สรุปสาระสำคัญของผลการประชุมสุดยอดอาเซียน + 3 ครั้งที่ 12

ข่าวต่างประเทศ Monday October 26, 2009 15:42 —กระทรวงการต่างประเทศ

เมื่อวันที่ 24 ตุลาคม 2552 นายกษิต ภิรมย์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศได้แถลงข่าว ในนามของนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี ในฐานะประธานอาเซียน เกี่ยวกับผลการหารือของที่ประชุมสุดยอดอาเซียน + 3 ที่มีขึ้นในช่วงบ่ายของวันนี้ (24 ตุลาคม) สาระสำคัญสรุปได้ ดังนี้

  • ที่ประชุมฯ หารือกันเกี่ยวกับแนวทางการเสริมสร้างความร่วมมือของอาเซียน +3 โดยเฉพาะอย่างยิ่งในประเด็นท้าทายต่างๆ ที่ภูมิภาคกำลังเผชิญอยู่ ไม่ว่าจะเป็นวิกฤตการเงินและเศรษฐกิจโลก การแพร่ขยายอย่างรวดเร็วของโรคระบาด โดยเฉพาะไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ใหม่ A/H1N1 การสร้างความมั่นคงด้านพลังงานและอาหาร ปัญหาโลกร้อน ความรุนแรงของภัยธรรมชาติ และการส่งเสริมการศึกษา นอกจากนี้ ที่ประชุมฯ ยังได้หารือกันเกี่ยวกับ การส่งเสริมการท่องเที่ยวและบทบาทของภาคเอกชน และเห็นพ้องกันว่า การส่งเสริมความร่วมมือในเรื่องเหล่านี้ ควรเป็นไปอย่างมีรูปธรรม
  • ผู้นำของประเทศอาเซียน + 3 เห็นพ้องถึงความจำเป็นในการคงไว้ซึ่งแรงขับเคลื่อน (momentum) ของการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจ อาทิ การใช้มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจภายในที่แต่ละประเทศดำเนินการ การส่งเสริมความร่วมมือระหว่างประเทศอาเซียน +3 ในเรื่องการกระตุ้นเศรษฐกิจ รวมถึงการต่อต้านการกีดกันทางการค้า นอกจากนี้ ที่ประชุมฯ ได้พิจารณาหาแนวทางการขยายมูลค่าการค้าการลงทุนภายในเอเชียตะวันออก และเห็นว่า ประเทศอาเซียน +3 ควรใช้ประโยชน์ให้เต็มที่จากความตกลงทางการค้าต่างๆ ที่มีอยู่ในภูมิภาค ไม่ว่าจะเป็นความตกลงในระดับทวิภาคีหรือพหุภาคี รวมถึงความจำเป็นในการปรับปรุงวิธีการศุลกากรเพื่อให้เอื้อต่อการค้าการลงทุนมากยิ่งขึ้น และการให้การความสำคัญแก่ผู้ประกอบการรายย่อย
  • ในประเด็นเกี่ยวกับการเสริมสร้างความร่วมมือด้านการเงิน ที่ประชุมฯ ย้ำถึงความสำคัญของการจัดตั้งกองทุนพหุภาคีภายใต้มาตรการริเริ่มเชียงใหม่ (Chiang Mai Initiative Multilateralization CMIM) ซึ่งจะเป็นกลไกที่ประเทศในภูมิภาคจะให้ความช่วยเหลือกันเองในกรณีที่ประเทศหนึ่งประเทศใดประสบปัญหาสภาพคล่องทางการเงินจากการสำรองอัตราแลกเปลี่ยน ในการนี้ ผู้นำประเทศอาเซียน +3 แสดงการสนับสนุนอย่างเต็มที่ที่จะให้รัฐมนตรีคลังของแต่ละประเทศไปหารือกันในรายละเอียด เพื่อทำให้กองทุนดังกล่าวเริ่มดำเนินการได้ภายในปลายปีนี้ (2552) รวมถึงการจัดตั้งสำนักงานติดตามและแจ้งเตือนภัยทางเศรษฐกิจภายใต้มาตรการริเริ่มเชียงใหม่ (surveillance unit) ซึ่งที่ประชุมฯ ได้รับทราบข้อเสนอของไทยที่จะเป็นที่ตั้งชั่วคราวของสำนักงานดังกล่าว ในระหว่างที่ยังไม่มีการศึกษาว่าสำนักงานดังกล่าวควรตั้งอยู่ที่ใด
