แถลงการณ์ชะอำ หัวหิน ว่าด้วยความร่วมมือ เกี่ยวกับความมั่นคงด้านอาหาร และการพัฒนาพลังงานชีวภาพในกรอบอาเซียน+3
เรา ประมุขแห่งรัฐ/หัวหน้ารัฐบาลประเทศสมาชิกสมาคมประชาชาติแห่งเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (อาเซียน) สาธารณรัฐประชาชนจีน ญี่ปุ่น และสาธารณรัฐเกาหลี ในโอกาสการประชุมสุดยอดอาเซียน+3 ครั้งที่ 12 ที่ชะอำ หัวหิน ประเทศไทย ในวันที่ 24 ตุลาคม 2552
มีความกังวลร่วมกัน ต่อความมั่นคงด้านอาหารและความจำเป็นในการพัฒนาพลังงานชีวภาพอย่างยั่งยืน ภายใต้ภาวะความผันผวนของราคาอาหารและน้ำมันที่ดำเนินอยู่ในขณะนี้ ซึ่งส่งผลกระทบต่อความเป็นอยู่ของประชาชนและการเติบโตทางเศรษฐกิจของพวกเรา
ตระหนักถึง ความเชื่อมโยงระหว่างความมั่นคงด้านอาหารและพลังงาน ซึ่งจำเป็นต้องมีการจัดการในแบบองค์รวม อีกทั้งยังต้องคำนึงถึงความสมดุลระหว่างการผลิตพืชอาหารและพืชพลังงาน เพื่อรักษาความมั่นคงด้านอาหารอย่างยั่งยืน
ย้ำถึง ข้อยึดมั่นของพวกเราที่จะรักษาความมั่นคงด้านอาหารและพลังงานสำหรับประชาชนของเรา และความจำเป็นในการส่งเสริมการพัฒนาอย่างยั่งยืน ซึ่งเป็นสิ่งที่ต้องให้ความสำคัญเป็นอันดับแรกในกระบวนการสร้างประชาคมในภูมิภาค
ตระหนักว่า แต่ละประเทศจำเป็นที่จะต้องใช้ทรัพยากรของตนให้เกิดคุณประโยชน์สูงสุด เพื่อการผลิตภาคเกษตรที่มากขึ้นอย่างยั่งยืน
ตระหนักอีกว่า การได้มาซึ่งแหล่งพลังงานที่มั่นคง ในขณะที่มีการจัดการกับปัญหาด้านสังคมและสิ่งแวดล้อมอย่างมีประสิทธิภาพจะเป็นปัจจัยสำคัญต่อการสนับสนุนกิจกรรมทางเศรษฐกิจและอุตสาหกรรม ดังนั้นการวิจัยและพัฒนาแหล่งพลังงานทางเลือกควรได้รับการส่งเสริม
อ้างถึง แถลงการณ์ร่วมว่าด้วยความร่วมมือเอเชียตะวันออก ฉบับที่ 2 และแผนงานความร่วมมืออาเซียน+3 (2550-2560) ซึ่งได้รับการรับรองจากที่ประชุมสุดยอดอาเซียน+3 ครั้งที่ 11 ที่สิงคโปร์เมื่อเดือนพฤศจิกายน 2550 โดยมีการเรียกร้องให้มีความร่วมมือในหลากหลายสาขา รวมทั้งด้านความมั่นคงด้านอาหารและพลังงาน
ยืนยัน ความยึดมั่นของเราต่อปฏิญญาเซบูว่าด้วยความมั่นคงทางพลังงานในเอเชียตะวันออก เมื่อวันที่ 15 มกราคม 2550 ในการพัฒนาประสิทธิภาพและการอนุรักษ์พลังงาน ส่งเสริมความหลากหลายของพลังงานเชื้อเพลิง และส่งเสริมความร่วมมือในการวิจัยและพัฒนาเทคโนโลยี และแหล่งพลังงานใหม่และที่สามารถนำกลับมาใช้ใหม่ได้ รวมทั้งพลังงานชีวภาพ
ยินดีกับ การรับรองปฏิญญากรุงโรมว่าด้วยความมั่นคงด้านอาหารโลก และแผนปฏิบัติการของที่ประชุมสุดยอดอาหารโลก ในการประชุมสุดยอดอาหารโลก เมื่อปี 2539 และปฏิญญาซึ่งได้รับการรับรองจากที่ประชุมระดับสูงขององค์การอาหารและเกษตรแห่งสหประชาชาติว่าด้วยความมั่นคงด้านอาหารโลก : ความท้าทายของการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและพลังงานชีวภาพ ซึ่งจัดขึ้นเมื่อเดือนมิถุนายน 2551 และกรอบแผนปฏิบัติการอย่างครอบคลุมของคณะทำงานเฉพาะกิจระดับสูงว่าด้วยวิกฤตความมั่นคงด้านอาหารโลก
ขอประกาศ ณ ที่นี้ ว่าจะ
1. เพิ่ม ขีดความสามารถในการผลิตอาหารเพื่อสร้างความเป็นอยู่ที่ดีของประชาชนของเรา ซึ่งเป็นส่วนสำคัญของเป้าหมายการพัฒนาแห่งสหัสวรรษ
2. สนับสนุน ความพยายามของอาเซียนในการดำเนินการตามกรอบความร่วมมือด้านความมั่นคงด้านอาหารแบบบูรณาการและแผนปฏิบัติการเชิงยุทธศาสตร์ว่าด้วยความมั่นคงด้านอาหารในภูมิภาคอาเซียน โดยการมีส่วนร่วมอย่างแข็งขันจากทุกภาคส่วน
