้านของการสร้างประชาคม ดังนั้น เราจึงยินดีกับผลสำเร็จของการประชุมต่างๆ ระหว่างผู้นำอาเซียนกับผู้แทนจากสมัชชารัฐสภาอาเซียน เยาวชนอาเซียน องค์กรภาคประชาสังคมอาเซียน และสภาที่ปรึกษาทางธุรกิจอาเซียน
9. เราย้ำบทบาทที่สำคัญของรัฐสภาอาเซียนในการส่งเสริมการผสานกลมกลืนทางด้านกฎหมาย เพื่อสนับสนุนสร้างประชาคม รวมทั้งการพัฒนาประชาคมอาเซียนที่ตั้งอยู่บนกฎกติกา เราตระหนักถึงความสำคัญของเยาวชนอาเซียนในฐานะผู้นำในอนาคตที่มีศักยภาพในการเสริมสร้างประชาคมอาเซียนให้แข็งแกร่งต่อไป เรารับทราบถึงบทบาทสำคัญของภาคประชาสังคมอาเซียนในการทำให้แน่ใจว่าจะเกิดการปฏิสัมพันธ์ที่ใกล้ชิดของประชาชนในกระบวนการสร้างประชาคมอาเซียน เราย้ำถึงความสำคัญของการสนับสนุนของภาคธุรกิจและภาคเอกชนในการส่งเสริมการสร้างประชาคมอาเซียน เรามุ่งหวังให้มีการปฏิสัมพันธ์ที่คล้ายกันนี้กับกลุ่มหุ้นส่วนหลักในอนาคต รวมทั้งส่งเสริมให้คงความร่วมมือที่ใกล้ชิดระหว่างรัฐบาลประเทศต่างๆ และทุกภาคส่วนของสังคมในกระบวนการสร้างประชาคมอาเซียน
เชื่อมโยงประชาคม
10. เราตระหนักว่า การเชื่อมโยงภายในภูมิภาคจะเป็นประโยชน์แก่รัฐสมาชิกอาเซียนทั้งปวง ตลอดจนประชนชนของอาเซียน มีส่วนสนับสนุนให้ส่งเสริมการคงบทบาทนำของอาเซียนในโครงสร้างในภูมิภาคและอำนวยให้เกิดการสร้างประชาคมอาเซียน ซึ่งมีสมรรถนะในการแข่งขันและเพิ่มพูนความเชื่อมโยงระหว่างกันกับภูมิภาคเอเชียแปซิฟิกและโลก ตลอดจนเป็นพื้นฐานสำหรับภูมิภาคเอเชียตะวันออก ที่เชื่อมโยงกันมากขึ้น ปัจจัยหลักของการส่งเสริมการเชื่อมโยงระหว่างอาเซียนคือการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานทางกายภาพ การคมนาคมรูปแบบต่าง ๆ การเชื่อมโยงโดยผ่านเทคโนโลยีสารสนเทศ และการสร้างโครงสร้างทางกฎหมายที่สอดคล้องกัน รวมทั้งเครื่องมือที่จำเป็นอื่นๆ ด้วยจุดประสงค์ดังกล่าว เราจึงสนับสนุนการพัฒนากองทุนพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานทางด้านสาธารณูปโภคของอาเซียน และเรียกร้องให้ประเทศคู่เจรจารวมทั้งประเทศหุ้นส่วนภายนอกที่สนใจให้สนับสนุนในการจัดตั้งกองทุนดังกล่าว ในการนี้ เรายินดีที่จีนได้จัดสรรเงินจำนวน 10,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ จากกองทุนอาเซียน-จีนสำหรับการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน ทางสาธารณูปโภค ซึ่งริเริ่มโดยจีน รวมทั้งการที่ญี่ปุ่นได้ประกาศจะให้ความช่วยเหลือเพื่อการพัฒนาอย่างเป็นทางการจากญี่ปุ่นมูลค่า 20,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ แก่ประเทศกำลังพัฒนาในเอเชียซึ่งจะช่วยสนับสนุนความพยายามในการบูรณาการของอาเซียน เราได้มอบหมายให้รัฐมนตรีคลังอาเซียนเร่งรัดการจัดตั้งกองทุนดังกล่าวและพัฒนาการข้อตกลงในการระดมเงินสนับสนุนจากประเทศคู่เจรจาและประเทศหุ้นส่วนภายนอก
11. เราตระหนักว่า การเชื่อมโยงระหว่างอาเซียนจำเป็นต้องเกิดความผูกพันทางใจและความคิดของประชาชนอาเซียนทั่วภูมิภาคด้วย โดยผ่านความสัมพันธ์ระดับประชาชนต่อประชาชนที่ใกล้ชิดความร่วมมือทางด้านการศึกษา และความพยายามในการพัฒนาขีดความสามารถ เรายินดีกับการรับรองแถลงการณ์ว่าด้วยการเชื่อมโยงระหว่างกันในอาเซียน ซึ่งได้เรียกร้องให้มีการจัดตั้งคณะทำงานระดับสูงเพื่อทำงานร่วมกับสำนักเลขาธิการอาเซียน และสถาบันวิจัยทางเศรษฐกิจสำหรับอาเซียนและเอเชียตะวันออก ธนาคารเพื่อการพัฒนาแห่งเอเชีย คณะกรรมาธิการเศรษฐกิจและสังคมแห่งสหประชาชาติสำหรับเอเชียแปซิฟิก และองค์การอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องให้พัฒนาแผนแม่บทของอาเซียนว่าด้วยการเชื่อมโยงโครงข่ายคมนาคมในภูมิภาค และนำเสนอข้อเสนอแนะให้ที่ประชุมสุดยอดอาเซียน ครั้งที่ 17 เราได้มอบหมายให้เลขาธิการอาเซียนพัฒนาขอบเขตอำนาจหน้าที่ของคณะทำงานระดับสูงว่าด้วยการเชื่อมโยงระหว่างอาเซียนโดยเร็วที่สุด
เสริมสร้างการศึกษา
