สาระสำคัญของการประชุมสุดยอดอาเซียน ครั้งที่ 15

ข่าวต่างประเทศ Monday October 26, 2009 15:04 —กระทรวงการต่างประเทศ

เมื่อวันที่ 24 ตุลาคม 2552 เวลา 09.30 น. นายวิทวัส ศรีวิหค อธิบดีกรมอาเซียน แถลงข่าวเกี่ยวกับกำหนดการประชุมที่จะมีขึ้นในวันนี้ (24 ตุลาคม)

อธิบดีกรมอาเซียน กล่าวว่า การประชุมหลักๆ ที่จะเกิดขึ้นในวันนี้ ได้แก่ การประชุมระหว่างอาเซียนกับประเทศคู่เจรจา อาทิ การประชุมสุดยอดระหว่างอาเซียนกับจีน กับญี่ปุ่น กับเกาหลีใต้ และกับทั้งสามประเทศพร้อมกันในกรอบการประชุมอาเซียน + 3 จากนั้น ในช่วงบ่าย จะเป็นการประชุมสุดยอดอาเซียนกับอินเดีย

ประเด็นหลักที่คาดว่า ที่ประชุมต่างๆ ข้างต้น จะหยิบยกขึ้นหารือกัน ได้แก่ การเสริมสร้างความเชื่อมโยงในภูมิภาคทั้งในด้านกายภาพ อาทิ การสร้างเครือข่ายการคมนาคม ซึ่งจีนได้ประกาศให้เงินทุนกว่า 1 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐ สำหรับการพัฒนาโครงสร้างขั้นพื้นฐาน และที่มิใช่กายภาพ อาทิ การส่งเสริมให้มีการแลกเปลี่ยนในระดับประชาชน และการส่งเสริมความรู้ความเข้าใจซึ่งกันและกันผ่านการเสริมสร้างความร่วมมือด้านการศึกษา และการแก้ไขปัญหาในระดับโลกที่ส่งผลกระทบต่อภูมิภาค เช่น การแก้ไขปัญหาวิกฤตการเงินและเศรษฐกิจโลก การส่งเสริมความร่วมมือทางการเงินในกรอบมาตรการริเริ่มเชียงใหม่ การสร้างความมั่นคงด้านอาหารและพลังงาน และความร่วมมือด้านสาธารณสุขเพื่อป้องกันโรคระบาด

จากนั้น ดร. ปณิธาน วัฒนายากร รองเลขาธิการนายกรัฐมนตรี และรักษาการโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี แถลงข่าวต่อสื่อมวลชนเกี่ยวกับผลการหารือทวิภาคีไทย — ญี่ปุ่น และประเด็นสำคัญที่ผู้นำได้หารือกันในการพบกันในช่วงเช้าของวันนี้ (24 ตุลาคม) ในกรอบการประชุมอย่างไม่เป็นทางการ (ASEAN Summit Retreat)

รักษาการโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า ในช่วงเช้าของวันนี้ ผู้นำอาเซียน ได้หารือเกี่ยวกับการหามาตรการใหม่ๆ เพื่อเสริมสร้างการดำเนินการของอาเซียนให้มีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น รวมถึงการเสริมสร้างศักยภาพของอาเซียนในการจัดการกับปัญหาท้าทายต่างๆ อาทิ การส่งเสริมบทบาทของอาเซียนในการประชุมกลุ่ม G 20 (การประชุมของกลุ่มประเทศที่มีบทบาทนำทางเศรษฐกิจของโลก 20 ประเทศ) การปรับปรุงรูปแบบการประชุมอาเซียนและการประชุมกับภาคประชาสังคมให้มีความเหมาะสมมากยิ่งขึ้น และการพัฒนาระบบการเตือนภัยพิบัติ เป็นต้น

(รายละเอียดเพิ่มเติมเกี่ยวกับประเด็นสำคัญของการหารือของผู้นำอาเซียนในกรอบการประชุม ASEAN Summit Retreat ปรากฏตามเอกสารแนบ)

