การประกาศผลผู้ได้รับคัดเลือกเข้ารับพระราชทานรางวัลสมเด็จเจ้าฟ้ามหิดลประจำปี 2552

ข่าวต่างประเทศ Thursday December 3, 2009 15:55 —กระทรวงการต่างประเทศ

เมื่อวันที่ 3 ธันวาคม 2552 มูลนิธิรางวัลสมเด็จเจ้าฟ้ามหิดล ในพระบรมราชูปถัมภ์ จัดพิธีแถลงข่าวการตัดสินผู้ได้รับพระราชทานรางวัลสมเด็จเจ้าฟ้ามหิดล ประจำปี 2552 ณ ห้องสมเด็จพระบรมราชชนก ตึกสยามินทร์ คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล โดยมีผู้ร่วมแถลงข่าว ได้แก่ ศาสตราจารย์คลินิกนายแพทย์ธีรวัฒน์ กุลทนันท์ คณบดีคณะแพทยศาสตร์ ศิริราชพยาบาล ในฐานะรองประธานมูลนิธิรางวัลสมเด็จเจ้าฟ้ามหิดลฯ ศาสตราจารย์นายแพทย์วิจารณ์ พานิช ประธานคณะกรรมการรางวัลนานาชาติและประธานคณะกรรมการที่ปรึกษาทางวิชาการ มูลนิธิรางวัลสมเด็จเจ้าฟ้ามหิดลฯ ศาสตราจารย์คลินิกนายแพทย์สุพัฒน์ วาณิชย์การ เลขาธิการมูลนิธิรางวัลสมเด็จเจ้าฟ้ามหิดลฯ และนางสาววิมล คิดชอบ อธิบดีกรมสารนิเทศ กระทรวงการต่างประเทศ ในฐานะประธานคณะอนุกรรมการประชาสัมพันธ์ มูลนิธิรางวัลสมเด็จเจ้าฟ้ามหิดลฯ พร้อมด้วยนายวิทยา แก้วภราดัย รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุขและนายแดเนียล โรเบิร์ต พรูซ อัครราชทูตสหราชอาณาจักรประจำประเทศไทย

ที่ประชุมคณะกรรมการมูลนิธิรางวัลสมเด็จเจ้าฟ้ามหิดลฯ ซึ่งสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารีทรงเป็นองค์ประธานเมื่อวันที่ 27 พฤศจิกายน 2552 ได้พิจารณาผู้ได้รับการเสนอชื่อเข้ารับพระราชทานรางวัลสมเด็จเจ้าฟ้ามหิดล ประจำปี 2552 จำนวน 66 ราย จาก 35 ประเทศ โดยคณะกรรมการมูลนิธิฯ มีมติตัดสินให้ศาสตราจารย์แอนน์ มิลส์ (Professor Anne Mills) ศาสตราจารย์ด้านนโยบายและเศรษฐศาสตร์สาธารณสุข ภาควิชาสาธารณสุขและนโยบาย London School of Hygiene and Tropical Medicine มหาวิทยาลัยลอนดอนสหราชอาณาจักร เข้ารับพระราชทานรางวัลสมเด็จเจ้าฟ้ามหิดล ประจำปี 2552 สาขาการแพทย์ และนายแพทย์วิวัฒน์ โรจนพิทยากร ผู้แทนองค์การอนามัยโลกประจำประเทศมองโกเลีย อดีตผู้อำนวยการคนแรก ศูนย์ป้องกันและควบคุมโรคเอดส์ กระทรวงสาธารณสุข และนายมีชัย วีระไวทยะ ผู้ก่อตั้งและนายกสมาคมพัฒนาประชากรและชุมชน เข้ารับพระราชทานรางวัลสมเด็จเจ้าฟ้ามหิดล ประจำปี 2552 สาขาการสาธารณสุข

