คำแถลงร่วมว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศต่อการประชุมรัฐภาคีอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศสมัยที่ 15

ข่าวต่างประเทศ Monday October 26, 2009 14:40 —กระทรวงการต่างประเทศ

คำแถลงร่วมว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศต่อการประชุมรัฐภาคีอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศสมัยที่ 15 (COP 15) และการประชุมรัฐภาคีพิธีสารเกียวโต สมัยที่ 5 (CMP 5)

เรา ในฐานะผู้นำประเทศ/รัฐบาลของ บรูไนดารุสซาลาม ราชอาณาจักรกัมพูชา สาธารณรัฐอินโดนีเซีย สาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว มาเลเซีย สหภาพเมียนมาร์ สาธารณรัฐฟิลิปปินส์ สาธารณรัฐสิงคโปร์ ราชอาณาจักรไทย และ สาธารณรัฐสังคมนิยมเวียดนาม ซึ่งเป็นประเทศสมาชิกของอาเซียน ในโอกาสการประชุมสุดยอดอาเซียน สมัยที่ 15

บันทึก การประชุมรัฐภาคีอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ สมัยที่ 15 (COP 15) และการประชุมรัฐภาคีพิธีสารเกียวโต สมัยที่ 5 (CMP 5) ณ กรุงโคเปนเฮเกน ระหว่างวันที่ 7-18 ธันวาคม 2552

อ้างถึง ปฏิญญาชะอำ หัวหิน ว่าด้วยแผนงานสำหรับประชาคมอาเซียน ระหว่างปี พ.ศ. 2552 — 2558 และปฏิญญาอาเซียนว่าด้วยการประชุมรัฐภาคีอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ สมัยที่ 13 และการประชุมรัฐภาคีพิธีสารเกียวโต สมัยที่ 3 (2007)

อ้างถึง มติที่ 1 ของ COP13 (1/CP.13) ของการประชุมรัฐภาคีอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (แผนปฏิบัติการบาหลี) ได้แสดงเจตจำนงค์ที่จะใช้กระบวนการที่ชัดเจน เพื่อให้เกิดความสมบูรณ์ มีประสิทธิภาพและยั่งยืนของการดำเนินงานภายใต้อนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ โดยผ่านทางความร่วมมือระยะยาวในปัจจุบัน จนถึงและหลังจากปี พ.ศ. 2555 (2012)

ยืนยันว่า ประเทศภาคีควรปกป้องระบบสภาพภูมิอากาศ เพื่อประโยชน์ของมนุษยชาติในปัจจุบันและลูกหลานในอนาคต บนพื้นฐานของความยุติธรรมและหลักการความรับผิดชอบในระดับที่แตกต่างและระดับของขีดความสามารถ

ยืนยันต่อไปว่า อนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ และพิธีสารเกียวโตควรเป็นกรอบและเครื่องมือทางกฏหมาย สำหรับประชาคมโลกในการต่อสู้กับการเปลี่ยนแปลงสภาพอากาศ

อ้างถึงต่อไปว่า มาตรา 4.2 ของอนุสัญญาฯ ประเทศพัฒนาแล้วมีพันธกรณีที่จะต้องเป็นผู้นำในการแก้ปัญหาระยะยาวของการปล่อยก๊าซเรือนกระจกที่เกิดจากการกระทำของมนุษย์ เพื่อให้บรรลุวัตถุประสงค์ของอนุสัญญาฯ

ยอมรับ ข้อมูลทางวิทยาศาสตร์ในรายงานการประเมินสถานการณ์ฉบับที่ 4 ของคณะกรรมการระหว่างรัฐบาลว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (IPCC) ซึ่งเน้นถึงผลกระทบที่รุนแรงจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ โดยเฉพาะผลกระทบที่เกิดขึ้นในประเทศกำลังพัฒนา

ยอมรับ การเพิ่มจำนวนประชาการที่สูงขึ้นและแนวโน้มการขยายตัวของเมืองในภูมิภาคอาเซียน ซึ่งเพิ่มแรงกดดันต่อทรัยากรธรรมชาติ และต่อประชากรที่อาศัยอยู่ในเมืองต่างๆ โดยเฉพาะในพื้นที่ที่มีความล่อแหลมต่อผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ

