เมื่อวันที่ 9 พฤศจิกายน 2552 นายชวนนท์ อินทรโกมาลย์สุต เลขานุการรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศได้ตอบคำถามผู้สื่อข่าว กรณีสมเด็จอัคคมหาเสนาบดีเดโช ฮุน เซน นายกรัฐมนตรีกัมพูชา ให้สัมภาษณ์เมื่อวันที่ 8 พฤศจิกายน 2552 พาดพิงประเทศไทยและรัฐบาลไทย สรุปสาระสำคัญได้ ดังนี้
1. การวิพากษ์วิจารณ์การเมืองภายในของไทยและกระบวนการยุติธรรมของไทย
ความเห็นของนายกรัฐมนตรีกัมพูชา ทั้งต่อการเมืองภายในประเทศไทย และต่อกระบวนการยุติธรรมไทยและศาลไทย เป็นการแทรกแซงกิจการภายในของไทยอย่างชัดแจ้งอีกครั้งหนึ่ง ซึ่งตามแนวปฏิบัติของนานาอารยประเทศเป็นสิ่งที่ผู้นำรัฐบาลไม่ควรปฏิบัติต่อมิตรประเทศ รัฐบาลของนายกรัฐมนตรีอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะได้เข้ารับตำแหน่งตามกระบวนการทางรัฐสภาของไทย ถูกต้องตามรัฐธรรมนูญ และกระบวนการยุติธรรมของไทยก็มีมาตรฐาน ฝ่ายตุลาการได้ดำเนินการพิจารณาอรรถคดีไปตามตัวบทกฎหมายและโดยมีอิสระและมีความเป็นวิชาชีพ เป็นกระบวนการที่แม้แต่ พ.ต.ท. ทักษิณ ชินวัตรเองก็เคยให้ความเชื่อถือและเข้าร่วมกระบวนการมาก่อน จนกระทั่งเมื่อเห็นว่าตนจะแพ้คดีจึงได้หนีไปต่างประเทศ ในแง่อุดมคติประชาธิปไตย สังคมไทยกำลังอยู่ในช่วงระยะเวลาการเรียนรู้เพื่อผ่านไปสู่ความเป็นประชาธิปไตยที่สมบูรณ์แบบและมีชีวิตชีวายิ่งขึ้น ในระหว่างกระบวนการพัฒนาทางการเมืองนี้ อาจมีปัญหาเกิดขึ้นได้บ้าง ซึ่งเป็นเรื่องภายในของไทยเองที่ประชาชนไทยเองจะต้องเป็นผู้ร่วมกันแก้ไขปัญหา มิใช่เรื่องที่ผู้นำรัฐบาลต่างประเทศจะเข้ามาวิพากษ์วิจารณ์ นักวิชาการหรือผู้ศึกษาทางรัฐศาสตร์อาจจะสนใจศึกษาหรืออภิปรายในเชิงวิชาการได้ว่า ระบบการเมืองของกัมพูชามีเสรีภาพหรือประชาธิปไตยเพียงใด ซึ่งรัฐบาลไทยไม่ขอวิจารณ์ในเรื่องนี้
2. ความชอบธรรมในการแต่งตั้ง พ.ต.ท. ทักษิณ ชินวัตร เป็นที่ปรึกษาทางเศรษฐกิจ
