ผลการหารือของการประชุมสุดยอดอาเซียน-ญี่ปุ่น ครั้งที่ 12

ข่าวต่างประเทศ Monday October 26, 2009 15:35 —กระทรวงการต่างประเทศ

เมื่อวันที่ 24 ตุลาคม 2552 ผู้นำประเทศสมาชิกอาเซียนได้พบหารือกับนายยูกิโอะ ฮาโตยามา นายกรัฐมนตรีญี่ปุ่น ในระหว่างการประชุมสุดยอดอาเซียน-ญี่ปุ่น ครั้งที่ 12 ณ โรงแรมดุสิตธานี อ.ชะอำ จ.เพชรบุรี โดยที่ประชุมฯ ได้หารือกันเกี่ยวกับการเสริมสร้างความร่วมมือในด้านต่างๆ ที่ทั้งสองฝ่ายมีต่อกัน รวมถึงการหาแนวทางรับมือกับปัญหาความท้าทายต่างๆ ในระดับโลกที่ส่งผลกระทบถึงภูมิภาค สาระสำคัญของการหารือ สรุปได้ ดังนี้

  • ผู้นำอาเซียนและญี่ปุ่นแลกเปลี่ยนข้อคิดเห็นกันเกี่ยวกับการเสริมสร้างความร่วมมือของทั้งสองฝ่ายในสาขาต่างๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่งการค้า การลงทุน การลดช่องว่างของการพัฒนาของประเทศสมาชิกอาเซียน การรับมือกับปัญหาโลกร้อน/การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ การเสริมสร้างความมั่นคงด้านอาหารและพลังงาน รวมถึงการพัฒนาพลังงานสะอาดและการใช้พลังงานอย่างมีประสิทธิภาพ และการรับมือกับโรคระบาดต่างๆ อาทิ ไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ใหม่ A (H1N1)
  • นายกรัฐมนตรีญี่ปุ่นชี้ให้เห็นถึงความสำคัญของการพัฒนาให้เอเชียตะวันออกเป็นประชาคมเดียวกัน (East Asian community) และย้ำถึงความจริงจังของญี่ปุ่นในการสนับสนุนประเทศสมาชิกอาเซียนในกระบวนการรวมตัวเป็นประชาคมอาเซียน ขณะที่อาเซียนแสดงความยินดีกับการให้คำมั่นของญี่ปุ่นที่จะยกระดับความสัมพันธ์ระหว่างอาเซียนกับญี่ปุ่น และที่จะคงไว้ซึ่งการสนับสนุนของญี่ปุ่นในกระบวนการบูรณาการของประเทศสมาชิกอาเซียน
  • นายกรัฐมนตรีญี่ปุ่นแสดงความยินดีกับอาเซียนที่ได้จัดตั้งคณะกรรมาธิการระหว่างรัฐบาลอาเซียนว่าด้วยสิทธิมนุษยชน (ASEAN Inter-governmental Commission on Human Rights - AICHR) ขณะที่อาเซียนแสดงความหวังว่า ญี่ปุ่นจะให้การสนับสนุนการทำงานของ AICHR รวมถึงการพัฒนาศักยภาพของ AICHR
  • ผู้นำของทั้งสองฝ่ายแสดงความยินดีที่ความเป็นหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจอย่างรอบด้านของอาเซียนและญี่ปุ่น (ASEAN-Japan Comprehensive Economic Partnership) มีความคืบหน้าที่เป็นรูปธรรม และย้ำถึงความสำคัญของการสนับสนุนให้เกิดการใช้ประโยชน์อย่างเต็มที่จากความตกลงทางเศรษฐกิจระหว่างอาเซียนและญี่ปุ่นที่จัดทำขึ้นภายใต้กรอบความเป็นหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจอย่างรอบด้าน
