นายกรัฐมนตรีเดินทางเยือนกรุงโตเกียว ประเทศญี่ปุ่น เพื่อเข้าร่วมการประชุมผู้นำลุ่มน้ำโขงกับญี่ปุ่น ครั้งที่ 1

ข่าวต่างประเทศ Friday November 6, 2009 14:02 —กระทรวงการต่างประเทศ

ในระหว่างวันที่ 6-7 พฤศจิกายน 2552 นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรีจะเดินทางไปเข้าร่วมการประชุมผู้นำลุ่มน้ำโขงกับญี่ปุ่น (Mekong-Japan Summit) ครั้งที่ 1 ที่กรุงโตเกียว ประเทศญี่ปุ่น ตามคำเชิญของรัฐบาลญี่ปุ่น และมีกำหนดการจะเข้าเฝ้ามกุฎราชกุมารญี่ปุ่น และพบหารือกับประธานสภาผู้แทนราษฎรญี่ปุ่น และประธานสภาผู้แทนวุฒิสภาญี่ปุ่น รวมทั้งหารือทวิภาคีกับนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการต่างประเทศญี่ปุ่นในประเด็นที่เป็นความสนใจร่วมกัน อาทิ การใช้ประโยชน์จากความตกลงหุ้นส่วนเศรษฐกิจไทย-ญี่ปุ่น นอกจากนี้ นายกรัฐมนตรีมีกำหนดจะพบกับสมาพันธ์ธุรกิจญี่ปุ่น (Keidanren) พร้อมด้วยผู้แทนบริษัทชั้นนำของญี่ปุ่น อาทิ บ. Canon บ. Panasonic บ. Toyota และ Nippon Steel Corporation เป็นต้น อีกทั้งการเยือนญี่ปุ่นในครั้งนี้จะเป็นโอกาสพบปะกับชุมชนชาวไทยในญี่ปุ่น

การประชุมครั้งนี้เป็นการประชุมระดับผู้นำครั้งแรกของกรอบความร่วมมือ Mekong-Japan โดยมีหัวข้อหลักของการประชุม คือ “การจัดตั้งหุ้นส่วนเพื่อการพัฒนาใหม่เพื่ออนาคตที่รุ่งเรืองร่วมกัน” (Establishment of a New Partnership for the Common Flourishing Future) โดยเน้นประเด็น 1) การพัฒนาแบบครบถ้วนในอนุภูมิภาคลุ่มน้ำโขง 2) การจัดการกับประเด็นที่มีความท้าทาย ได้แก่ สิ่งแวดล้อม และการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ การระบาดของเชื้อโรค 3) การกระชับความร่วมมือและการแลกเปลี่ยนระหว่างกัน และการขยายความร่วมมือกับกรอบความร่วมมืออื่นๆ ที่มีอยู่แล้วในภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิก โดยในการประชุมครั้งนี้ ผู้นำประเทศสมาชิกลุ่มน้ำโขงกับญี่ปุ่นจะร่วมกับรับรองปฏิญญาโตเกียว ซึ่งเป็นเอกสารที่แสดงเจตนารมย์ทางการเมือง กำหนดวิสัยทัศน์และแนวทางความร่วมมือลุ่มน้ำโขงกับญี่ปุ่น