12. เราเน้นย้ำถึงความสำคัญของการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ในการส่งเสริมความเข้าใจที่ดียิ่งขึ้นระหว่างประชาชนอาเซียน และการทำให้แน่ใจว่าประชาคมอาเซียนมีความสามารถในการแข่งขันในตลาดโลก ในการนี้ เรามีมติรับรองปฏิญญาชะอำ หัวหินว่าด้วยการเสริมสร้างความร่วมมือด้านการศึกษาเพื่อบรรลุสังคมอาเซียนที่เอื้ออาทร ซึ่งจะช่วยส่งเสริมมาตรฐานสมรรถนะระดับภูมิภาค การเคลื่อนย้ายของนักเรียนนักศึกษาในสถาบันการศึกษาในภูมิภาค ตลอดจนส่งเสริมความตระหนักรู้เกี่ยวกับเสาทั้งสามของ
ประชาคมอาเซียน เพื่อการนี้ เรามอบหมายให้รัฐมนตรีเฉพาะด้านที่เกี่ยวข้องพัฒนาแผนงาน 5 ปีด้านการศึกษา
การเสริมสร้างความเข้มแข็งของภูมิภาค
ความมั่นคงทางเศรษฐกิจและการเงิน
13. เราได้หารือกันอย่างกว้างขวางเกี่ยวกับวิกฤตการณ์เศรษฐกิจและการเงินโลกและผลกระทบเชิงลบ ที่มีต่อภูมิภาค ในการนี้ เราจึงได้เน้นย้ำถึงความจำเป็นที่จะต้องดำเนินมาตรการกระตุ้นทางเศรษฐกิจเพื่อให้มั่นใจว่าการฟื้นฟูทางเศรษฐกิจจะเป็นการฟื้นฟูที่ยั่งยืน เราสนับสนุนแถลงการณ์ G20 ที่พิตส์เบิร์ก เดือนกันยายน 2552 การปฏิรูปสถาบันการเงินระหว่างประเทศ เพื่อทำให้การบริหารจัดการสถาบันการเงินระหว่างประเทศที่โปร่งใสและมีประสิทธิภาพมากขึ้น และสะท้อนเสียงและความสำคัญที่เพิ่มมากขึ้นของประเทศกำลังพัฒนา เราเน้นย้ำถึงความจำเป็นที่จะเสริมสร้างการปฏิรูปกฎระเบียบทางการเงินการธนาคารเพื่อป้องกันความล้มเหลวทางการเงินการธนาคารไม่ให้เกิดขึ้นอีกครั้ง นอกจากนี้เราได้ตกลงว่าประธานอาเซียนควรจะได้รับเชิญให้เข้าร่วมการประชุม G20 อย่างสม่ำเสมอเพื่ออาเซียนจะได้สามารถเสนอมุมมองร่วมตลอดจนทำให้มั่นใจว่ามีการประสานท่าทีอย่างใกล้ชิดระหว่างแนวปฏิบัติในระดับภูมิภาคของอาเซียนและแนวปฏิบัติระดับโลกของ G20 ในการนี้ เราเสนอให้จัดการประชุมรัฐมนตรีคลังอาเซียนเพื่อรวบรวมข้อคิดเห็นและประสานท่าทีของรัฐสมาชิกต่างๆ ก่อนหน้าการประชุมสุดยอด G20 รวมทั้งเพื่อจัดตั้งกลุ่มคณะทำงานระหว่างอาเซียนกับ G 20 ซึ่งประกอบด้วยประธานอาเซียน อินโดนีเซีย และเลขาธิการอาเซียน
14. เราสนับสนุนให้รัฐมนตรีคลังอาเซียนทำงานร่วมกับรัฐมนตรีของประเทศคู่เจรจาในกรอบอาเซียน+3 เพื่อนำไปสู่ข้อผูกพันในการปฏิบัติตามข้อริเริ่มเชียงใหม่แบบพหุภาคี ให้ทันภายในปีนี้ตามที่ได้ตกลงในการประชุมรัฐมนตรีคลังอาเซียน+3 ที่บาหลี
การเปลี่ยนแปลงทางสภาพภูมิอากาศ
15 เรามีความห่วงกังวลร่วมในเรื่องของผลกระทบของการเปลี่ยนแปลงทางสภาพภูมิอากาศต่อเศรษฐกิจ สิ่งแวดล้อม และความเป็นอยู่ของประชาชนในภูมิภาค เรายังได้เน้นย้ำความจำเป็นสำหรับอาเซียนที่จะทำงานร่วมกันอย่างใกล้ชิดและทำงานร่วมกับหุ้นส่วนเพื่อความสำเร็จของการประชุมรัฐภาคีกรอบอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศที่กรุงโคเปนเฮเกน ในการนี้ เราได้ออกแถลงการณ์ร่วมอาเซียนว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศต่อที่ประชุมรัฐภาคีกรอบอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศสมัยที่ 15 และการประชุมรัฐภาคีพิธีสารเกียวโต สมัยที่ 5 เพื่อยืนยันท่าทีของเราว่ารัฐภาคีอนุสัญญาฯ ควรพิทักษ์และปกป้องสภาพภูมิอากาศบนพื้นฐานของความเท่าเทียมกันและหลักการของความรับผิดชอบร่วมกันในระดับที่แตกต่างกัน รวมทั้งในระดับขีดความสามารถและสถานการณ์ของแต่ละประเทศ
16. เราตระหนักถึงความสำคัญและคุณค่าของทรัพยากรน้ำซึ่งถูกกดดันอย่างหนักโดยการเปลี่ยนแปลงทางสภาพภูมิอากาศและการขยายจำนวนประชากร เราให้ความสำคัญกับการที่อาเซียนจะต้องพัฒนา แนวปฏิบัติแบบบูรณาการที่มีประชาชนเป็นศูนย์กลางสำหรับการบริหารทรัพยากรน้ำและสนับสนุน การแลกเปลี่ยนความรู้และแนวทางการปฏิบัติระหว่างเทคโนโลยีใหม่และภูมิปัญญาท้องถิ่นในการปรับตัวและรับมือกับปัญหาทรัพยากรน้ำ โดยเฉพาะภัยพิบัติทางน้ำ นอกจากนี้แล้ว การบริหารทรัพยากรน้ำที่ต้องใช้ร่วมกันระหว่างรัฐสมาชิกเพื่อหาความสมดุลในการผลิตอาหารและความยั่งยืนของทรัพยากรธรรมชาติก็ควรได้รับการส่งเสริม
