สถิติที่สำคัญเกี่ยวกับ ผลลัพธ์ของการประชุมสุดยอดอาเซียน ครั้งที่ 15 และการประชุมสุดยอดอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง

ข่าวต่างประเทศ Tuesday October 27, 2009 13:25 —กระทรวงการต่างประเทศ

1. การเสริมสร้างความเชื่อมโยงของภูมิภาค (enhancing connectivity)

  • อาเซียนเห็นชอบให้จัดตั้ง (1) คณะทำงานระดับสูงเพื่อพัฒนาแผนแม่บทของอาเซียนเกี่ยวกับการสร้างความเชื่อมโยงด้านต่างๆ ภายในภูมิภาค และ (2) กองทุนเพื่อพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน/เครือข่ายการคมนาคมขนส่ง
  • จีนได้ให้คำมั่นว่าจะสนับสนุนงบประมาณ จำนวน 10,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ในกองทุนเพื่อความร่วมมือด้านการลงทุนระหว่างอาเซียน-จีน (China-ASEAN Fund on Investment Cooperation) และให้สินเชื่อภายใต้โครงการสินเชื่อทางพาณิชย์และเงินกู้ยืม จำนวน 15,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ เพื่อส่งเสริมการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานและการเชื่อมโยงระหว่างอาเซียนกับจีน ซึ่งจะเป็นประโยชน์ต่อการขยายปริมาณการค้า การลงทุน และการไปมาหาสู่กันในระดับประชนชน
  • คณะกรรมาธิการเศรษฐกิจและสังคมแห่งสหประชาชาติสำหรับเอเชียและแปซิฟิก (United Nations Economic and Social Commission for Asia and the Pacific: UN-ESCAP) คาดการณ์ว่า การสร้างความเชื่อมโยงด้านการคมนาคมของภูมิภาค โดยเฉพาะส่วนที่ยังไม่เชื่อมต่อกัน (missing links) จะต้องใช้เงินประมาณ 14,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ

2. การสร้างเสริมบทบาทและศักยภาพของประชาชน (Empowering Peoples)

การบูรณาการทางเศรษฐกิจ

  • อาเซียนได้บรรลุข้อตกลงว่าด้วยการจัดทำเขตการค้าเสรีกับทั้ง 6 ประเทศคู่เจรจาที่เข้าร่วมในการประชุมสุดยอดเอเชียตะวันออก (อาเซียน + 6) ได้แก่ จีน ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ อินเดีย ออสเตรเลียและนิวซีแลนด์) และจะดำเนินการควบคู่กันไปในการศึกษาความเป็นไปได้ที่จะจัดตั้งเขตการค้าเสรีเอเชียตะวันออก (East Asia Free Trade Area) และการสร้างความเป็นหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจอย่างรอบด้านในเอเชียตะวันออก (Comprehensive Economic Partnership in East Asia) ซึ่งเป็นภูมิภาคที่ขนาดเศรษฐกิจรวมกันมีมูลค่า 14.1 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ มีประชากรรวมกันกว่า 3,300 ล้านคน และมีเงินสำรองระหว่างประเทศรวมกันกว่า 3.9 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ

การแก้ไขปัญหาวิกฤตการเงินและเศรษฐกิจโลก

  • ธนาคารเพื่อการพัฒนาแห่งเอเชียประเมินว่า การฟื้นตัวทางเศรษฐกิจของโลกจะมีรูปทรงตัว “วี” ( V-shape recovery ซึ่งหมายถึงการที่เศรษฐกิจตกลงต่ำสุดเพียงระยะเวลาไม่นาน จากนั้น จะเริ่มฟื้นตัวอย่างรวดเร็ว) โดยมีประเทศในเอเชียเป็นปัจจัยสำคัญของการฟื้นตัว โดยมีตัวเลขประมาณการของการขยายตัวทางเศรษฐกิจ ร้อยละ 3.9 (2552) ในปีนี้ และ 6.4 ในปีหน้า (2553)
  • ประเทศอาเซียน +3 จะร่วมกันทำให้กองทุนพหุภาคีภายใต้มาตรการริเริ่มเชียงใหม่ (Chiang Mai Initiative Multilateralization — CMIM ซึ่งจะเป็นกลไกที่ประเทศในภูมิภาคจะให้ความช่วยเหลือกันเองในกรณีที่ประเทศหนึ่งประเทศใดประสบปัญหาสภาพคล่องทางการเงินจากการสำรองอัตราแลกเปลี่ยน) ที่มีมูลค่า 120,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ เริ่มดำเนินการได้ภายในช่วงปลายปี 2552
  • จีนจะให้การสนับสนุนทางการเงิน จำนวน 200 ล้านดอลลาร์สหรัฐ เพื่อพัฒนากลไกการลงทุนและการให้หลักประกันด้านสินเชื่อภายใต้ข้อริเริ่มตลาดพันธบัตรเอเชีย (Asian Bonds Market Initiative — ABMI ซึ่งมีวัตถุประสงค์เพื่อเป็นเครื่องมือช่วยเหลือนักลงทุนในภูมิภาคในการระดมทุน/ใช้เงินตราต่างประเทศสำรองที่ประเทศในเอเชียมีอยู่เป็นจำนวนมากในการพัฒนาเศรษฐกิจของเอเชีย)