แม้ว่านายกรัฐมนตรีกัมพูชาจะอ้างว่าฝ่ายกัมพูชามีความชอบธรรมในการตัดสินใจแต่งตั้งดังกล่าว แต่ฝ่ายไทยก็ขอย้ำอีกครั้งหนึ่งว่า การที่ฝ่ายกัมพูชาได้แต่งตั้ง พ.ต.ท. ทักษิณ ชินวัตร เป็นที่ปรึกษาทางเศรษฐกิจของรัฐบาลกัมพูชา และที่ปรึกษาส่วนตัวของนายกรัฐมนตรีกัมพูชา นั้น เป็นการกระทำที่กระทบความรู้สึกของคนไทยทั้งประเทศ เนื่องจาก พ.ต.ท. ทักษิณฯ เป็นนักโทษคดีอาญาตามคำพิพากษาของศาลไทยที่อยู่ระหว่างหลบหนีคดี ในขณะเดียวกันก็ยังมีบทบาททางการเมืองและเป็นต้นเหตุของความวุ่นวายและเหตุการณ์รุนแรงในประเทศไทยช่วงที่ผ่านมา การกระทำดังกล่าวจึงถือเป็นการแทรกแซงกิจการภายในของไทยอย่างชัดเจน และเป็นการนำผลประโยชน์ส่วนบุคคลขึ้นมาอยู่เหนือความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ ซึ่งเป็นเรื่องที่นายกรัฐมนตรีกัมพูชาน่าจะเข้าใจได้ดีเพราะฝ่ายไทยได้อธิบายและสื่อสารไปหลายครั้งแล้ว แต่นายกรัฐมนตรีกัมพูชาก็ยังยืนยันที่จะไม่ยอมเข้าใจ
3. ข้ออ้างเรื่องการ “ปิดพรมแดนไทย-กัมพูชา” และผลกระทบทางเศรษฐกิจ
นายกรัฐมนตรีอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ได้กล่าวไว้อย่างชัดเจนว่า เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นที่ผ่านมา ประเทศไทยและรัฐบาลไทยมิได้เป็นผู้เริ่มต้นก่อน แต่การกระทำของฝ่ายกัมพูชาได้กระทบต่อความรู้สึกของคนไทยอย่างรุนแรง รัฐบาลจึงจำเป็นต้องแสดงท่าทีเพื่อให้ฝ่ายกัมพูชารับทราบความไม่พอใจของฝ่ายไทย รวมทั้งเป็นการรักษาเกียรติและศักดิ์ศรีของไทย ของกระบวนการยุติธรรมของไทย และรักษาผลประโยชน์ของประเทศและประชาชนไทยด้วย อนึ่ง นายกรัฐมนตรีได้กล่าวอย่างชัดเจนว่า การดำเนินการทุกอย่างเป็นการดำเนินการระดับรัฐบาลต่อรัฐบาล โดยจะหลีกเลี่ยงการสร้างความเดือดร้อนให้กับประชาชนของทั้งสองประเทศ
สำหรับข่าวลือเรื่อง “ไทยจะปิดพรมแดน” ก็เป็นความเข้าใจที่คลาดเคลื่อน นายกรัฐมนตรีได้กล่าวยืนยันแล้วว่า ในชั้นนี้จะยังไม่มีการพิจารณาปิดพรมแดนระหว่างไทยกับกัมพูชา ดังนั้นประชาชนของทั้งสองฝ่ายจึงไม่จำเป็นต้องวิตกกังวลต่อผลกระทบทางเศรษฐกิจ แม้เหตุการณ์จะพัฒนาไปอย่างไร รัฐบาลไทยก็จะกระทำทุกวิถีทางที่จะบรรเทาผลกระทบต่อประชาชน ซึ่งแม้แต่ในคำให้สัมภาษณ์ของนายกรัฐมนตรีกัมพูชาเอง ก็ได้แสดงความเห็นด้วยกับแนวทางดังกล่าวว่า ไม่ควรให้กระทบประชาชนทั้งสองฝ่าย ดังนั้นหากต่อไปในอนาคต ฝ่ายรัฐบาลกัมพูชาจะดำเนินมาตรการใดที่จะส่งผลกระทบหรือก่อความเดือดร้อนต่อพี่น้องประชาชนกัมพูชา รวมถึงผู้บริโภคและนักธุรกิจในกัมพูชาเอง โดยเฉพาะบริเวณชายแดน ก็ควรมีการใคร่ครวญอย่างรอบคอบเองด้วย