17. เรารับทราบความสำคัญของการนำแนวคิดการบริหารชายฝั่งและมหาสมุทรอย่างบูรณาการมาใช้ในการเตรียมการและปรับตัวต่อผลกระทบทางลบของการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ดังที่ได้สะท้อนไว้ในปฏิญญามานาโดว่าด้วยมหาสมุทร อันเป็นผลจากการประชุมมหาสมุทรของโลก ที่การประชุมรัฐภาคี กรอบอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ครั้งที่ 15
ความมั่นคงทางอาหารและพลังงาน
18. เราตระหนักถึงความจำเป็นอันเร่งด่วนในการพัฒนาสังคมมลพิษต่ำและเศรษฐกิจที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม เพื่อลดผลกระทบของการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและมาตรการในการรับมือกับผลกระทบเชิงลบของการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ โดยเฉพาะความมั่นคงทางอาหารและพลังงาน
19. เราพร้อมที่จะร่วมมือกันในการเสริมสร้างความร่วมมือระหว่างกันเพื่อยกระดับความมั่นคงทางอาหารทั้งในด้านการผลิตและการขนส่ง เราจะทำให้มั่นใจได้ว่าทรัพยากรและเทคโนโลยีจะพอเพียงสำหรับการเพิ่มผลผลิตทางอาหาร พร้อมไปกับการพัฒนากลไกที่เหมาะสมสำหรับการลดการบิดเบือนทางตลาดสำหรับอาหาร เพื่อให้มั่นใจว่าเราจะมีความมั่นคงด้านอาหารในยามวิกฤต เราได้มอบหมายให้รัฐมนตรีและเจ้าหน้าที่อาวุโสที่เกี่ยวข้องเร่งรัดการจัดตั้งคลังข้าวฉุกเฉินเอเชียตะวันออกเชิงถาวรของภูมิภาคภายใต้ กรอบอาเซียน+3 ก่อนที่โครงการนำร่องคลังข้าวฉุกเฉินจะสิ้นสุดลง ในเดือนกุมภาพันธ์ 2553
20. เรารับทราบถึงความสำคัญของความร่วมมือทางด้านพลังงานเพื่อเสริมสร้างความมั่นคงและ ความยั่งยืนของพลังงานโดยการเสริมสร้างความหลากหลายของแหล่งพลังงาน การพัฒนาและการอนุรักษ์ทรัพยากรพลังงาน การใช้พลังงานอย่างมีประสิทธิภาพ อีกทั้งการนำเทคโนโลยีที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม มาใช้อย่างกว้างขวางยิ่งขึ้น เรายังได้เน้นถึงความจำเป็นที่เราจะต้องเพิ่มระดับความร่วมมือในการพัฒนาพลังงานทางเลือกและพลังงานที่สามารถนำกลับมาใช้ได้ใหม่ เช่น พลังน้ำและพลังงานชีวภาพ นอกจากนี้ เราได้รับทราบข้อเสนอของไทยที่จะใช้ศูนย์ฝึกอบรมการบริหารพลังงานเชิงปฏิบัติ เป็นศูนย์ระดับภูมิภาคสำหรับรัฐสมาชิกอาเซียนที่สนใจในการเข้ารับการอบรมหลักสูตรการประหยัดพลังงานในโรงงาน
21. เรามุ่งหวังว่าจะมีการรับรองแถลงการณ์ชะอำ หัวหิน ว่าด้วยความร่วมมือด้านอาหารและการพัฒนาพลังงานชีวภาพในกรอบอาเซียน+3
การจัดการภัยพิบัติ
22. เราแสดงความเสียใจและความเห็นใจอย่างสุดซึ้งต่อผู้ประสบภัยธรรมชาติในประเทศสมาชิกอาเซียนบางประเทศและซาบซึ้งต่อการดำเนินการของประเทศสมาชิกอาเซียน เลขาธิการอาเซียนและประชาคมระหว่างประเทศในการบรรเทาความทุกข์ของผู้ประสบภัย โดยคำนึงถึงเหตุการณ์ภัยพิบัติธรรมชาติที่เกิดขึ้นในภูมิภาคของเราในช่วงสองสามปีที่ผ่านมา เรายืนยันที่จะยกระดับความร่วมมือในการจัดการ ภัยพิบัติและมอบหมายให้คณะกรรมการอาเซียนว่าด้วยการจัดการภัยพิบัติทำให้แน่ใจว่ามีการดำเนินการให้เป็นไปตาม ระเบียบวิธีปฏิบัติด้านการตอบโต้สถานการณ์ฉุกเฉินของอาเซียน รวมทั้งทำให้ศูนย์ประสานงานอาเซียนสำหรับความช่วยเหลือทางด้านมนุษยธรรม ภายใต้กรอบความตกลงอาเซียนว่าด้วยการบรรเทา ภัยพิบัติและการรับมือกับภาวะฉุกเฉิน ซึ่งเราหวังว่าจะมีผลบังคับใช้ภายในปลายปีนี้