************

สรุปประเด็นสำคัญของการหารือของผู้นำอาเซียนในช่วงเช้าของวันที่ 24 ตุลาคม 2552

  • ภายหลังการให้การรับรองเอกสารต่างๆ ตามที่ที่ประชุมคณะมนตรีประสานงานอาเซียนเสนอ ผู้นำอาเซียนได้แลกเปลี่ยนข้อคิดเห็นกันในประเด็นปัญหาต่างๆ ที่อาเซียนกำลังเผชิญอยู่ เช่น การเชื่อมโยงเครือข่ายการติดต่อสื่อสารและคมนาคม การรับมือกับปัญหาภัยพิบัติทางธรรมชาติ การแก้ไขปัญหาโลกร้อน/การเปลี่ยนแปลงทางสภาพภูมิอากาศ การแก้ไขปัญหาวิกฤตทางการเงินและวิกฤตเศรษฐกิจโลก และการสร้างความมั่นคงทางอาหารและพลังงาน.
  • ในเรื่องการสร้างความเชื่อมโยงภายในภูมิภาค ผู้นำประเทศสมาชิกย้ำถึงความมุ่งมั่นของแต่ละประเทศในการสนับสนุนให้อาเซียนเป็นภูมิภาคที่มีการเชื่อมโยงกันอย่างแท้จริง ทั้งในเรื่องของการสร้างระบบการคมนาคมขนส่ง ไม่ว่าจะเป็นถนน ทางรถไฟ การเดินทางทางทะเลและทางอากาศ การค้า และเทคโนโลยีสารสนเทศ และในเรื่องของการสร้างความเชื่อมโยงด้านจิตวิญญาณของประชาชนในประเทศสมาชิกอาเซียน โดยผู้นำอาเซียนตระหนักว่า การส่งเสริมให้เกิดการเชื่อมโยงที่มากขึ้นในภูมิภาค ไม่เพียงแต่จะเป็นผลดีต่อการเจริญเติบโตและการเพิ่มโอกาสทางเศรษฐกิจ รวมถึงเป็นประโยชน์ต่อกระบวนการรวมตัวกันเป็นประชาคมของอาเซียนซึ่งประชาชนเป็นผู้ได้รับประโยชน์เท่านั้น หากแต่ยังจะส่งผลให้อาเซียนสามารถเป็นหุ้นส่วนที่มีประสิทธิภาพสำหรับประเทศในเอเชียตะวันออกและเอเชียใต้ อันถือเป็นการส่งเสริมความเป็นศูนย์กลางของอาเซียน (ASEAN centrality) ในกระบวนการพัฒนาโครงสร้างทางความสัมพันธ์ระหว่างประเทศของภูมิภาค (regional architecture)
  • ในส่วนของการเสริมสร้างความเชื่อมโยงทางกายภาพ (เครือข่ายการคมนาคมขนส่ง) ไทยแสดงความพร้อม ในการจัดให้มี “ศูนย์ทางหลวงอาเซียน” (ASEAN Highway Centre) และคาดหวังว่า อาเซียนจะพัฒนาเส้นทางรถไฟของอาเซียนให้เป็นระบบรางคู่ โดยการบรรจุประเด็นนี้เป็นเรื่องเร่งด่วนในแผนแม่บทด้านการเชื่อมโยงของอาเซียนที่จะได้รับการจัดทำขึ้นในอนาคต
  • ผู้นำอาเซียนย้ำถึงความสำคัญของการระดมเงินทุนเพื่อสนับสนุนการพัฒนาโครงการก่อสร้างระบบสาธารณูปโภค/โครงสร้างพื้นฐาน และได้มอบหมายให้รัฐมนตรีคลังของรัฐสมาชิกไปจัดทำข้อเสนอแนะในการจัดตั้ง “กองทุนอาเซียนว่าด้วยการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน” โดยเชื่อมโยงกับกองทุนต่างๆ ที่จีนและญี่ปุ่นได้ให้คำมั่นว่าจะเสนอให้จัดตั้งขึ้นในการประชุมสุดยอดผู้นำอาเซียนครั้งต่อไป (ที่เวียดนาม) นอกจากนี้ อาเซียนจะติดต่อกับประเทศคู่เจรจาอื่นๆ ของอาเซียน รวมถึงฝ่ายต่างๆ ที่อยู่ภายนอกอาเซียน เพื่อสนับสนุนให้เกิดการเชื่อมโยงด้านต่างๆ ภายในภูมิภาค และการมีเงินทุนสนับสนุนที่พอเพียง