ส่วนผลกระทบด้านเศรษฐกิจการค้าระหว่างกัน จากการที่สภาพความสัมพันธ์ทวิภาคีเสื่อมลงนั้น แน่นอนว่าไม่เป็นผลดีต่อทั้งสองฝ่าย แต่ก็อาจจะเป็นการด่วนสรุปของนายกรัฐมนตรีกัมพูชาเกินไปว่า ในที่สุดแล้วฝ่ายไทยจะสูญเสียมากกว่า เมื่อประเมินจากขนาดทางเศรษฐกิจ ศักยภาพทางธุรกิจ และตลาดการค้าและธุรกรรมระหว่างประเทศที่ไทยมีอยู่ในขณะนี้ รัฐบาลเชื่อว่าประเทศไทยยังมีปัจจัยพื้นฐานทางเศรษฐกิจที่ดีอยู่มาก การสูญเสียทางเศรษฐกิจหากจะเกิดขึ้นกับฝ่ายใดก็ตาม ไม่ได้เป็นความประสงค์ของรัฐบาลไทย ก็ต้องกลับไปดูว่า ปัญหาในขณะนี้มาจากฝ่ายใด เมื่อนายกรัฐมนตรีกัมพูชาเริ่มต้นสร้างปัญหาเอง ก็ควรพิจารณาแก้ปัญหาเอง หรือมิฉะนั้นก็รับผลที่ติดตามมาจากการกระทำของตนเอง
4. การยกเลิกบันทึกความเข้าใจว่าด้วยพื้นที่ที่ไทยและกัมพูชาอ้างสิทธิในไหล่ทวีปทับซ้อนกัน
ขอย้ำอีกครั้งหนึ่งว่า เมื่อพิจารณาถึงที่มาของบันทึกความเข้าใจระหว่างรัฐบาลไทยกับรัฐบาลกัมพูชาว่าด้วยพื้นที่ที่ไทยและกัมพูชาอ้างสิทธิในไหล่ทวีปทับซ้อนกัน ฉบับวันที่ 18 มิถุนายน 2544 ซึ่งจัดทำในสมัยรัฐบาล พ.ต.ท. ทักษิณฯ ดังนั้น การที่รัฐบาลกัมพูชาแต่งตั้ง พ.ต.ท. ทักษิณฯ เป็นที่ปรึกษาด้านเศรษฐกิจของรัฐบาลกัมพูชา จึงส่งผลกระทบโดยตรงต่อการเจรจาระหว่างทั้งสองประเทศภายใต้บันทึกความเข้าใจฉบับนี้ เนื่องจาก พ.ต.ท. ทักษิณฯ เป็นผู้มีส่วนเกี่ยวข้องโดยตรงกับการผลักดันให้รัฐบาลไทยในขณะนั้นจัดทำบันทึกความเข้าใจฉบับนี้ และรับรู้ท่าทีในการเจรจาตลอดจนข้อมูลของทรัพยากรและผลประโยชน์ที่จะได้รับของฝ่ายไทย ด้วยเหตุข้างต้นรัฐบาลไทยจึงไม่อาจดำเนินการเจรจากับฝ่ายกัมพูชาบนพื้นฐานของบันทึกความเข้าใจฉบับดังกล่าวต่อไปได้
5. ความผิดของ พ.ต.ท. ทักษิณฯ กับการปฏิบัติตามสนธิสัญญาส่งผู้ร้ายข้ามแดน
การระบุว่าเหตุการณ์ปฏิวัติเมื่อปี 2549 นำมาซึ่งการดำเนินคดีต่างๆ ต่อ พ.ต.ท. ทักษิณฯ แล้วนำมาเป็นข้ออ้างว่าคดีที่ พ.ต.