ผลการประชุมสุดยอดเอเชียตะวันออก ครั้งที่ 4

ข่าวต่างประเทศ Monday October 26, 2009 15:52 —กระทรวงการต่างประเทศ

เมื่อวันที่ 25 ตุลาคม 2552 ผู้นำประเทศสมาชิกอาเซียน 10 ประเทศ ได้พบหารือกับผู้นำของประเทศคู่เจรจาอาเซียน 6 ประเทศ ได้แก่ จีน ญี่ปุ่น สาธารณรัฐเกาหลี อินเดีย ออสเตรเลียและนิวซีแลนด์ ในการประชุมสุดยอดเอเชียตะวันออก (East Asia Summit) ครั้งที่ 4 สาระสำคัญของการประชุมฯ สรุปได้ ดังนี้

  • ผู้นำประเทศของ 16 ประเทศที่เข้าร่วมในการประชุมสุดยอดเอเชียตะวันออก (อาเซียน +6) รับฟังการบรรยายสรุปจากผู้แทนธนาคารเพื่อการพัฒนาแห่งเอเชีย (Asian Development Bank) และคณะกรรมาธิการเศรษฐกิจและสังคมแห่งสหประชาชาติสำหรับเอเชียและแปซิฟิก (United Nations Economic and Social Commission for Asia and the Pacific — ESCAP) เกี่ยวกับผลกระทบของวิกฤตการเงินและเศรษฐกิจโลกที่มีต่อภูมิภาค และบทบาทของประเทศในภูมิภาคในการรับมือกับปัญหาเศรษฐกิจและการเงินที่เกิดขึ้น รวมถึงการปฏิรูปโครงสร้างของระบบการเงินการคลังในภูมิภาค จากนั้น ที่ประชุมฯ ได้แลกเปลี่ยนข้อคิดเห็นในประเด็นท้าทายต่างๆ ที่ภูมิภาคกำลังเผชิญอยู่ ไม่ว่าจะเป็นวิกฤตการเงินและเศรษฐกิจโลก ปัญหาโลกร้อน โดยเฉพาะอย่างยิ่งในบริบทของการประชุมผู้นำโลกเพื่อแก้ไขปัญหาโลกร้อน/สิ่งแวดล้อม (Copenhagen Summit) ที่กำลังจะมีขึ้นในเดือนธันวาคม ศกนี้ (2552) การรับมือกับปัญหาภัยพิบัติธรรมชาติ การส่งเสริมความร่วมมือด้านการศึกษาและพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ การเสริมสร้างความมั่นคงด้านอาหารและพลังงาน การส่งเสริมการติดต่อสื่อสารและไปมาหาสู่กันระหว่างประชาชนของประเทศในภูมิภาค การส่งเสริมความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับวัฒนธรรมที่แตกต่างกันของประเทศในภูมิภาค รวมถึงการแก้ไขปัญหาข้ามชาติอื่นๆ เช่น อาชญากรรมและการก่อการร้ายข้ามชาติ
  • ในเรื่องวิกฤตการเงินและเศรษฐกิจโลก ที่ประชุมฯ รับทราบว่า เศรษฐกิจของภูมิภาคเอเชียตะวันออก มีสัญญาณของการฟื้นตัว โดยหลายประเทศสามารถกระตุ้นให้เศรษฐกิจของตนเองกลับมามีอัตราการขยายตัวได้แล้ว โดยเมื่อเร็วๆ นี้ ธนาคารเพื่อการพัฒนาแห่งเอเชีย ได้ปรับตัวเลขประมาณการการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจของเอเชียตะวันออกในปีนี้ (2552) จากร้อยละ 3.4 เป็น 3.9 และในปีหน้า (2553) จากร้อยละ 6 เป็นร้อยละ 6.4 ในการนี้ ประเทศอาเซียน + 6 จึงสามารถแสดงบทบาทที่สำคัญในการพลิกฟื้นให้เศรษฐกิจของโลก กลับมาเป็นบวกได้อีกครั้งหนึ่ง และการปฏิรูปโครงสร้างทางการเงินการคลังของโลก