สาขาการแพทย์

ศาสตราจารย์แอนน์ มิลส์ เป็นผู้นำในการนำความรู้ด้านเศรษฐศาสตร์สาธารณสุขและการคลังสุขภาพซึ่งเป็นความรู้ใหม่มาประยุกต์ใช้ในการพัฒนาระบบสุขภาพของโลก โดยอาศัยข้อค้นพบที่ว่า “การลงทุนด้านสุขภาพอย่างมีประสิทธิภาพจะส่งผลต่อการเติบโตทางเศรษฐกิจและความเป็นธรรมในสังคม” ก่อให้เกิดการเคลื่อนไหวทั่วโลกในการลงทุนด้านสุขภาพและการใช้ทรัพยากรที่จำกัดอย่างคุ้มค่าทางเศรษฐศาสตร์อย่างกว้างขวาง นอกจากนี้ ศาสตราจารย์แอนน์ มิลลส์ ยังมีบทบาทอย่างสูงในการสร้างความเข้มแข็งแก่นักวิจัยและเสริมสร้างศักยภาพขององค์กรวิจัยในประเทศกำลังพัฒนาในแถบแอฟริกาและเอเซีย โดยมุ่งเน้นสร้างความเข้มแข็งด้านเศรษฐศาสตร์สาธารณสุข การคลังสุขภาพ การวิจัยระบบและนโยบายสุขภาพ โดยเป็นอาจารย์ที่ปรึกษาวิทยานิพนธ์ และโครงการวิจัยแก่นักศึกษาระดับปริญญาโทและปริญญาเอกมากมายจากหลายประเทศทั่วโลก รวมทั้งประเทศไทย ส่งผลให้เกิดการแพร่ขยายการดำเนินการด้านเศรษฐศาสตร์สาธารณสุขไปทั่วโลก

ผลงานของศาสตราจารย์แอนน์ มิลลส์ ก่อให้เกิดการลงทุนด้านสุขภาพมากกว่า 4 เท่า ในระยะเวลา 15 ปีที่ผ่านมา สุขภาพของมวลมนุษย์ได้รับการยกระดับให้เป็นวาระแห่งการพัฒนาที่สำคัญในระดับประเทศและระดับโลกอัตราการเสียชีวิตของเด็กและคนจนในทวีปแอฟริกาและทวีปเอเชียลดลงอย่างชัดเจนเป็นประโยชน์แก่สุขภาพอนามัยของมวลมนุษย์นับพันล้านคนทั่วโลก

สาขาการสาธารณสุข

นายแพทย์วิวัฒน์ โรจนพิทยากร ขณะรับราชการในตำแหน่งผู้อำนวยการศูนย์ป้องกันและควบคุมโรคติดต่อ เขต 4 จังหวัดราชบุรี เมื่อปี 2532 ได้ริเริ่มโครงการถุงยางอนามัย 100% (100% Condom Use Programme) ขึ้นในจังหวัดราชบุรี โดยการสร้างความเข้าใจถึงความจำเป็นของการป้องกันโรคเอดส์แก่ทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง ทั้งฝ่ายปกครอง ฝ่ายสาธารณสุข ฝ่ายเพศพาณิชย์และหญิงบริการจนสามารถส่งเสริมการใช้ถุงยางอนามัยแบบผูกขาดให้หญิงบริการทั้งจังหวัดปฏิเสธลูกค้าที่ไม่ใช้ถุงยางอนามัย (No Condom — No Sex) ส่งผลให้การติดเชื้อเอดส์ในหญิงบริการลดลงอย่างมาก และสามารถป้องกันการแพร่ระบาดของเชื้อเอดส์ในสังคมได้ นายแพทย์วิวัฒน์ โรจนพิทยากร จึงได้ดำเนินการแพร่ขยายโครงการถุงยางอนามัย 100% ไปยังจังหวัดต่างๆ ทั่วประเทศ ส่งผลให้การมีผู้ป่วยเอดส์ใหม่ลดลงจาก 400,000 ราย ในปี 2534 เหลือน้อยกว่า 14,000 ราย ในปี 2544

นอกจากนี้ นายแพทย์วิวัฒน์ โรจนพิทยากร ยังได้นำโครงการถุงยางอนามัย 100% ไปใช้อย่างแพร่หลายในหลายประเทศ ได้แก่ กัมพูชา พม่า จีน มองโกเลีย ฟิลิปปินส์ เวียดนามและลาว ซึ่งปรากฏผลสำเร็จด้วยดีเช่นกัน องค์กรระหว่างประเทศ เช่น องค์การอนามัยโลก ธนาคารโลก UNAIDS USAIDS ให้การยอมรับว่าโครงการถุงยางอนามัย 100% เป็นวิธีการป้องกันโรคเอดส์ที่ประสบความสำเร็จสูงมาก อีกทั้งเป็นตัวอย่างความสำเร็จของการเปลี่ยนพฤติกรรมอีกด้วย ผลงานถุงยางอนามัย 100% ของนายแพทย์วิวัฒน์ โรจนพิทยากร มีประสิทธิภาพและประสิทธิผลในการป้องกันการแพร่กระจายของโรคเอดส์อย่างมาก ก่อให้เกิดประโยชน์ต่อสุขภาพอนามัยของผู้คนหลายร้อยล้านคนทั่วโลก