  • ผู้นำอาเซียนได้มอบหมายให้สำนักเลขาธิการอาเซียนไปจัดตั้ง “คณะทำงานระดับสูงว่าด้วยการสร้างความเชื่อมโยงของอาเซียน” ทั้งนี้ โดยให้คณะทำงานฯ สามารถเริ่มปฏิบัติงานได้ในช่วงต้นปีหน้า (2553)
  • ในส่วนของการสนับสนุนให้พลเมืองภายในประเทศสมาชิกอาเซียนมีความเชื่อมโยงกันด้านจิตวิญญาณ ผู้นำอาเซียนได้หารือกันเกี่ยวกับข้อเสนอต่างๆ ที่จะสนับสนุนให้เยาวชนคนรุ่นใหม่ของภูมิภาคมีความรู้สึกร่วมกันถึงความเป็นอาเซียน (ASEAN spirit) อาทิ การดำเนินโครงการแลกเปลี่ยนต่างๆ เพื่อให้ผู้นำเยาวชนรุ่นใหม่ของประเทศสมาชิกรู้จักกันมากขึ้น และการจัดทำหลักสูตรการศึกษาของแต่ละประเทศที่จะช่วยเอื้อให้เยาวชนของแต่ละประเทศสมาชิกมีความเข้าใจในวัฒนธรรมที่แตกต่างกันของประเทศอื่นในภูมิภาคมากยิ่งขึ้น
  • ผู้นำอาเซียนแสดงความกังวลว่า ปัญหาโลกร้อน/การเปลี่ยนแปลงทางสภาพภูมิอากาศ ยังคงเป็นปัจจัยท้าทายที่มีนัยสำคัญ โดยผู้นำอาเซียนแสดงความพร้อมที่ประเทศสมาชิกอาเซียนจะทำงานร่วมกันและร่วมมือกับประเทศอื่นๆ ในการประชุม Copenhagen Summit (การประชุมผู้นำโลกเพื่อแก้ปัญหาสิ่งแวดล้อม ซึ่งจะมีขึ้นในเดือนธันวาคม ศกนี้) เพื่อให้การประชุมมีผลลัพธ์ที่เป็นประโยชน์และเป็นที่ยอมรับได้ของทั้งประเทศกำลังพัฒนาและประเทศพัฒนา และในการนี้ ผู้นำอาเซียนเห็นว่า แถลงการณ์ของอาเซียนว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงทางสภาพภูมิอากาศ (ASEAN Statement on Climate Change ซึ่งผู้นำได้ให้การรับรองในระหว่างการประชุมสุดยอดอาเซียนในครั้งนี้) จะเป็นพื้นฐานที่อาเซียนจะใช้ในการประชุม Copenhagen Summit
  • ในประเด็นเกี่ยวกับการรับมือกับภัยพิบัติทางธรรมชาติ ผู้นำประเทศสมาชิกอาเซียนย้ำถึงความสำคัญของการเสริมสร้างความร่วมมือซึ่งกันและกันเพื่อให้อาเซียนมีการเตรียมความพร้อมที่ดียิ่งขึ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งการมีระบบแจ้งเตือนภัยที่ดี การมีกลไกการการส่งเจ้าหน้าที่กู้ภัยที่ทันท่วงที และการให้ความช่วยเหลือแก่ประเทศต่างๆ ในการดำเนินการตามความตกลงของอาเซียนว่าด้วยการบริหารจัดการภัยพิบัติและการรับมือกับสถานการณ์ฉุกเฉิน (Agreement on Disaster Management and Emergency Response) ซึ่งกำลังจะมีผลบังคับใช้ในช่วงปลายปีนี้ (2552) โดยผู้นำอาเซียนได้รับทราบถึงความจำเป็นที่หน่วยงานด้านกลาโหมของรัฐสมาชิก ซึ่งมีศักยภาพและบุคลากรในการให้ความช่วยเหลือเมื่อเกิดภัยธรรมชาติ จะต้องมีส่วนร่วมในการรับมือกับปัญหาภัยพิบัติ และเห็นพ้องถึงความจำเป็นที่อาเซียนจะคงความร่วมมือกับประเทศอื่นๆ ภายนอกภูมิภาค รวมถึงองค์กรระหว่างประเทศต่างๆ รวมถึงการแลกเปลี่ยนประสบการณ์และข้อมูลข่าวสารเกี่ยวกับการบริหารจัดการภัยพิบัติ และการเพิ่มพูนทักษะของเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้อง นอกจากนี้ ที่ประชุมฯ ยังได้หารือกันเกี่ยวกับความจำเป็นของอาเซียนในการมีอาหารสำรอง (food reserve) เพื่อใช้ในกรณีฉุกเฉินด้วย