23. เราหวังที่จะส่งเสริมความร่วมมือว่าด้วยการบริหารจัดการภัยพิบัติกับประเทศคู่เจรจา และในการนี้ มุ่งหวังที่จะรับรองแถลงการณ์ว่าด้วยการจัดการภัยพิบัติของที่ประชุมสุดยอดเอเชียตะวันออก ซึ่งจะให้ความสำคัญต่อการเสริมสร้างขีดความสามารถและการใช้แนวคิดที่ยึดประชาคมเป็นหลักในการจัดการกับภัยพิบัติต่างๆ ในภูมิภาคภายใต้ความตกลงอาเซียนว่าด้วยการบรรเทาภัยพิบัติและการตอบสนองในภาวะฉุกเฉิน ซึ่งจะมีผลบังคับใช้ในวันที่ 12 ธันวาคม ศกนี้ เรามุ่งหวังให้มีความร่วมมือที่เพิ่มพูนในเรื่องการลดความเสี่ยงจาก ภัยพิบัติภายใต้กรอบความตกลงดังกล่าว และยินดีกับฟิลลิปปินส์ในฐานะประธานในอนาคตของคณะกรรมการการบริหารภัยพิบัติอาเซียน ในปี 2553
โรคระบาดต่างๆ
24. เรายืนยันความพยายามร่วมกันที่จะส่งเสริมขีดความสามารถในการเฝ้าระวัง การเตรียมความพร้อม และการรับมือกับโรคระบาดต่างๆ
25. เรายินดีกับผลสำเร็จของการประชุมรัฐมนตรีสาธารณสุขอาเซียน+3 สมัยพิเศษว่าด้วยไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ใหม่ (เอชวันเอ็นวัน) เมื่อวันที่ 8 พฤษภาคม 2552 ที่กรุงเทพฯ เราได้มอบหมายให้รัฐมนตรีที่เกี่ยวข้องดำเนินการให้เป็นไปตามพันธกิจภายใต้แถลงการณ์ร่วมระดับรัฐมนตรี ที่รวมถึงการดำเนินการอย่างต่อเนื่องตามแผนเตรียมความพร้อมต่างๆ การเสริมสร้างการเฝ้าระวังและการรับมือ ตลอดจนมีการติดต่อสื่อสารที่มีประสิทธิภาพ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในระดับประชาชน เพื่อไม่ให้เกิดความวุ่นวายและตื่นตกใจในสังคม เราได้ย้ำความจำเป็นที่จะเสริมสร้างความร่วมมือในการผลิตวัคซีนสำหรับโรคไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ใหม่ เพื่อให้ประชาชนสามารถเข้าถึงวัคซีนได้ในราคาที่เป็นธรรม
การลดช่องว่างด้านการพัฒนา
26. เราเน้นย้ำความจำเป็นที่จะต้องลดช่องว่างด้านการพัฒนาระหว่างรัฐสมาชิกเพื่อส่งเสริมบูรณาการในอาเซียน ในการนี้ เราได้มอบหมายให้รัฐมนตรีที่เกี่ยวข้องเร่งรัดการปฏิบัติให้เป็นไปตามแผนงานของ ข้อริเริ่มเพื่อการรวมตัวของอาเซียน ฉบับที่ 2 ซึ่งแผนงานสำหรับประชาคมอาเซียนทั้ง 3 ฉบับ จะช่วยส่งเสริมกระบวนการสร้างประชาคมให้มีสมดุล ครอบคลุม และยั่งยืน
27. เราได้ให้คำมั่นที่จะให้ความช่วยเหลือแก่กัมพูชา ลาว พม่า และเวียดนามต่อไป ในการสร้างและเสริมขีดความสามารถในการนำนโยบายไปปฏิบัติ เพื่อบรรเทาผลกระทบจากกระบวนการบูรณาการในภูมิภาค
ประชาคมการเมืองและความมั่นคงอาเซียน
28 เรายืนยันความตั้งใจที่จะดำเนินการตามแผนงานการจัดตั้งประชาคมการเมืองและความมั่นคงอาเซียน ซึ่งมีวิสัยทัศน์ให้อาเซียนเป็นประชาคมที่ตั้งอยู่บนกฎกติกาและมีค่านิยมร่วมกัน ในสภาวะที่เป็นธรรม มีประชาธิปไตยและมีความปรองดองกัน ให้อาเซียนเป็นภูมิภาคที่เข้มแข็ง มีเสถียรภาพ สงบสุขและเป็นอันหนึ่งอันเดียว โดยมีความรับผิดชอบร่วมกันในการรักษาความมั่นคงสำหรับประชาชนที่ครอบคลุมในทุกด้าน และเป็นภูมิภาคที่มีพลวัตรและร่วมมือปฏิสัมพันธ์กับภายนอกในโลกที่มีความบูรณาการและการพึ่งพาอาศัยกันมากยิ่งขึ้น
29. เรายินดีกับการประชุมคณะมนตรีประชาคมการเมืองและความมั่นคงอาเซียน ครั้งที่1 และครั้งที่ 2และรับทราบการดำเนินการตามแผนงานของประชาคมฯ ในสาขาที่มีลำดับสำคัญ เรารับทราบผลสำเร็จ ในการดำเนินการตามแผนงานดังกล่าว โดยเฉพาะการภาคยานุวัติสนธิสัญญาไมตรีและความร่วมมือ ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้โดยสหรัฐอเมริกาซึ่งเป็นการส่งสัญญาณอันชัดเจนถึงความตั้งใจของสหรัฐฯ ในการธำรงไว้ซึ่งสันติภาพและความมั่นคงในภูมิภาค ตลอดจนการรับรองแถลงการณ์วิสัยทัศน์ในการประชุมอาเซียนว่าด้วยความร่วมมือทางด้านการเมืองและความมั่นคงในภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิก ครั้งที่ 16 ซึ่งจะส่งเสริมให้การประชุมนี้มีเข้มแข็งและรักษาสถานะเป็นเสาหลักที่มีประสิทธิภาพและมีความจำเป็น ในโครงสร้างความร่วมมือด้านความมั่นคงในภูมิภาคที่กำลังพัฒนาขึ้น
30. เรายืนยันบทบาทสำคัญของรัฐมนตรีกลาโหมอาเซียนในการสนับสนุนสันติภาพและความมั่นคงในภูมิภาค และการทำให้ประชาคมการเมืองและความมั่นคงอาเซียนเกิดขึ้นได้ เรายินดีกับความมุ่งหวังของรัฐมนตรีกลาโหมอาเซียนที่จะสร้างโครงสร้างด้านความมั่นคงในภูมิภาคที่แข็งแกร่ง มีประสิทธิภาพ และครอบคลุมทุกด้าน โดยผ่านการจัดตั้งการประชุมระหว่างรัฐมนตรีกลาโหมอาเซียนกับประเทศคู่เจรจา