ท. ทักษิณฯ ถูกตัดสินให้มีความผิดเป็นคดีที่มีที่มาจากเหตุผลทางการเมือง เป็นการกล่าวอ้างที่ผิดพลาดโดยสิ้นเชิง คดีที่ดินรัชดาฯ และคดีอาญาอื่นๆ ที่อยู่ระหว่างกระบวนการทางกฎหมาย แม้จะเกิดขึ้นภายหลังเหตุการณ์ปฏิวัติแต่มิได้เกี่ยวข้องใดๆ ทั้งสิ้นกับการปฏิวัติ หรือองค์กรที่เกิดขึ้นภายหลังการปฏิวัติตามกล่าวอ้าง อาทิ คดีที่ดินรัชดาฯ ที่ได้มีการตัดสินไปแล้ว มีอัยการสูงสุดเป็นผู้ฟ้องต่อศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง ซึ่งทั้งอัยการและศาลต่างก็เป็นองค์กรอิสระที่ไม่มีความเกี่ยวพันใดๆ กับการปฏิวัติ ดังจะเห็นได้จากการที่ศาลได้พิจารณาคดีและมีคำพิพากษาตัดสินในช่วงรัฐบาลของอดีตนายกรัฐมนตรีสมัคร สุนทรเวช และอดีตนายกรัฐมนตรีสมชาย วงศ์สวัสดิ์ ซึ่งเป็นผู้มีความใกล้ชิดและสนับสนุน พ.ต.ท. ทักษิณฯ
นอกจากที่มาและการดำเนินการต่างๆ ของคดีดังกล่าวจะไม่เกี่ยวข้องกับการปฏิวัติหรือเหตุผลทางการเมืองใดๆ แล้ว ในตัวคดีเองก็เป็นคดีทุจริตซึ่งเป็นคดีอาญา โดยเป็นการกระทำผิดมาตรา 100 (1) วรรค 3 และมาตรา 122 วรรค 1 ของพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ. 2542 ที่ห้ามเจ้าหน้าที่ของรัฐและคู่สมรส มีส่วนได้รับผลประโยชน์ในสัญญาที่ทำกับหน่วยงานของรัฐที่อยู่ภายใต้การดูแลของเจ้าหน้าที่ผู้นั้น
6. การแก้ไขปัญหาปราสาทพระวิหารและข้อพิพาทเขตแดนทางบก
แนวนโยบายของรัฐบาลไทยเพื่อการแก้ไขปัญหาข้อพิพาทเขตแดนทางบกไม่เคยเปลี่ยนแปลง ไทยยึดหลักการแก้ไขปัญหาโดยสันติวิธีและการเจรจาตามหลักกฎหมายระหว่างประเทศมาโดยตลอด และการดำเนินการใดๆ ของไทยก็ต้องเป็นไปตามกระบวนการตามรัฐธรรมนูญของไทย สำหรับกรณีความเห็นของประธานรัฐสภาตามที่นายกรัฐมนตรีกัมพูชาอ้าง เกี่ยวกับสถานะปัจจุบันของบันทึกการประชุม JBC และกรอบการเจรจาที่เกี่ยวข้องนั้น ฝ่ายไทยได้ชี้แจงในที่ประชุมคณะกรรมาธิการร่วมว่าด้วยความร่วมมือทวิภาคี (JC) ไทย-กัมพูชา ครั้งที่ 6 ที่กรุงเทพฯ เมื่อเดือนสิงหาคม 2552 แล้วว่า เป็นความเข้าใจผิดในสาระข้อเท็จจริง โดยปัจจุบันบันทึกผลการประชุม JBC ยังไม่ได้ผ่านการให้ความเห็นชอบของรัฐสภา และรัฐบาลต้องเสนอเรื่องให้รัฐสภาพิจารณาก่อนจะดำเนินการต่อไปได้ ซึ่งเป็นการปฏิบัติตามข้อบังคับของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2550
กองการสื่อมวลชน กรมสารนิเทศ กระทรวงการต่างประเทศ โทร. 643-5170 โทรสาร. 643-5169 E-mail : div0704@mfa.go.th--จบ--