ในส่วนของไทย นายกรัฐมนตรีจะได้ยืนยันบทบาทของไทย ในการสนับสนุนการพัฒนาอนุภูมิภาคลุ่มน้ำโขง ซึ่งไทยได้ดำเนินการมาอย่างต่อเนื่องทั้งในกรอบทวิภาคีและกรอบความร่วมมืออื่นๆ ในอนุภูมิภาค อาทิ GMS และ ACMECS และพร้อมที่จะดำเนินความร่วมมือร่วมกับญี่ปุ่นในการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ในอนุภูมิภาค เนื่องจากไทยเป็นที่ตั้งขององค์กรและสถาบันการศึกษาของไทยและต่างประเทศที่มีชื่อเสียงหลายแห่ง เช่น สถาบันลุ่มน้ำโขง (Mekong Institute) ซึ่งขณะนี้มีสถานะเป็นองค์กรระหว่างประเทศ นอกจากนี้ ไทยจะผลักดันความร่วมมือกับญี่ปุ่นในการเชื่อมโยงโครงสร้างพื้นฐานทางคมนาคมในอนุภูมิภาค โดยเฉพาะ ตามแนว East West Economic Corridor (EWEC) และ Southern Economic Corridor (SEC) รวมทั้งจะเชิญชวนให้ญี่ปุ่นเข้ามามีส่วนร่วมด้านการฝึกอบรมให้แก่ประชาชนในอนุภูมิภาคร่วมกับองค์กรระหว่างประเทศอื่น ๆ ในประเด็นที่เป็นประโยชน์ร่วมกัน อาทิ การอำนวยความสะดวกการผ่านแดน

สำหรับรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ ซึ่งจะเข้าร่วมเดินทางกับคณะนายกรัฐมนตรีด้วยมีกำหนดการเพิ่มเติมโดยจะหารือกับนายฮิโรชิ วาตานาเบะ (Mr. Hiroshi Watanabe) ประธานธนาคารเพื่อความร่วมมือระหว่างประเทศแห่งญี่ปุ่น (Japan Bank for International Cooperation หรือ JBIC) ด้วย

Mekong-Japan เป็นกรอบความร่วมมือที่ริเริ่มโดยญี่ปุ่นเมื่อปี 2551 สมาชิกประกอบด้วยประเทศญี่ปุ่น ไทย พม่า ลาว กัมพูชา และเวียดนาม โดยกรอบความร่วมมือนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อส่งเสริมบทบาทของญี่ปุ่นในฐานะหุ้นส่วนเพื่อการพัฒนาในอนุภูมิภาคลุ่มน้ำโขง ความร่วมมือในกรอบนี้ให้ความสำคัญกับการพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศในอนุภูมิภาคลุ่มน้ำโขง โดยในช่วง 2 ปีที่ผ่านมา ญี่ปุ่นได้จัดสรรงบประมาณจากกองทุน Japan-ASEAN Integration Fund (JAIF) จำนวน 20 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ในการพัฒนาด้านโลจิสติกส์และทรัพยากรมนุษย์เป็นสำคัญ นอกจากนี้ญี่ปุ่นประสงค์จะหารือเกี่ยวกับความร่วมมือในด้านการเมือง ความมั่นคง เศรษฐกิจ วัฒนธรรม และการท่องเที่ยว โดยญี่ปุ่นได้ประกาศให้ปี 2552 นี้ เป็นปี Mekong-Japan Exchange Year เพื่อกระชับความสัมพันธ์อย่างรอบด้านระหว่างญี่ปุ่นกับประเทศในลุ่มน้ำโขง โดยดำเนินกิจกรรมทั้งการเมือง เศรษฐกิจ วัฒนธรรม การแลกเปลี่ยนเยาวชน และการท่องเที่ยว ในส่วนของไทย หน่วยงานภาครัฐ เอกชน และภาควิชาการ รวมทั้งองค์กรต่าง ๆ ทั่วประเทศ ได้ร่วมกับญี่ปุ่นดำเนินโครงการและจัดกิจกรรมรวมกว่า 60 กิจกรรม ที่ผ่านมาได้มีการจัดการประชุมรัฐมนตรีต่างประเทศ 2 ครั้ง โดยครั้งแรกเมื่อเดือนมกราคม 2551 ที่กรุงโตเกียว และครั้งที่สองเมื่อเดือนตุลาคม 2552 ที่จังหวัดเสียมราฐ และได้มีการจัดประชุมรัฐมนตรีเศรษฐกิจ ครั้งที่ 1 เมื่อวันที่ 23 ตุลาคม 2552 ที่ชะอำ หัวหิน

กองการสื่อมวลชน กรมสารนิเทศ กระทรวงการต่างประเทศ โทร. 643-5170 โทรสาร. 643-5169 E-mail : div0704@mfa.go.th--จบ--

-พห-

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