31. ในขณะที่เราเสริมสร้างบูรณาการในภูมิภาค เรายังคงให้ความสำคัญกับการแก้ไขและจัดการประเด็นต่างๆ ที่ท้าทายสันติภาพและความมั่นคง เช่น การก่อการร้าย การจัดการความขัดแย้งภายใน ประเด็นเขตแดนทางบกและทางทะเล ตลอดจนการสร้างความสมานฉันท์ในชาติ
ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน
32. เรายินดีกับผลการประชุมคณะมนตรีเศรษฐกิจอาเซียน ครั้งที่ 2 โดยเฉพาะอย่างยิ่งเกี่ยวกับระบบใบคะแนนของประชาคมเศรษฐกิจอาเซียนสำหรับติดตามผลการดำเนินงานซึ่งสะท้อนให้เห็นถึงความก้าวหน้าที่เกิดขึ้นจากการทำให้เป็นไปตามพันธกรณีของเรา และย้ำความจำเป็นที่จะต้องทำให้มาตรการที่ยังไม่ได้ดำเนินการแล้วเสร็จภายในกำหนดเวลา
33. เรายินดีที่ได้ทราบว่ารัฐมนตรีเศรษฐกิจอาเซียนได้สร้างเสริมความสัมพันธ์กับภาคเอกชนและสาธารณะผ่านการหารือที่เข้มข้น โดยเฉพาะในสาขาเครื่องนุ่งห่มและรถยนต์ เรามุ่งหวังให้ความพยายามในการสร้างความสัมพันธ์กับหุ้นส่วนที่เกี่ยวข้องมีอยู่ต่อไป เพื่อให้ได้รับประโยชน์จากประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน
การจัดตั้งเขตการค้าเสรีอาเซียน
34. เรายินดีที่ได้รับทราบว่าการจัดตั้งเขตการค้าเสรีอาเซียนที่จะเกิดขึ้นในวันที่ 1 มกราคม 2553 ดำเนินไปด้วยดี โดยภายในวันที่ 1 มกราคม 2553 ภาษีสินค้าที่อยู่ภายใต้ข้อตกลงว่าด้วยการใช้ภาษีศุลกากรในอัตราพิเศษที่เท่าเทียมกัน ซึ่งมีร้อยละ 99.65 ของระบบรายการสินค้าที่ต้องชำระภาษี จะถูกยกเลิกสำหรับการค้าภายในอาเซียน ซึ่งนับเป็นร้อยละ 87.2 ของมูลค่าสินค้านำเข้าภายในอาเซียน สมาชิกอาเซียนที่เหลือจะไม่ดำเนินการช้ากว่ามากนัก เนื่องจากร้อยละ 98.86 ของสินค้าทั้งหมดจะใช้อัตราภาษีอยู่ในระหว่างร้อยละ 0-5 การปฏิบัติตามข้อผูกพันสำคัญในเขตการค้าเสรีอาเซียนอย่างมีประสิทธิภาพนี้จะทำให้อาเซียนพัฒนาใกล้เข้าไปสู่การเป็นประชาคมเศรษฐกิจอาเซียนซึ่งการค้าสินค้าโดยเสรีเป็นหนึ่งในวัตถุประสงค์สำคัญสินค้า
35. เรามุ่งหวังที่จะดำเนินการตามความตกลงการค้าสินค้าอาเซียน เรายึดมั่นกับหลักการที่ระบุไว้ในความตกลงฯ และเรียกร้องให้รัฐภาคีแก้ไขข้อแตกต่างของตนในโอกาสแรก
การบริการ
36. เรารับทราบความก้าวหน้าที่มีนัยสำคัญในการเปิดเสรีการค้าบริการผ่านการเจรจากรอบความตกลงอาเซียนว่าด้วยการค้าบริการของอาเซียน และมุ่งหวังที่จะทำข้อผูกพันชุดที่ 8 ให้แล้วเสร็จ ภายในปลายปี 2553
การลงทุน
37 เราตระหนักว่าการปฏิบัติตามความตกลงการลงทุนอาเซียนฉบับครอบคลุมอย่างมีประสิทธิภาพและทันเวลาจะทำให้อาเซียนเป็นแหล่งลงทุนที่ได้รับความสนใจ รวมทั้งกระตุ้นให้เกิดกิจกรรมการลงทุนภายในอาเซียน เราชื่นชมความพยายามที่จะประนีประนอมความแตกต่างที่เกิดขึ้นและมุ่งหวังให้ประเทศสมาชิกให้สัตยาบันความตกลงฉบับนี้ในโอกาสแรก
วาระการพัฒนารอบโดฮา
38. เราสนับสนุนคำแถลงการณ์ของที่ประชุมสุดยอด G20 ที่นครพิตส์เบิร์ก ซึ่งได้ให้คำมั่นที่จะหาข้อยุติของการประชุมรอบโดฮาด้านการค้าให้แล้วเสร็จภายในปี 2553 และได้มอบหมายให้รัฐมนตรีเศรษฐกิจพิจารณาว่าการหารือจะดำเนินไปในลักษณะใดภายในต้นปีหน้า
39. เราได้มอบหมายผู้แทนของเราในนครเจนีวาให้ทำงานอย่างใกล้ชิดกับประเทศสมาชิกองค์การการค้าโลกอื่นๆ เพื่อลดความแตกต่างที่มีอยู่ รวมทั้งแสวงหาความก้าวหน้าในเรื่องการเข้าถึงตลาดสินค้าเกษตรและสินค้าที่ไม่ใช่สินค้าเกษตร การพัฒนาการอำนวยความสะดวกทางการค้า การบริการ และกฎระเบียบต่างๆ ตลอดจนประเด็นที่เหลืออื่นๆ อย่างไรก็ตาม อาเซียนเชื่อมั่นว่า ความสำเร็จของการเจรจารอบโดฮาจะต้องมาจากการปฏิสัมพันธ์อย่างเป็นรูปธรรมของทุกประเทศ และด้วยเหตุนี้ เราจึงได้เรียกร้องให้ประเทศสมาชิกที่สำคัญมีส่วนร่วมอย่างแข็งขัน มีความยืดหยุ่น และเจตนารมณ์ทางการเมือง เพื่อก้าวไปข้างหน้าในในอีกไม่กี่เดือนนี้ เพื่อให้เป้าหมายในปี 2553 สามารถบรรลุผล