  • ที่ประชุมฯ รับทราบว่า การใช้มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจในหลายประเทศได้เริ่มส่งผลแล้ว และเห็นว่า ประเทศอาเซียน +6 ควรพิจารณาร่วมกันเกี่ยวกับช่วงเวลาและวิธีการที่เหมาะสมที่แต่ละประเทศจะหยุดใช้มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของตนเอง (exit strategy) ทั้งนี้ เพื่อมิให้ทำลายความสมดุลหรือส่งสัญญาณที่ผิดให้กับการฟื้นตัวที่ยังคงเปราะบางของระบบเศรษฐกิจโลก นอกจากนี้ ที่ประชุมฯ ยังเห็นว่า เพื่อทำให้เศรษฐกิจเติบโตอย่างยั่งยืน ประเทศต่างๆ ควรให้ความสำคัญมากขึ้นกับการกระตุ้นกำลังซื้อภายในประเทศ ควบคู่ไปกับการลดการพึ่งพาการเติบโตของระบบเศรษฐกิจโลกที่ขยายตัวมาอย่างไม่สมดุล
  • โดยคำนึงว่า 6 จาก 16 ประเทศที่เข้าร่วมในที่ประชุมสุดยอดเอเชียตะวันออก เป็นสมาชิกของกลุ่ม G-20 (กลุ่มประเทศที่มีบทบาทนำในเศรษฐกิจโลก 20 ประเทศ) ในการนี้ ที่ประชุมฯ ได้รับฟังข้อเสนอแนะว่า อาเซียน + 6 ควรต้องหาวิธีผลักดันให้กลไกการประชุมรัฐมนตรีคลังของอาเซียน + 6 เป็นส่วนหนึ่งหรือมีความเชื่อมโยงกับการประชุม G-20 อาทิ การจัดให้รัฐมนตรีคลังของอาเซียน + 6 พบกันก่อนการประชุม G-20 เพื่อประสานท่าทีซึ่งกันและกัน ขณะเดียวกัน ที่ประชุมฯ ย้ำถึงการสนับสนุนให้การเจรจาการค้าโลกรอบโดฮา (Doha Round — ซึ่งมีวัตถุประสงค์เพื่อเปิดเสรีทางการค้ามากยิ่งขึ้น โดยหนึ่งในประเด็นหลักที่ยังตกลงกันไม่ได้ คือ การเปิดเสรีภาคสินค้าเกษตรของประเทศกำลังพัฒนาบางประเทศ) รวมถึงได้เน้นถึงท่าทีของประเทศอาเซียน + 6 ในการต่อต้านการกีดกันทางการค้า
  • ในประเด็นการส่งเสริมความเป็นหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจของภูมิภาค ผู้นำของประเทศอาเซียน + 6 ได้แลกเปลี่ยนข้อคิดเห็นกันเกี่ยวกับข้อเสนอแนะว่าด้วยการจัดตั้งความเป็นหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจอย่างรอบด้านของเอเชียตะวันออก (Comprehensive Economic Partnership in East Asia - CEPEA) ซึ่งเป็นหนึ่งในผลการหารือของที่ประชุมสุดยอดเอเชียตะวันออกครั้งที่ผ่านมา และการจัดตั้งเขตการค้าเสรีเอเชียตะวันออก (East Asia Free Trade Area — EAFTA) ซึ่งเป็นข้อเสนอแนะภายใต้กรอบการประชุมสุดยอดอาเซียน + 3 โดยที่ประชุมฯ แสดงความหวังที่จะเห็นความคืบหน้าของการหารือในประเด็นนี้ต่อไป
  • ผู้นำประเทศอาเซียน + 6 เห็นว่า การเสริมสร้างความเชื่อมโยงภายในภูมิภาค เป็นประเด็นสำคัญที่จะนำไปสู่การเติบโตในระยะยาวของประเทศต่างๆ ในภูมิภาค และได้รับทราบว่า ขณะนี้ ธนาคารเพื่อการพัฒนาแห่งเอเชีย และ ESCAP กำลังอยู่ในระหว่างการดำเนินการร่วมกับหลายประเทศในภูมิภาคเพื่อจัดทำแผนแม่บทสำหรับการพัฒนาสาธารณูปโภคและเครือข่ายคมนาคม รวมถึงการระดมทุนเพื่อการนี้