  • ที่ประชุมฯ ตระหนักว่า ประเทศในเอเชียตะวันออกมีเงินตราต่างประเทศสำรองอยู่เป็นจำนวนมาก และสามารถแสดงบทบาทสำคัญในการดำเนินการให้เศรษฐกิจของภูมิภาคและของโลกฟื้นตัวได้ ในการนี้ ผู้นำประเทศอาเซียน +3 กล่าวย้ำถึงการสนับสนุนให้เร่งรัดการจัดตั้งตลาดพันธบัตรเอเชีย (Asian bond markets) เพื่อเป็นเครื่องมือช่วยเหลือนักลงทุนภายในภูมิภาคในการระดมทุน
  • ในส่วนของข้อเสนอเกี่ยวกับการจัดตั้งเขตการค้าเสรีเอเชียตะวันออก ที่ประชุมฯ รับทราบว่า การค้าภายในภูมิภาค ซึ่งเมื่อปีที่ผ่านมา (2551) มีมูลค่ามากกว่า 480 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ ยังมีศักยภาพที่จะขยายตัวได้อีกมาก พร้อมทั้งได้รับทราบผลการศึกษาความเป็นไปได้เกี่ยวกับการจัดตั้งเขตการค้าเสรีเอเชียตะวันออก ว่า กระบวนการเจรจาเพื่อจัดตั้งเขตการค้าเสรีของภูมิภาค ควรเริ่มต้นขึ้นภายในปี 2555 ในการนี้ ที่ประชุมฯ ได้มอบหมายให้รัฐมนตรีเศรษฐกิจของประเทศอาเซียน +3 เริ่มกระบวนการเจรจาดังกล่าวในโอกาสแรก ขณะเดียวกัน ที่ประชุมฯ แสดงความเห็นด้วยว่า การเจรจาเขตการค้าเสรีของภูมิภาค จะต้องไม่เป็นการปิดโอกาสการที่ประเทศในภูมิภาคจะจัดทำเขตการค้าเสรีกับประเทศอื่นๆ นอกภูมิภาค
  • นายกรัฐมนตรีญี่ปุ่นแจ้งให้ที่ประชุมฯ ทราบเกี่ยวกับวิสัยทัศน์ของญี่ปุ่นในการจัดตั้งประชาคมเอเชียตะวันออก (East Asia community) ซึ่งญี่ปุ่นให้ความสำคัญเป็นลำดับแรกกับการสร้างความร่วมมือที่เป็นรูปธรรมในสาขาที่ทุกประเทศสามารถร่วมมือกันได้จริง ทั้งนี้ นายกรัฐมนตรีญี่ปุ่นรับทราบข้อคิดเห็นของที่ประชุมฯ ว่า การทำให้ประเทศในเอเชียตะวันออกเป็นประชาคมเดียวกัน เป็นวิสัยทัศน์ในระยะยาว
  • ผู้นำประเทศประเทศอาเซียน +3 เห็นพ้องถึงความสำคัญของการเสริมสร้างความเชื่อมโยงกันระหว่างประเทศสมาชิกอาเซียนกับประเทศ + 3 โดยที่ประชุมฯ รับทราบว่า การเร่งรัดการเชื่อมโยงเครือข่ายสาธารณูปโภคและโครงสร้างพื้นฐานของแต่ละประเทศ เป็นปัจจัยสำคัญในการบูรณาการประเทศต่างๆ ในเอเชียตะวันออก
  • ในประเด็นเกี่ยวกับการเสริมสร้างความมั่นคงทางอาหารและพลังงาน ที่ประชุมฯ ให้การสนับสนุนกระบวนการหารือเกี่ยวกับการทำให้โครงการสำรองข้าวฉุกเฉินของเอชียตะวันออก ซึ่งปัจจุบันเป็นโครงการนำร่อง ให้เป็นกลไกถาวร และแสดงความคาดหวังว่า แต่ละประเทศจะร่วมสำรองข้าวในโครงการนี้ นอกจากนี้ ผู้นำประเทศอาเซียน +3 เห็นถึงความจำเป็นในการแลกเปลี่ยน/ถ่ายทอดเทคโนโลยี และขยายช่องทางการขนส่งเพื่อเพิ่มศักยภาพในการผลิตสินค้าทางการเกษตรและการเข้าถึงอาหารของประชาชน รวมทั้งความจำเป็นที่จะต้องร่วมมือกันให้ใกล้ชิดมากยิ่งขึ้นในการผลิตพลังงานทดแทน