40. เราย้ำข้อเรียกร้องให้อำนวยความสะดวกและเร่งรัดกระบวนการภาคยานุวัติของสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาวเป็นสมาชิกองค์การการค้าโลกโดยให้ความสำคัญเป็นพิเศษกับการพัฒนาของประเทศลาว
วิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (เอสเอ็มอี)
41. เราเรียกร้องให้มีการดำเนินการในระดับภูมิภาคเพื่อเสริมสร้างประสิทธิภาพและความสามารถในการแข่งขันของวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม เราเน้นย้ำความสำคัญของการสร้างสภาวะแวดล้อมที่เอื้ออำนวยต่อการพัฒนาของวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม เราได้เรียกร้องให้มีมาตรการความร่วมมืออื่นๆ ในการส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม ซึ่งรวมถึงการพัฒนาหน่วยงานบริการวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมภายในอาเซียน การเชื่อมโยงออนไลน์ระหว่างศูนย์ให้บริการแก่รัฐวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมของประเทศสมาชิก การกระจายศูนย์ให้บริการในภูมิภาค การแบ่งปันข้อมูลเกี่ยวกับงานแสดงสินค้าในระดับระหว่างประเทศและระดับภูมิภาคของวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม ตลอดจน การจับคู่ทางธุรกิจและกิจกรรมการจัดซื้อจัดจ้างในแต่ละประเทศสมาชิก เรายินดีที่ได้มีการเสนอให้จัดตั้ง
สภาของวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมเพื่อส่งเสริมความสามารถในการแข่งขันและความยั่งยืนของวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมต่อไป
ประชาคมสังคมและวัฒนธรรมอาเซียน
42. เราเน้นความสำคัญของการส่งเสริมความเข้าใจอันดียิ่งขึ้นระหว่างประชาชนอาเซียน โดยเฉพาะรากฐานทางอารธรรมและมรดกทางประวัติศาสตร์ที่มีร่วมกันซึ่งจะเป็นพื้นฐานในการจัดทำโครงการระดับภูมิภาคร่วมกัน รวมทั้งการกำหนดทิศทางและแนวคิดยุทธศาสตร์ในการสร้างประชาคมสังคมและวัฒนธรรมอาเซียน เราเน้นย้ำความสำคัญที่จะนำอาเซียนไปสู่ประชาชนและตกลงที่จะใช้สื่อต่างๆ เพื่อสร้างอนาคตและอัตลักษณ์ร่วมกันของประชาชน ในบริบทนี้ เราสนับสนุนให้ประเทศสมาชิกอาเซียนจัดกิจกรรมแลกเปลี่ยนทางสังคมและวัฒนธรรม เช่น งานเฉลิมฉลองต่างๆ การจัดพิมพ์หนังสือเพื่อเสริมสร้าง ความเข้าใจระหว่างประชาชน และการแปลหนังสือและวรรณกรรมเป็นภาษาต่างๆ ของประเทศสมาชิกอาเซียน
43. เราสนับสนุนการใช้ภาษาอังกฤษเป็นภาษาราชการ ตลอดจนการพัฒนาหลักสูตรการศึกษาอาเซียนและการดำเนินกิจกรรมเพื่อสร้างความตระหนักเกี่ยวกับอาเซียนอย่างสม่ำเสมอ
44. เราตระหนักถึงความสำคัญและความก้าวหน้าที่เกิดขึ้นในการส่งเสริมและคุ้มครองสตรีและเด็กในอาเซียนซึ่งจะสนับสนุนการทำงานของคณะกรรมาธิการระหว่างรัฐบาลอาเซียนว่าด้วยสิทธิมนุษยชน ดังนั้น เราแสดงความยินดีกับการรับรองเอกสารขอบเขตอำนาจหน้าที่ของคณะกรรมาธิการอาเซียนว่าด้วยการส่งเสริมและคุ้มครองสิทธิสตรีและเด็กโดยที่ประชุมรัฐมนตรีอาเซียนด้านสวัสดิการสังคมและการพัฒนา รวมทั้งได้มอบหมายให้รัฐมนตรีและเจ้าหน้าที่อาวุโสที่เกี่ยวข้องดำเนินการจัดตั้งและเริ่มการปฏิบัติงานของคณะกรรมาธิการฯ ภายในการประชุมสุดยอดอาเซียนครั้งที่ 16 ที่เวียดนาม
วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี
45. เราตระหนักถึงความสำคัญของวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีในการนำไปสู่ความสำเร็จในการพัฒนาทางเศรษฐกิจและสังคมที่ยั่งยืน เราแสดงความมุ่งประสงค์ร่วมกันที่จะพัฒนาไปสู่ภาคเศรษฐกิจที่สร้างสรรค์และสังคมแห่งความรู้ผ่านการส่งเสริมความร่วมมือด้านการวิจัยและการพัฒนา การรวมศูนย์บุคลากรที่มีความสามารถทางเทคโนโลยีและการสร้างเครือข่ายของสถาบันทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีและ ศูนย์วิชาการ
