รัฐมนตรีต่างประเทศช่วยกำหนดทิศทางในอนาคตของเอเปค

ข่าวต่างประเทศ Friday November 13, 2009 07:17 —กระทรวงการต่างประเทศ

เมื่อวันพฤหัสฯ ที่ 12 พฤศจิกายน 2552 วันสุดท้ายของการประชุมรัฐมนตรีเอเปค ครั้งที่ 21 ณ สิงคโปร์ นายกษิต ภิรมย์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศได้ร่วมกับรัฐมนตรีเอเปคกำหนดทิศทางในอนาคตของเอเปค สรุปได้ ดังนี้

  • เกี่ยวกับเรื่องวิกฤตเศรษฐกิจโลกและการเตรียมการสำหรับการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลก รัฐมนตรีได้รับรองแผนงานเรื่องการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจแบบมีส่วนร่วม (inclusive growth) ซึ่งมุ่งเน้นการดำเนินงานใน 4 ด้าน คือ 1) การส่งเสริมการพัฒนา SME 2) การส่งเสริมความยืดหยุ่นของตลาดแรงงาน 3) การเสริมสร้างความมั่นคงทางเศรษฐกิจแบบยั่งยืนสำหรับทุกฝ่าย และ 4) การเสริมสร้างโครงข่ายรองรับทางสังคม ทั้งนี้ เอเปคจะยกร่างแผนงานรายปีเรื่อง inclusive growth ในปี 2553
  • เกี่ยวกับเรื่องการสนับสนุนระบบการค้าพหุภาคี รัฐมนตรีรับทราบด้วยความห่วงกังวลถึงปรากฏการณ์ที่สมาชิกเอเปคเริ่มมีการใช้มาตรการกีดกันทางการค้าและมาตรการเยียวยาทางการค้า แม้ว่าสมาชิกเอเปคได้ตกลงร่วมกันที่จะไม่นำมาตรการใหม่ๆ มาใช้ในปี 2552 (standstill)
  • ในเรื่องการเปิดเสรีและการอำนวยความสะดวกด้านการค้าและการลงทุน รัฐมนตรีเอเปคได้รับรองแผนปฏิบัติการว่าด้วยการอำนวยความสะดวกในการทำธุรกิจ (Ease of Doing Business Action Plan) ซึ่งสมาชิกเอเปคมีเป้าหมายร่วมกัน (เป้าหมายรวม) ในการเพิ่มความรวดเร็วและลดค่าใช้จ่ายในการทำธุรกิจลงร้อยละ 25 ภายในปี 2558 และอย่างน้อยร้อยละ 5 ภายในปี 2554 นอกจากนั้น รัฐมนตรีเอเปคได้รับรองแผนงาน/ตารางติดตามงานว่าด้วยการรวมกลุ่มในภูมิภาค (Regional Economic Integration — REI) สำหรับปี 2553-2554
  • รัฐมนตรีเอเปคตระหนักว่าการประเมินผลการบรรลุเป้าหมายโบกอร์ในการเปิดเสรีการค้าและการลงทุนภายในปี 2553 สำหรับสมาชิกกำลังพัฒนาจะเป็นภารกิจหลักของเอเปคในปีหน้า และรับรองแผนงานในการดำเนินการดังกล่าว ในการนี้ ญี่ปุ่นในฐานะเจ้าภาพการประชุมเอเปคปี 2553 จะร่วมกับสำนักเลขาธิการเอเปคจัดทำรายงานการประเมินการปฏิบัติตามพันธกรณีดังกล่าวเพื่อให้การประชุมเจ้าหน้าที่อาวุโสเอเปคครั้งที่ 1/2553 พิจารณา ก่อนเสนอการประชุมรัฐมนตรีการค้าเอเปค การประชุมรัฐมนตรีและผู้นำเอเปคต่อไป
  • เกี่ยวกับเรื่องความร่วมมือทางด้านเศรษฐกิจและวิชาการ (ECOTECH) รัฐมนตรีกษิตฯ ขอบคุณสมาชิกเอเปคที่อุปถัมภ์โครงการความร่วมมือทางด้านเศรษฐกิจและวิชาการ 90 โครงการที่จะดำเนินการในปี 2553 และเห็นว่าโดยที่มีกิจกรรมจำนวนมากและหลากหลาย เอเปคควรจะมีการจัดลำดับความสำคัญ ประสานงาน และมุ่งเน้นผลลัพธ์ที่เป็นรูปธรรมมากยิ่งขึ้น นอกจากนั้น รัฐมนตรีกษิตฯ ได้แนะนำให้เอเปคใช้ประโยชน์จากองค์กร/สถาบันที่มีอยู่ในภูมิภาค สำหรับเจ้าหน้าที่ฝ่ายไทย รัฐมนตรีกษิตฯ ได้ขอให้เจ้าหน้าที่เอเปคแปลผลการศึกษาต่างๆ ในกรอบเอเปคที่อาจเป็นประโยชน์ เผยแพร่ต่อผู้มีส่วนได้ส่วนเสียของไทย
  • เกี่ยวกับเรื่องความมั่นคงของมนุษย์ รัฐมนตรีได้ย้ำถึงความสำคัญที่เอเปคให้กับเรื่องการต่อต้านการก่อการร้าย การค้าที่ปลอดภัย ประเด็นด้านสุขภาพ ความมั่นคงด้านอาหาร การต่อต้านการทุจริต แลการเตรียมการรองรับภัยภิบัติฉุกเฉิน ในโอกาสนี้ รัฐมนตรีกษิตฯ ได้กล่าวถึงประสบการณ์ของไทยในการเป็นอู่ข้าวของโลกซึ่งเสริมสร้างความมั่นคงด้านอาหารในภาพรวม และการทำพลังงานชีวภาพเพื่อทดแทนการนำเข้าน้ำมัน นอกจากนี้ ได้ตั้งข้อสังเกตด้วยว่าเอเปคอาจนำตัวอย่างการคลังสำรองข้าวฉุกเฉินในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (East Asia Emergency Rice Reserve — EAERR) ไปปรับใช้สำหรับโภคภัณท์อื่นในกรอบเอเปค สุดท้าย รัฐมนตรีกษิตฯ ได้เน้นย้ำถึงความมุ่งมั่นที่ประเทศไทยจะขจัดพฤติกรรมการทุจริตให้หมดสิ้นไป โดยไทยพร้อมที่จะเรียนรู้จากประสบการณ์ขงสมาชิกเอเปคอื่นๆ
  • ภายหลังการประชุม รัฐมนตรีต่างประเทศได้หารือวิภาคีกับรัฐมนตรีต่างประเทศของปาปัวนิวกีนี (นาย Samuel Abal) และโคลอมเบีย (นาย Jaime Berm?dez Merizalde) โดยรัฐมนตรีกษิตฯ ได้แสดงความมุ่งมั่นที่จะเร่งรัดให้มีความคืบหน้าในการเจรจาความตกลงคุ้มครองการลงทุนกับปาปัวนิวกีนี และเพิ่มความสัมพันธ์ในด้านอุตสาหกรรมประมงและป่าไม้ สำหรับโคลอมเบีย ซึ่งแสดงความสนใจที่จะเป็นสมาชิกเอเปคเมื่อเอเปคเปิดรับสมาชิกอีกครั้ง รัฐมนตรีกษิตฯ รับในหลักการที่จะพิจารณาด้วยดี

กองการสื่อมวลชน กรมสารนิเทศ กระทรวงการต่างประเทศ โทร. 643-5170 โทรสาร. 643-5169 E-mail : div0704@mfa.go.th--จบ--

-พห-

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