  • ในประเด็นการส่งเสริมความร่วมมือด้านสาธารณสุข โดยเฉพาะอย่างยิ่งการแก้ไขปัญหาไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ใหม่ A (H1N1) ผู้นำประเทศอาเซียน +3 ย้ำถึงความจำเป็นในการที่ประเทศในภูมิภาคจะต้องร่วมมือกันในเรื่องนี้ โดยที่ประชุมฯ ได้รับทราบว่า ไทยจะเป็นเจ้าภาพจัดการประชุมเชิงปฏิบัติการเกี่ยวกับการเตรียมความพร้อมของเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องกับการป้องกันการแพร่ระบาดของไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ใหม่ รวมถึงการให้การสนับสนุนด้านต่างๆ ของญี่ปุ่น อาทิ การให้เงินให้เปล่ามูลค่า 10.8 ล้านดอลลาร์สหรัฐ แก่องค์กรอนามัยโลก เพื่อเป็นค่าใช้จ่ายฉุกเฉินในการผลิตวัคซีนให้แก่ประเทศต่างๆ ทั่วโลก การให้ยาต้านเชื้อไวรัส (anti-viral agents) สำรอง และการให้สนับสนุนทางการวิจัยแก่สถาบันต่างๆ ของประเทศสมาชิกอาเซียนในด้านการควบคุมโรคติดต่อ
  • ในส่วนกองทุนความร่วมมืออาเซียน +3 ซึ่งเพิ่งได้รับการจัดตั้งในเดือนเมษายนที่ผ่านมา (2552) เพื่อใช้ในการดำเนินกิจกรรมต่างๆ ภายใต้แผนงานความร่วมมือของประเทศอาเซียน +3 ที่ประชุมฯ รับทราบความพร้อมของไทยที่จะเป็นผู้นำในด้านส่งเสริมความร่วมมือด้านการศึกษา รวมถึงแผนของไทยที่จะจัดประชุมเจ้าหน้าที่อาวุโสด้านการศึกษาในเดือนพฤศจิกายน ศกนี้ (2552) เพื่อพิจารณาแผนปฏิบัติงานด้านการศึกษาของอาเซียน +3 ในการนี้ ที่ประชุมฯ ได้รับทราบว่า การเสริมสร้างความร่วมมือด้านการศึกษา เป็นปัจจัยสำคัญในการทำให้ประชาชนของประเทศประเทศอาเซียน +3 มีความเข้าใจซึ่งกันและกัน และเห็นควรส่งเสริมให้ประเทศอาเซียน +3 มีการแลกเปลี่ยนเยาวชน นักเรียนและนักศึกษาที่มีคุณภาพมากยิ่งขึ้น รวมถึงการศึกษาความเป็นไปได้ที่จะให้นักเรียน/นักศึกษาของมหาวิทยาลัยต่างๆ ในประเทศอาเซียน +3 มีความร่วมมือด้านการถ่ายโอนหน่วยกิตการศึกษาระหว่างกัน
  • ในเรื่องการรับมือกับภัยธรรมชาติ ที่ประชุมฯ เห็นพ้องถึงความจำเป็นที่จะต้องเสริมสร้างให้ศักยภาพของภูมิภาคในเรื่องนี้ โดยเฉพาะการเสริมสร้างความร่วมมือซึ่งกันและกันในเรื่องวัสดุอุปกรณ์ที่จำเป็นในการให้ความช่วยเหลือเมื่อเกิดภัยพิบัติ และการถ่ายทอดเทคโนโลยี ประสบการณ์ และพัฒนาศักยภาพของบุคลากรที่เกี่ยวข้อง ในการนี้ ญี่ปุ่นได้แจ้งให้ที่ประชุมฯ ทราบว่า จะเป็นเจ้าภาพจัดการประชุมระหว่างประเทศเพื่อเสริมสร้างศักยภาพในการบริหารจัดการเมื่อเกิดภัยพิบัติ รวมถึงศักยภาพในการรับมือกับภัยพิบัติของชุมชนในพื้นที่ต่างๆ
  • ในเรื่องพม่า นายกรัฐมนตรีพม่าใช้โอกาสนี้ บรรยายสรุปให้ที่ประชุมฯ ทราบเกี่ยวกับสถานการณ์ทางการเมืองในพม่า ซึ่งกำลังอยู่ในระหว่างการเตรียมการเลือกตั้งทั่วไปในปีหน้า (2553)

กองการสื่อมวลชน กรมสารนิเทศ กระทรวงการต่างประเทศ โทร. 643-5170 โทรสาร. 643-5169 E-mail : div0704@mfa.go.th--จบ--

-พห-

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