ประเด็นในภูมิภาคและระหว่างประเทศ
พม่า
46. เราเน้นย้ำความสำคัญของการบรรลุการปรองดองแห่งชาติและความสำคัญของการเลือกตั้งทั่วไป ที่จะจัดขึ้นในพม่าในปี 2553 ให้มีความยุติธรรม เสรี ทุกพรรคการเมืองที่เกี่ยวข้องได้มีส่วนร่วม ตลอดจนมีความโปร่งใสและน่าเชื่อถือในสายตาของประชาคมระหว่างประเทศ
สถานการณ์ในคาบสมุทรเกาหลี
47. เราเรียกร้องให้สาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนเกาหลีปฏิบัติตามพันธกรณีภายใต้ข้อมติคณะมนตรีความมั่นคงแห่งสหประชาชาติที่เกี่ยวข้องอย่างครบถ้วน เราเรียกร้องให้ภาคีที่เกี่ยวข้องกลับสู่กระบวนการเจรจา 6 ฝ่ายโดยเร็วที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้และดำเนินการตามพันธกรณีที่ได้ให้ไว้ในรอบการเจรจาที่ผ่านมาของการเจรจาหกฝ่ายซึ่งยังคงเป็นกลไกหลักในการนำมาซึ่งสันติภาพและเสถียรภาพในคาบสมุทรเกาหลี
โครงสร้างในภูมิภาค -- ประชาคมเอเชียตะวันออก
48. เรายินดีที่การจัดทำความตกลงเขตการค้าเสรีอาเซียนและความตกลงหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจอย่างครอบคลุมได้ดำเนินไปจนแล้วเสร็จกับคู่เจรจา 6 ประเทศในปีนี้ (ออสเตรเลีย จีน อินเดีย ญี่ปุ่น นิวซีแลนด์และสาธารณรัฐเกาหลี) ซึ่งควรช่วยส่งเสริมการขยายการค้าและการกระแสการลงทุนภายในภูมิภาคเราเห็นชอบกับข้อเสนอแนะจากการศึกษาการจัดทำความตกลงการค้าเสรีเอเชียตะวันออกและความตกลงหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจอย่างเต็มรูปแบบในเอเชียตะวันออก รวมทั้งได้จัดตั้งคณะทำงาน 4 กลุ่มว่าด้วยกฎแหล่งกำเนิด พิกัดอัตราภาษีศุลกากร ประเด็นด้านศุลกากร และความร่วมมือทางเศรษฐกิจ เพื่อดำเนินการไปสู่การบูรณาการในเอเชียตะวันออก เรามุ่งหวังที่จะหารือกับประเทศคู่เจรจาเกี่ยวกับทิศทางของโครงสร้างในภูมิภาคในอนาคตซึ่งจะมีประชาคมอาเซียนเป็นแกนกลาง
การประชุมทบทวนสนธิสัญญาว่าด้วยการไม่แพร่ขยายอาวุธนิวเคลียร์
49. เราตระหนักว่าสนธิสัญญาว่าด้วยการไม่แพร่ขยายอาวุธนิวเคลียร์เป็นกลไกหลักที่จะควบคุมและ ลดภัยคุกคามจากอาวุธที่มีอานุภาพทำลายล้างสูง ในการนี้ เรายินดีกับการเป็นประธานของฟิลิปปินส์ในการประชุมทบทวนสนธิสัญญาว่าด้วยการไม่แพร่ขยายอาวุธนิวเคลียร์ ในเดือนพฤษภาคม 2553 โดยได้ ตกลงที่จะทำงานร่วมกันเพื่อบรรลุผลสำเร็จของการประชุมในทั้ง 3 เสา ได้แก่ การปลดอาวุธนิวเคลียร์ การไม่แพร่ขยายอาวุธนิวเคลียร์ และการใช้พลังงานนิวเคลียร์ในทางสันติ เราสนับสนุนให้รัฐสมาชิกอาเซียน แต่ละประเทศร่วมลงนามหรือเข้าเป็นภาคีของสนธิสัญญาว่าด้วยการห้ามทดลองอาวุธนิวเคลียร์โดยสมบูรณ์ก่อนการประชุมทบทวนสนธิสัญญาว่าด้วยการไม่แพร่ขยายอาวุธนิวเคลียร์ ในปี 2553
ความสัมพันธ์ภายนอกของอาเซียน
50. เรายินดีกับการมีปฏิสัมพันธ์ระหว่างคณะกรรมการผู้แทนถาวรประจำอาเซียนกับเอกอัครราชทูตประจำอาเซียนของรัฐที่ไม่ใช่สมาชิกอาเซียนในกรุงจาการ์ตาซึ่งจะเป็นกลไกสำคัญในการเสริมสร้างความสัมพันธ์และความร่วมมือระหว่างอาเซียนกับภาคีภายนอก
51. เรายินดีกับการลงนามความตกลงการลงทุนระหว่างอาเซียน-จีน เมื่อวันที่ 15 สิงหาคม 2552 ซึ่งทำให้กรอบความตกลงเขตการค้าเสรีอาเซียน-จีนฉบับครอบคลุมเสร็จสมบูรณ์ เรายินดีรับทราบความก้าวหน้าในการปฏิบัติตามความตกลงการค้าสินค้าอาเซียน-จีน และมุ่งหวังให้เขตการค้าเสรี อาเซียน-จีนเกิดขึ้นในวันที่ 1 มกราคม 2553 เมื่อ 6 ประเทศในอาเซียนและจีนยกเลิกภาษีศุลกากรสำหรับสินค้าภายใต้รายการปกติ ทั้งนี้ จีนเป็นหุ้นส่วนการค้าของอาเซียนที่ใหญ่ที่สุดเป็นอันดับ 3 ในปี 2552