  • ในเรื่องภาวะโลกร้อน/การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ที่ประชุมฯ เห็นพ้องกันว่า ควรประกาศเจตนารมณ์ทางการที่หนักแน่นว่า ประเทศอาเซียน +6 สนับสนุนให้ Copenhagen Summit ประสบผลสำเร็จ มิเช่นนั้น กระแสการขับเคลื่อนเพื่อผลักดันเพื่อการแก้ปัญหาโลกร้อน จะสูญเสียไป นอกจากนี้ ที่ประชุมฯ ได้หารือกันเกี่ยวกับการส่งเสริมความร่วมมือของประเทศในภูมิภาคเพื่อแก้ปัญหาการเปลี่ยนแปลงทางสภาพภูมิอากาศ อาทิ การแลกเปลี่ยน/ถ่ายทอดเทคโนโลยี
  • จากการที่ในรอบไม่กี่เดือนที่ผ่านมา ประเทศต่างๆ ในภูมิภาคประสบปัญหาภัยพิบัติ จำนวน หลายครั้ง ที่ประชุมฯ ได้เน้นถึงความจำเป็นที่ประเทศอาเซียน + 6 จะต้องร่วมมือกันมากยิ่งขึ้นเพื่อรับมือ/จัดการกับภัยพิบัติ ซึ่งส่งผลต่อประชาชนและเศรษฐกิจในวงกว้าง โดยเฉพาะการเสริมสร้างกลไกการประสานงานและการให้ความช่วยเหลือซึ่งกันและกันเมื่อเกิดภาวะฉุกเฉิน ในการนี้ ที่ประชุมฯ ได้รับรองแถลงการณ์ชะอำ-หัวหินว่าด้วยการจัดการภัยพิบัติ ซึ่งระบุถึงมาตรการต่างๆ ที่ประเทศอาเซียน + 6 จะร่วมมือกันในจัดการกับปัญหาภัยพิบัติ
  • ที่ประชุมฯ หารือกันเกี่ยวกับข้อเสนอแนะต่างๆ เพื่อเสริมสร้างความมั่นคงด้านอาหารและพลังงาน อาทิ การส่งเสริมความร่วมมือด้านการวิจัยและพัฒนา และการแลกเปลี่ยน/ถ่ายทอดเทคโนโลยีเกี่ยวกับการเพิ่มศักยภาพในการผลิตอาหาร
  • ผู้นำประเทศอาเซียน + 6 หารือเกี่ยวกับการเสริมสร้างความร่วมมือด้านการศึกษา และเห็นถึงความสำคัญของการส่งเสริมให้เยาวชนมีส่วนร่วมในการกำหนดนโยบายด้านการศึกษา รวมถึงการส่งเสริมการแลกเปลี่ยน/ติดต่อของประชาชนในประเทศสมาชิกอาเซียน + 6 และการส่งเสริมความรู้ความเข้าใจและยอมรับในวัฒนธรรมที่แตกต่างกันของแต่ละประเทศ ในการนี้ ที่ประชุมฯ ได้รับรองแถลงการณ์ร่วมของการประชุมสุดยอดเอเชียตะวันออก ครั้งที่ 4 ว่าด้วยการฟื้นฟูมหาวิทยาลัยนาลันทา (ตั้งอยู่ในประเทศอินเดีย) เพื่อเป็นสถาบันการศึกษาระหว่างประเทศที่ไม่แสวงหาผลกำไร และมีเป้าหมายเพื่อส่งเสริมการพัฒนาทางความคิด ปรัชญา และการศึกษาประวัติศาสตร์ นอกจากนี้ ที่ประชุมฯ ได้รับฟังข้อเสนอว่า ประเทศต่างๆ อาจพิจารณาหาสถาบันการศึกษาที่มีลักษณะคล้ายคลึงกับมหาวิทยาลัยนาลัน เพิ่มเติม เพื่อพัฒนาให้เป็นศูนย์กลางความเชี่ยวชาญด้านต่างๆ ที่เปิดกว้างและให้ประชาชนในประเทศอาเซียน + 3 ทั่วไป เข้าถึงและใช้ประโยชน์ได้ รวมทั้งข้อเสนอเกี่ยวกับการสนับสนุนประเทศต่างๆ ในภูมิภาคให้พัฒนาคุณภาพการศึกษาของตนเอง
  • ในระหว่างการหารือระหว่างรับประทานอาหารกลางวัน ผู้นำเอเชียตะวันออกได้แลกเปลี่ยนความเห็นในประเด็นที่สำคัญระดับภูมิภาคและระดับระหว่างประเทศ อาทิ การลดอาวุธนิวเคลียร์ในคาบสมุทรเกาหลี และสถานการณ์ในประเทศพม่า

กองการสื่อมวลชน กรมสารนิเทศ กระทรวงการต่างประเทศ โทร. 643-5170 โทรสาร. 643-5169 E-mail : div0704@mfa.go.th--จบ--

-พห-

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