นายมีชัย วีระไวทยะ เป็นผู้ก่อตั้งสมาคมวางแผนครอบครัวแห่งประเทศไทย ตั้งแต่ปี 2517 ซึ่งต่อมา ได้พัฒนาเป็น “สมาคมพัฒนาประชากรและชุมชน” (Population and Community Development Association - PDA) ให้ความรู้เรื่องการวางแผนครอบครัวแก่หญิงชนบท สนับสนุนการคุมกำเนิดขั้นพื้นฐานด้วยการใช้ถุงยางอนามัย โดยรณรงค์สื่อสารที่เป็นเอกลักษณ์จนทำให้การใช้ถุงยางอนามัยไม่ใช่สิ่งลึกลับ น่าอับอาย หรือเป็นสิ่งต้องห้ามแต่สามารถกล่าวถึงและใช้งานเป็นของธรรมดาอย่างแพร่หลาย จนกระทั่งชื่อ “มีชัย” เป็นที่รู้กันว่าหมายถึงถุงยางอนามัย

ผลงานของนายมีชัย วีระไวทยะ ได้กระตุ้นให้รัฐบาลและสังคมทั่วไปตระหนักถึงความสำคัญของการใช้ถุงยางอนามัย ซึ่งมีส่วนช่วยควบคุมการแพร่กระจายของโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ด้วย และเมื่อโรคเอดส์ระบาดในประเทศไทยและประเทศต่างๆ ระหว่างปี 2523 - 2533 นายมีชัย วีระไวทยะ ได้มีบทบาทสำคัญในการพัฒนาวิธีการสื่อสารเรื่องโรคเอดส์ในระดับชาติ และการรณรงค์ป้องกันที่มีส่วนสำคัญๆ หลายเรื่อง รวมถึงการสนับสนุนการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมในโครงการถุงยางอนามัย 100% ด้วย เป็นตัวอย่างความสำเร็จของประเทศไทยในการควบคุมการแพร่กระจายของเชื้อเอชไอวีในเวทีระดับโลกอีกด้วย ผลงานการเผยแพร่การใช้ถุงยางอนามัยของนายมีชัย วีระไวทยะ จึงเป็นต้นทางการก่อประโยชน์แก่สุขภาพอนามัยของมวลมนุษย์นับหลายร้อยล้านคนทั่วโลก

มูลนิธิรางวัลสมเด็จเจ้าฟ้ามหิดล ในพระบรมราชูปถัมภ์ก่อตั้งขึ้นในวโรกาสเฉลิมฉลองวันคล้ายวันพระราชสมภพในสมเด็จพระมหิตลาธิเบศร อดุลยเดชวิกรมพระบรมราชชนก ครบ 100 ปี ในวันที่ 1 มกราคม 2535 โดยมีสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ทรงเป็นองค์ประธานมอบรางวัลให้แก่บุคคลหรือองค์กรทั่วโลกที่มีผลงานดีเด่นเป็นประโยชน์ต่อมวลมนุษยชาติ บุคคลหรือสถาบันทั่วไปสามารถเสนอชื่อและผลงานของบุคคลหรือองค์กรให้คณะกรรมการรางวัลนานาชาติมูลนิธิรางวัลสมเด็จเจ้าฟ้ามหิดลฯ คัดเลือกเพื่อเข้ารับพระราชทานรางวัลประจำปี ซึ่งมี 2 รางวัล ได้แก่ รางวัลด้านการแพทย์และด้านการสาธารณสุข โดยแต่ละรางวัลประกอบด้วยเหรียญรางวัล ประกาศนียบัตร และเงินรางวัล รางวัลละ 5,000 เหรียญสหรัฐ ที่ผ่านมา มีบุคคลหรือองค์กรได้รับรางวัลนี้แล้วรวมทั้งสิ้น 51 ราย ในจำนวนนี้ มี 2 ราย ที่ได้รับรางวัลโนเบลในเวลาต่อมา คือ ศาสตราจารย์นายแพทย์ แบรี่ มาร์แชล และศาสตราจารย์เกียรติคุณนายแพทย์ ฮาร์ลด์ ซัวร์ เฮาเซน

กองการสื่อมวลชน กรมสารนิเทศ กระทรวงการต่างประเทศ โทร. 643-5170 โทรสาร. 643-5169 E-mail : div0704@mfa.go.th--จบ--

-พห-

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