เมื่อวันที่ 6 พฤศจิกายน 2552 นายกษิต ภิรมย์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ ซึ่งอยู่ระหว่างการเข้าร่วมประชุมผู้นำลุ่มน้ำโขงกับญี่ปุ่น ครั้งที่ 1 ณ นครโตเกียว ประเทศญี่ปุ่น ได้แถลงกับสื่อมวลชนทางโทรศัพท์เกี่ยวกับพัฒนาการความสัมพันธ์ไทย-กัมพูชา สรุปสาระสำคัญ ดังนี้
หลังจากที่กระทรวงการต่างประเทศได้พิจารณาถึงที่มาของบันทึกความเข้าใจระหว่างรัฐบาลไทยกับรัฐบาลกัมพูชาว่าด้วยพื้นที่ที่ไทยและกัมพูชาอ้างสิทธิในไหล่ทวีปทับซ้อนกัน ฉบับวันที่ 18 มิถุนายน 2544 (MOU 2544) ที่จัดทำในสมัยรัฐบาล พ.ต.ท. ดร. ทักษิณ ชินวัตร และได้รับทราบว่า พ.ต.ท. ดร. ทักษิณฯ ได้รับการแต่งตั้งเป็นที่ปรึกษาด้านเศรษฐกิจของรัฐบาลกัมพูชา กระทรวงการต่างประเทศจะเสนอคณะรัฐมนตรีพิจารณาแจ้งการบอกเลิก MOU ฉบับดังกล่าวต่อฝ่ายกัมพูชา ด้วยเหตุผลดังนี้
1. กระทรวงการต่างประเทศเห็นว่า การที่รัฐบาลกัมพูชาแต่งตั้ง พ.ต.ท. ทักษิณฯ เป็นที่ปรึกษาด้านเศรษฐกิจ จะส่งผลกระทบโดยตรงต่อการเจรจาระหว่างไทยและกัมพูชาภายใต้บันทึกความเข้าใจฉบับนี้ เนื่องจาก พ.ต.ท. ทักษิณฯ เป็นผู้มีส่วนเกี่ยวข้องโดยตรงกับการผลักดันให้รัฐบาลไทยในขณะนั้นจัดทำบันทึกความเข้าใจฉบับนี้ และ พ.ต.ท. ทักษิณฯ รับรู้ท่าทีในการเจรจาของฝ่ายไทย ดังนั้น รัฐบาลไทยจึงไม่อาจดำเนินการเจรจากับฝ่ายกัมพูชาบนพื้นฐานของบันทึกความเข้าใจฉบับดังกล่าว
2. นอกจากนี้ กระทรวงการต่างประเทศเห็นว่า เรื่องพื้นที่เขตทางทะเลที่ไทยและกัมพูชาอ้างสิทธิทับซ้อนกันเป็นเรื่องสำคัญต่อผลประโยชน์ของชาติ โดยเฉพาะเมื่อพิจารณาว่าพื้นที่ดังกล่าวเป็นพื้นที่กว่า 26,000 ตารางกิโลเมตรและมีศักยภาพทางทรัพยากรธรรมชาติสูง การเจรจาเรื่องนี้จึงมีผลกระทบต่อเศรษฐกิจและความมั่นคงของประเทศอย่างกว้างขวาง กระทรวงการต่างประเทศจึงเห็นสมควรให้ดำเนินการเรื่องนี้โดยให้ประชาชนมีส่วนร่วมตามแนวทางประชาธิปไตยดังที่ปรากฏในบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบัน
3. การเจรจาภายใต้กรอบของ MOU 2544 ในช่วง 8 ปีที่ผ่านมาไม่มีผลคืบหน้าเป็นรูปธรรมตามวัตถุประสงค์ของ MOU กระทรวงการต่างประเทศจึงเห็นควรให้ทั้งสองประเทศใช้แนวทางการเจรจาอื่นตามหลักของกฎหมายระหว่างประเทศเพื่อให้ได้ทางออกที่เป็นธรรม
กองการสื่อมวลชน กรมสารนิเทศ กระทรวงการต่างประเทศ โทร. 643-5170 โทรสาร. 643-5169 E-mail : div0704@mfa.go.th--จบ--