  • นายกรัฐมนตรีญี่ปุ่นย้ำถึงความมุ่งมั่นของญี่ปุ่นในการสนับสนุนโครงการต่างๆ เพื่อช่วยลดช่องว่างทางการพัฒนาภายในประเทศสมาชิกอาเซียน โดยในการนี้ ญี่ปุ่นได้ประกาศว่า ในเดือนหน้า (พ.ย.) จะเป็นเจ้าภาพการประชุมระดับผู้นำระหว่างญี่ปุ่น-ประเทศอาเซียนที่ตั้งอยู่ในลุ่มแม่น้ำโขง (Japan-Mekong Summit) เพื่อส่งเสริมการพัฒนาในแถบแม่น้ำโขง ทั้งนี้ ในปัจจุบัน ญี่ปุ่นได้ให้การสนับสนุนทางการเงินสำนักเลขาธิการอาเซียน ในจำนวน 62 ล้านดอลลาร์สหรัฐ เพื่อเป็นค่าใช้จ่ายในการดำเนินโครงการให้ความช่วยเหลือท้องถิ่นและประชาชนที่ได้รับผลกระทบจากปัญหาวิกฤตเศรษฐกิจโลกแล้วด้วย
  • ผู้นำอาเซียนแสดงความหวังว่า ญี่ปุ่นจะให้การสนับสนุนการจัดทำแผนแม่บทของอาเซียนว่าด้วยการพัฒนาสาธารณูปโภคขั้นพื้นฐานและเครือข่ายคมนาคม
  • ผู้นำอาเซียนแสดงความขอบคุณญี่ปุ่นที่ได้ร่วมลงขันในกองทุนพหุภาคีภายใต้มาตรการริเริ่มเชียงใหม่ (Chiang Mai Initiative Multilateralization หรือ CMIM ซึ่งมีวัตถุประสงค์เพื่อเป็นแหล่งเงินทุนกู้ยืมสำหรับประเทศที่ประสบปัญหาสภาพคล่องจากการสำรองอัตราแลกเปลี่ยน) นอกจากนี้ อาเซียนได้แสดงความหวังว่า ญี่ปุ่นจะสนับสนุนให้อาเซียนได้เข้าร่วมในการประชุมกลุ่ม G-20 (กลุ่มประเทศที่มีบทบาทนำทางเศรษฐกิจของโลก 20 ประเทศ ซึ่งรวมถึงญี่ปุ่น)
  • ในประเด็นเกี่ยวกับการแก้ไขปัญหาโลกร้อน/การเปลี่ยนแปลงทางสภาพภูมิอากาศ ผู้นำอาเซียนแสดงความขอบคุณญี่ปุ่นที่ให้การสนับสนุนทางเทคนิคเกี่ยวกับการใช้เทคโนโลยีสารสนเทศเพื่อช่วยจัดการกับปัญหาสิ่งแวดล้อม และการรับมือกับปัญหาภัยพิบัติ รวมถึงความช่วยเหลือเกี่ยวกับการพัฒนาทรัพยากรบุคคล ในการนี้ ผู้นำของอาเซียนและญี่ปุ่น เห็นพ้องถึงความจำเป็นที่จะสนับสนุนให้การประชุม Copenhagen Summit (การประชุมผู้นำโลกเพื่อแก้ไขปัญหาสิ่งแวดล้อม ซึ่งจะมีขึ้นในเดือน ธ.ค. ศกนี้) ประสบความสำเร็จ
  • ที่ประชุมฯ แสดงความเห็นว่า การดำเนินงานของศูนย์อาเซียน-ญี่ปุ่น (ตั้งอยู่ที่กรุงโตเกียว - มีวัตถุประสงค์เพื่อให้ความรู้และจัดกิจกรรมเพื่อส่งเสริมการค้า การลงทุนและการท่องเที่ยวระหว่างทั้งสองฝ่าย) ควรได้รับการเสริมสร้างให้มีบทบาทที่เข้มแข็งมากยิ่งขึ้น และแสดงความหวังว่า อาเซียนและญี่ปุ่นจะใช้ประโยชน์อย่างเต็มที่จากศูนย์นี้
  • เพื่อเป็นการเสริมสร้างความร่วมมือในภูมิภาค ผู้นำอาเซียนและญี่ปุ่นเห็นพ้องกันถึงความสำคัญของการส่งเสริมความไว้เนื้อเชื่อใจซึ่งกันและกันและความผูกพันระหว่างประชาชน อาทิ การดำเนินการแลกเปลี่ยนในระดับเยาวชน ซึ่งในปัจจุบัน ญี่ปุ่นได้ให้การสนับสนุนในโครงการแลกเปลี่ยนเยาวชนระหว่างอาเซียนกับญี่ปุ่น โดยในแต่ละปีมีเยาวชนอาเซียนกว่า 6000 คนที่เข้าร่วมในโครงการแลกเปลี่ยนนี้ รวมถึงการแลกเปลี่ยนนักศึกษามหาวิทยาลัย ซึ่งที่ประชุมฯ แสดงความหวังที่จะเห็นโครงการแลกเปลี่ยนนี้ขยายตัวมากยิ่งขึ้น

กองการสื่อมวลชน กรมสารนิเทศ กระทรวงการต่างประเทศ โทร. 643-5170 โทรสาร. 643-5169 E-mail : div0704@mfa.go.th--จบ--

-พห-

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