52. เรามุ่งหวังที่จะลงนามบันทึกความเข้าใจ 3 ฉบับระหว่างอาเซียนและจีนต่อไปในวันที่ 25 ตุลาคม 2552 ได้แก่ บันทึกความเข้าใจเพื่อจัดตั้งศูนย์อาเซียน -จีน บันทึกความเข้าใจว่าด้วยความร่วมมือในสาขาทรัพย์สินทางปัญญา และบันทึกความเข้าใจด้านความร่วมมือทางด้านมาตรฐาน กฎระเบียบทางเทคนิค และการตรวจสอบและรับรอง บันทึกความเข้าใจเหล่านี้จะส่งเสริมการค้า การลงทุน การท่องเที่ยว วัฒนธรรม และการแลกเปลี่ยนระหว่างประชาชน ตลอดจนความร่วมมือด้านทรัพย์สินทางปัญญา มาตรฐาน กฎระเบียบทางเทคนิค และการตรวจสอบและรับรองสำหรับสินค้าส่งออกและนำเข้าระหว่างอาเซียนและจีนเพื่อให้ประชาชนได้รับประโยชน์และความปลอดภัย
53. เรายินดีกับรายงานของคณะผู้ทรงคุณวุฒิอาเซียน-ญี่ปุ่นซึ่งรวมถึงข้อเสนอแนะให้ขยายความเป็นหุ้นส่วนทางยุทธศาสตร์มากยิ่งขึ้น เราสนับสนุนการติดต่อระหว่างประชาชนสู่ประชาชน โดยเฉพาะกลุ่มคนรุ่นใหม่ โดยการขยายเครือข่ายญี่ปุ่น-เอเชียตะวันออกสำหรับโครงการแลกแปลี่ยนนักเรียนและเยาวชนสำหรับเยาวชนอาเซียน เรายินดีกับข้อคิดริเริ่มของนายกรัฐมนตรีโฮโตยามาที่จะให้ความช่วยเหลือกับประเทศกำลังพัฒนาในการลดความเสียหายและการปรับตัวต่อการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศ และกรอบความร่วมมือญี่ปุ่น-แม่โขงเพื่อช่วยลดช่องว่างการพัฒนาในอาเซียน
54. เรายินดีกับการลงนามความตกลงว่าด้วยการลงทุนระหว่างอาเซียนกับสาธารณรัฐเกาหลี เมื่อวันที่ 2 มิถุนายน 2552 และการมีผลบังคับใช้ของความตกลงดังกล่าวเมื่อเดือนกันยายน 2552 เรายินดีที่ได้ รับทราบว่า โดยการลงนามความตกลงว่าด้วยการลงทุนฉบับนี้ เราได้บรรลุข้อผูกพันภายใต้กรอบความตกลงว่าด้วยความร่วมมือทางเศรษฐกิจอย่างรอบด้านระหว่างอาเซียนและเกาหลีที่ลงนามเมื่อปี 2548 เรายินดีที่ได้รับทราบว่า เขตการค้าเสรีอาเซียน-เกาหลีจะเกิดขึ้นในวันที่ 1 มกราคม 2553 เมื่ออาเซียน 6 ประเทศและเกาหลีดำเนินการตามข้อผูกพันในการลดภาษีศุลกากรสำหรับสินค้าในรายการปกติ เรารับทราบอัตราการขยายตัวทางการค้าระหว่างอาเซียนและเกาหลีที่น่าชื่นชม โดยในปี 2551 การค้าระหว่างอาเซียนและเกาหลีขยายตัวร้อยละ 23.4 เมื่อเทียบกับการขยายตัวที่ร้อยละ 9.5 ในปี 2550 ทั้งนี้ ปัจจุบันอาเซียนเป็นคู่ค้าที่ใหญ่ที่สุดอันดับ 3 ของเกาหลี และเกาหลีเป็นคู่ค้าที่ใหญ่ที่สุดอันดับ 5 ของอาเซียน
55. เรายินดีกับการลงนามความตกลงการค้าสินค้าอาเซียน-อินเดีย เมื่อวันที่ 13 สิงหาคม 2552 ซึ่งคาดหวังว่าความตกลงดังกล่าวจะสร้างเขตการค้าเสรี อันประกอบด้วย ประชากรจำนวน 1,700 ล้านคน และมีผลผลิตมวลรวมประชาชาติโดยรวม 2.75 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ เมื่อปี 2551 เรามอบหมายให้เจ้าหน้าที่อาวุโสใช้ความพยายามอย่างสูงสุดที่จะสรุปการเจรจาด้านการค้าบริการและการลงทุนเพื่อให้บรรลุกรอบความตกลงว่าด้วยความร่วมมือทางเศรษฐกิจอย่างรอบด้านระหว่างอาเซียนและอินเดีย ซึ่งได้ลงนามเมื่อปี2546 เราสนับสนุนการจัดตั้งสภาธุรกิจอาเซียน - อินเดียโดยเร็วเพื่อเสริมสร้างเครือข่ายและขยายโอกาสทางธุรกิจ
56. เรายินดีอย่างยิ่งกับข้อตัดสินใจของสหรัฐอเมริกาและอาเซียนที่ให้จัดการประชุมสุดยอดอาเซียน-สหรัฐฯ ในวันที่ 15 พฤศจิกายน 2552 ที่สิงคโปร์ ซึ่งจะเป็นก้าวสำคัญทางประวัติศาสตร์ในความสัมพันธ์ คู่เจรจาระหว่างอาเซียนและสหรัฐฯ และความเป็นหุ้นส่วนสำคัญระหว่างอาเซียนและสหรัฐฯ เราเห็นว่าการประชุมสุดยอดครั้งนี้เป็นการสะท้อนอีกครั้งถึงเจตนารมณ์อันแน่วแน่ของรัฐบาลสหรัฐฯ ที่จะขยายและกระชับความสัมพันธ์กับอาเซียน เรามุ่งหวังให้สหรัฐฯ ทำงานร่วมกับอาเซียนอย่างใกล้ชิด เพื่อพัฒนาความเชื่อมโยงในภูมิภาค รวมทั้งมีบทบาทนำในการสร้างโครงสร้างกรอบความร่วมมือภูมิภาคในเอเชีย-แปซิฟิก
เรื่องอื่นๆ
57. เรารับทราบข้อเสนอของเวียดนามที่จะเป็นเจ้าภาพการประชุมสุดยอดอาเซียน ครั้งที่ 16 ในเดือนเมษายน 2553 และการประชุมสุดยอดอาเซียน ครั้งที่ 17 และการประชุมที่เกี่ยวข้อง ที่กรุงฮานอย ในเดือนตุลาคม 2553
กองการสื่อมวลชน กรมสารนิเทศ กระทรวงการต่างประเทศ โทร. 643-5170 โทรสาร. 643-5169 E-mail : div0704@mfa.go.th--จบ--