3. เสริมสร้าง ความแข็งแกร่งของความเป็นหุ้นส่วนในกรอบอาเซียน+3 ในการพัฒนาระบบข้อมูลด้านความมั่นคงด้านอาหารของอาเซียน เพื่อประกันว่าจะมีแหล่งอาหารที่เพียงพอในระยะยาวโดยผ่านกลไกระดับภูมิภาคภายใต้กรอบความร่วมมือด้านการเกษตรอาเซียน+3
4. สนับสนุน การดำเนินการต่อไปของโครงการนำร่องคลังสำรองข้าวฉุกเฉินเอเชียตะวันออก และศึกษาความเป็นไปได้ในการจัดตั้งคลังสำรองข้าวฉุกเฉินในกรอบอาเซียน+3 โดยอาศัยประสบการณ์จากการจัดตั้งคลังสำรองข้าวฉุกเฉินเอเชียตะวันออกเป็นแนวทาง รวมทั้งการมี ความร่วมมืออย่างใกล้ชิดกับองค์การระหว่างประเทศที่เกี่ยวข้อง และคำนึงถึงข้อผูกพันของแต่ละประเทศและให้สอดคล้องกับข้อบังคับระหว่างประเทศด้วย
5. มอบหมายให้ รัฐมนตรีเกษตรและป่าไม้ โดยการปรึกษาหารือกับรัฐมนตรีและองค์การระหว่างประเทศที่เกี่ยวข้อง ดำเนินการจัดทำยุทธศาสตร์แบบบูรณาการเกี่ยวกับการผลิตและการบริโภคอาหารและพลังงานชีวภาพที่ยั่งยืนและเป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน ซึ่งจะช่วยส่งเสริมการจัดสรรทรัพยากรในการผลิตอาหารและพลังงานชีวภาพที่ดียิ่งขึ้น อันจะช่วยประกันความสมดุลในการผลิตอาหาร ทั้งนี้ ให้รายงานผลการดำเนินงานต่อที่ประชุมสุดยอดอาเซียน+3 ในปี 2553
6. ส่งเสริม การแลกเปลี่ยนข้อมูลและแนวทางปฏิบัติที่เป็นเลิศเกี่ยวกับนโยบาย ประสบการณ์ และการพัฒนาขีดความสามารถและความร่วมมือด้านเทคนิค เพื่อส่งเสริมการทำให้มาตรฐาน การผลิตพลังงานชีวภาพและความปลอดภัยกับด้านอาหารในภูมิภาคมีความสอดคล้องกัน
7. ส่งเสริม การลงทุนด้านป่าไม้ โครงสร้างพื้นฐานด้านเกษตรกรรม และการเกษตรแบบมีพันธะสัญญาที่เน้นหลักการคุ้มครองสิ่งแวดล้อม เพื่อลดผลกระทบจากการดำเนินกิจกรรมทางการเกษตรขนาดใหญ่ ทั้งนี้ เพื่อประกันว่าจะมีแหล่งผลิตอาหารอย่างยั่งยืนเพื่อความเป็นอยู่ที่ดีและการเสริมสร้างอำนาจการต่อรองให้แก่เกษตรกร
8. ผลักดัน การค้าสินค้าเกษตรในลักษณะที่จะช่วยลดการบิดเบือนการค้าและการตลาด และ เพื่อประกันไม่ให้เกิดความขาดแคลนทางอาหาร
9. ส่งเสริม การค้าพลังงานชีวภาพและการพัฒนาเทคโนโลยีเพื่อประกันการมีพลังงานชีวภาพใช้ในระยะยาว ซึ่งรวมถึงการศึกษาความเป็นไปได้ในการจัดทำนโยบายด้านการค้าพลังงานชีวภาพในภูมิภาคเพื่อจัดการกับปัญหาด้านสิ่งแวดล้อม การใช้ประโยชน์จากที่ดิน และความมั่นคงด้านอาหาร
10. เสริมสร้าง ความเป็นหุ้นส่วนทั้งกับองค์การในระดับภูมิภาคและระหว่างประเทศในการส่งเสริมการวิจัยและการพัฒนา และการถ่ายทอดเทคโนโลยีเรื่องความมั่นคงด้านอาหารและพลังงานชีวภาพร่วมกัน โดยเฉพาะอย่างยิ่ง เทคโนโลยีการผลิตพลังงานชีวภาพรุ่นที่ 2 และเทคโนโลยีใหม่ ๆ สำหรับการใช้พลังงานทางเลือก
11. ส่งเสริม ความร่วมมือในการจัดการกับปัญหาที่เกี่ยวข้องกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ อาทิ ความแห้งแล้ง อุทกภัย และโรคระบาด ในมุมมองที่จะส่งเสริมความมั่นคงด้านอาหาร
รับรอง ที่ชะอำ หัวหิน ประเทศไทย เมื่อวันที่ ยี่สิบสี่ ตุลาคม พุทธศักราช สองพันห้าร้อยห้าสิบสอง
กองการสื่อมวลชน กรมสารนิเทศ กระทรวงการต่างประเทศ โทร. 643-5170 โทรสาร. 643-5169 E-mail : div0704@mfa.go.th--จบ--