การแก้ไขปัญหาโลกร้อน/การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ

  • เกาหลีใต้จะให้การสนับสนุนทางการเงิน จำนวน 100 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ภายใต้ข้อริเริ่มว่าด้วยความเป็นหุ้นส่วนของเอเชียตะวันออกเพื่อแก้ไขปัญหาโลกร้อน (East Asia Climate Partnership Initiative)

การจัดการกับปัญหาภัยพิบัติ

  • ญี่ปุ่นประกาศให้เงินสมทบเพิ่มเติมจำนวน 13 ล้านดอลลาร์สหรัฐ แก่กองทุนอาเซียน-ญี่ปุ่นว่าด้วยการบูรณาการ (Japan-ASEAN Integration Fund) เพื่อส่งเสริมความร่วมมือด้านการจัดการภัยพิบัติ และการให้ความช่วยเหลือซึ่งกันและกันเมื่อเกิดภาวะฉุกเฉิน

การแลกเปลี่ยนทางวัฒนธรรมและการเยือนในระดับประชาชน

  • จีนได้สนับสนุนงบประมาณจำนวน 100,000 ดอลลาร์สหรัฐ แก่มูลนิธิอาเซียน เพื่อใช้ในการดำเนินโครงการส่งเสริมการแลกเปลี่ยนทางวัฒนธรรมและการเยือนในระดับประชาชน

ความมั่นคงด้านอาหาร

  • ไทยจะจัดหาข้าวปริมาณ 620 ตัน แก่ฟิลิปปินส์ เพื่อช่วยบรรเทาปัญหาภัยพิบัติ
  • จีนให้คำมั่นว่าจะสมทบข้าว จำนวน 300,000 ตัน ภายใต้โครงการสำรองข้าวฉุกเฉินของภูมิภาคเอเชียตะวันออก (East Asia Rice Reserve)

การพัฒนาทรัพยากรมนุษย์

  • จีนจะให้การฝึกอบรมแก่เจ้าหน้าที่ด้านสิ่งแวดล้อมของประเทศอาเซียน จำนวน 100 คน และจะส่งเสริมให้มีการแลกเปลี่ยนนักศึกษาระหว่างอาเซียนกับจีนเพิ่มเป็น 2 เท่า (200,000 คน) จากเป้าหมายที่ทั้งสองฝ่ายได้กำหนดไว้แล้วภายใต้ “โครงการแลกเปลี่ยนนักศึกษา 100,000 คน ภายในปี 2563“
  • เกาหลีใต้เสนอแนวคิดโครงการให้ทุนการศึกษา (Global Korea Scholarship Programme) และความเป็นไปได้ที่จะจัดตั้งมหาวิทยาลัยอาเซียน-เกาหลีใต้ที่ให้การเรียนการสอนผ่านระบบอินเตอร์เน็ต (ASEAN-ROK Cyber University)
  • ญี่ปุ่นจะระดมทุน จำนวน 90,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ จากกองทุนอาเซียน-ญี่ปุ่นว่าด้วยการบูรณาการ JAIF เพื่อใช้ในการพัฒนาระบบป้องกันภัยพิบัติและระบบตอบสนองต่อภัยพิบัติอย่างเร่งด่วน (emergency response) โดยเฉพาะในแง่มุมที่เกี่ยวการให้ความช่วยเหลือเร่งด่วนในส่วนที่เกี่ยวข้องกับวิกฤตการเงินและการให้การฝึกอบรมภาษาญี่ปุ่นแก่พยาบาล

โรคระบาด

  • ญี่ปุ่นสนับสนุนวัคซีนต้านไวรัสจำนวน 500,000 ชุด และอุปกรณ์ป้องกันไข้หวัดนกสำหรับเจ้าหน้าที่ จำนวน 350,000 ชุด

การลดช่องว่างการพัฒนา

  • เกาหลีใต้ยืนยันคำมั่นที่จะให้เงินสนับสนุนแก่อาเซียน จำนวน 5 ล้านดอลลาร์สหรัฐ เพื่อดำเนินโครงการต่างๆ ภายใต้ข้อริเริ่มเพื่อการรวมตัวของอาเซียน (Initiative for ASEAN Integration) ระหว่างปี 2551 — 2555 และอีก 5 ล้านดอลลาร์สหรัฐ สำหรับการดำเนินโครงการภายใต้ข้อริเริ่มฯ ระหว่างปี 2556-2560
  • อินเดียจะสนับสนุนงบประมาณ จำนวน 50 ล้านดอลลาร์สหรัฐ แก่กองทุนความร่วมมืออาเซียน — อินเดีย และกองทุนเพื่อการพัฒนาอาเซีย

กองการสื่อมวลชน กรมสารนิเทศ กระทรวงการต่างประเทศ โทร. 643-5170 โทรสาร. 643-5169 E-mail : div0704@mfa.go.th--จบ--

-พห-

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