  • ผู้นำอาเซียนแสดงความคาดหวังเป็นอย่างยิ่งว่า กองทุนสำรองพหุภาคีภายใต้มาตรการริเริ่มเชียงใหม่ (Chiang Mai Initiative Multilateralization หรือ CMIM ซึ่งมีวัตถุประสงค์เพื่อเป็นแหล่งกู้ยืมของประเทศที่ประสบปัญหาสภาพคล่องจากการสำรองอัตราแลกเปลี่ยน) ซึ่งมีมูลค่า 120,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ จะเริ่มปฏิบัติงานได้ภายในปลายปีนี้ (2552) โดยการมีผลบังคับใช้ของกองทุนฯ จะช่วยฟื้นฟูความเชื่อมั่นและเสริมสร้างความสามารถของอาเซียนในการรับมือกับผลกระทบที่เกิดจากวิกฤตทางการเงินและเศรษฐกิจโลก นอกจากนี้ ไทยยังแสดงความพร้อมที่จะเป็นสถานที่ตั้งชั่วคราวของกลไกการติดตามความเคลื่อนไหวและแจ้งเตือนภัยทางเศรษฐกิจ (surveillance unit) ด้วย
  • ผู้นำอาเซียนเห็นพ้องว่า อาเซียนควรได้รับโอกาสต่อไปให้เข้าร่วมกลุ่ม G-20 (การประชุมของกลุ่มประเทศที่มีบทบาทนำทางเศรษฐกิจของโลก 20 ประเทศ) และว่า กระบวนการหารือระหว่างอาเซียนกับ G-20 ควรได้รับการทำให้เป็นกลไกถาวร ในการนี้ ผู้นำอาเซียนได้มอบหมายให้เจ้าหน้าที่ด้านการคลังของประเทศตนเองไปหารือกันเพื่อจัดทำท่าทีของอาเซียนในเรื่องนี้ รวมทั้งได้เห็นชอบให้จัดตั้งกลุ่มติดต่อสื่อสารของอาเซียน (contact group) โดยมีเวียดนาม ในฐานะประธานอาเซียนประเทศต่อไป อินโดนีเซีย ในฐานะสมาชิกของ G-20 และเลขาธิการอาเซียน เป็นสมาชิก เพื่อทำหน้าที่ประสานท่าทีของอาเซียนด้วย
  • ในเรื่องการสร้างความมั่นคงด้านพลังงาน ผู้นำอาเซียนเห็นถึงความจำเป็นที่อาเซียนจะต้องร่วมมือกันมากขึ้นในเรื่องนี้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านพลังงาน การเสริมสร้างการใช้พลังงานอย่างมีประสิทธิภาพ และการพัฒนาเทคโนโลยีการใช้พลังงานที่สามารถนำกลับมาใช้ใหม่ได้และพลังงานสะอาด
  • ในประเด็นเกี่ยวกับการไม่เผยแพร่ขยายอาวุธ ผู้นำอาเซียนให้คำมั่นว่า จะสนับสนุนให้การประชุมทบทวนการดำเนินการตามพันธกรณีของสนธิสัญญาการไม่แพร่ขยายอาวุธนิวเคลียร์ (Non-proliferation Treaty Review Conference) ที่จะมีขึ้นในปีหน้า (2553) โดยมีฟิลิปปินส์เป็นประธานการประชุม ประสบความสำเร็จ

กองการสื่อมวลชน กรมสารนิเทศ กระทรวงการต่างประเทศ โทร. 643-5170 โทรสาร. 643-5169 E-mail : div0704@mfa.go.th--จบ-- -พห-


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