ยึดถือ ความจำเป็นที่จะบรรลุถึงผลสรุปในระดับโลกขของการแก้ไขปัญหาจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศจากการประชุม COP15 ที่โคเปนเฮเกน

ดังนั้นจึงขอประกาศว่า

1. ยืนยัน ความชอบธรรมของเราในการพัฒนาอย่างยั่งยืน และการแก้ปัญหาเพื่อให้บรรลุวัตถุประสงค์สูงสุดของอนุสัญญาฯ โดยมีจุดมุ่งหมายที่จะให้ความเข้มข้นของก๊าซเรือนกระจกในชั้นบรรยากาศคงที่ ในระดับที่สามารถป้องกันอันตรายต่อสภาพภูมิอากาศจากการกระทำของมนุษย์ และในกรอบเวลาที่เพียงพอที่ระบบนิเวศจะฟื้นตัวได้ตามธรรมชาติ และแน่ใจได้ว่าการผลิตอาหารจะไม่ถูกคุกคาม และสามารถพัฒนาเศรษฐกิจได้อย่างยั่งยืน

2. ทำงาน อย่างใกล้ชิดเพื่อให้แน่ใจว่าผลของการตกลงจากการประชุม COP15 ควรสอดคล้องกับความร่วมมือระยะยาวเพื่อแก้ไขปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ บนหลักการของอนุสัญญาฯ และแผนปฏิบัติการบาหลี โดยเฉพาะการปรับตัวต่อผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ การสนับสนุนทางการเงิน การถ่ายทอดเทคโนโลยี และการพัฒนาศักยภาพ โดยพิจารณาจากศักยภาพของแต่ละประเทศ

3. กระตุ้น ประเทศพัฒนาแล้วที่อยู่ในภาคผนวกที่ 1 ของอนุสัญญาฯ ดำเนินการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก ภายใต้ความรับผิดชอบจากอดีตที่ผ่านมา ความเข้มแข็งและศักยภาพทางเศรษฐกิจ

4. ยืนยัน ควรมีการถ่ายทอดเทคโนโลยี การสนับสนุนทางการเงินและการพัฒนาศักยภาพเพื่อสนับสนุนการปรับตัวต่อผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ และการลดก๊าซเรือนกระจกที่เหมาะสมของประเทศกำลังพัฒนา โดยใช้กลไกที่มีประสิทธิภาพและการจัดการองค์การรูปแบบใหม่

5. กระตุ้น เพื่อให้แน่ใจว่านโยบายและมาตรการฝ่ายเดียว รวมทั้งกลไกทางการตลาดของประเทศพัฒนาแล้วที่อยู่ในภาคผนวกที่ 1 ของอนุสัญญาฯ ที่เกี่ยวข้องกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ต้องไม่ก่อให้เกิดผลกระทบทางลบต่อการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมอย่างยั่งยืนของประเทศกำลังพัฒนา

6. สนับสนุน ความพยายามให้เกิดความเข้าใจ และการดำเนินการอย่างมีประสิทธิภาพด้านการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกของประเทศกำลังพัฒนา จากการตัดไม้ทำลายป่าและความเสื่อมโทรมของป่า โดยเพิ่มมุมมองของการส่งเสริมการอนุรักษ์ความหลากหลายทางชีวภาพและการใช้ทรัพยากรธรรมชาติอย่างยั่งยืน รวมทั้งสนับสนุนความเป็นอยู่ของชุมชนท้องถิ่นอย่างยั่งยืน

7. กระตุ้น ประเทศภาคีทั้งหมดให้เห็นถึงความสำคัญของการจัดการชายฝั่งและมหาสมุทร เพื่อเตรียมการและสามารถปรับตัวต่อผลการทบจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ จากผลของข้อตกลงจากการประชุม COP15 และจากปฏิญญา Manado Ocean จากการประชุม the World Ocean Conference 2009

8. สัญญา ร่วมมือกันเพื่อให้การประชุมรัฐภาคีอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ สมัยที่ 15 และการประชุมรัฐภาคีพิธีสารเกียวโต สมัยที่ 5 ประสบผลสำเร็จ

จัดทำโดยประเทศไทย วันที่ 13 ตุลาคม 2552

กองการสื่อมวลชน กรมสารนิเทศ กระทรวงการต่างประเทศ โทร. 643-5170 โทรสาร. 643-5169 E-mail : div0704@mfa.go.th--จบ--

-พห-

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