นายกรัฐมนตรีและนายกรัฐมนตรีมาเลเซีย แถลงข่าวร่วมต่อสื่อมวลชน การหารือประจำปี ครั้งที่ 4

ข่าวต่างประเทศ Friday December 11, 2009 14:45 —กระทรวงการต่างประเทศ

แถลงข่าวร่วมต่อสื่อมวลชน การหารือประจำปี ครั้งที่ 4 ระหว่างไทยกับมาเลเซีย วันที่ 8 ธันวาคม 2552

1. การประชุมหารือประจำปี ครั้งที่ 4 ระหว่างราชอาณาจักรไทยกับมาเลเซีย จัดขึ้นที่กรุงเทพฯ เมื่อวันที่ 8 ธันวาคม 2552 โดยมีนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรีแห่งราชอาณาจักไทยและ ดาโต๊ะ ซรี มูฮัมหมัด นาจิบ บิน ตุน อับดุล ราซัก นายกรัฐมนตรีแห่งมาเลเซียเป็นประธานร่วมการประชุม ซึ่งดำเนินไปด้วยบรรยากาศของความเป็นมิตรที่ใกล้ชิด และความเป็นน้ำหนึ่งใจเดียวกัน การประชุมหารือประจำปี ครั้งที่ 4 จัดขึ้นช่วงเดียวกันกับการเยือนไทยอย่างเป็นทางการของนายกรัฐมนตรีแห่งมาเลเซียระหว่างวันที่ 7-9 ธันวาคม 2552

2. ในฐานะมิตรและประเทศเพื่อนบ้านที่มีความใกล้ชิดกัน ทั้งสองฝ่ายเห็นพ้องในการเสริมสร้างและส่งเสริมความร่วมมือในด้านต่างๆ ซึ่งมีผลประโยชน์ร่วมกัน รวมทั้งหารือแนวทางในการขยายความร่วมมือระหว่างกันเพื่อรองรับกับการเปลี่ยนแปลงของสภาพแวดล้อมระหว่างประเทศ นายกรัฐมนตรีของไทยกับมาเลเซียมีความพอใจกับสถานะความสัมพันธ์ระหว่างสองประเทศ ซึ่งเห็นว่ามีลักษณะอบอุ่นและเป็นมิตร ตลอดจนตั้งอยู่บนพื้นฐานของความเคารพซึ่งกันและกันและความไว้เนื้อเชื่อใจ

3. ทั้งสองฝ่ายแสดงความพอใจกับระดับความสัมพันธ์ทางการค้าในปัจจุบัน และหวังว่าจะขยายเพิ่มพูนขึ้น ในการนี้ฝ่ายมาเลเซียได้เชิญให้ประเทศไทยเข้าไปลงทุนมากขึ้นในมาเลเซีย ซึ่งฝ่ายไทยจะส่งคณะผู้แทนทางการค้าและการลงทุนไปเยือนมาเลเซียในต้นปี 2553 เพื่อหารือกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องของมาเลเซีย

4. ทั้งสองฝ่ายเห็นว่า การประชุมหารือประจำปีเป็นโอกาสอันดีในการระดมและแลกเปลี่ยนความคิดเห็นในประเด็นที่ทั้งสองฝ่ายมีผลประโยชน์ร่วมกันอย่างรอบด้าน ในการหารือประจำปี ครั้งที่ 4 ทั้งสองฝ่ายได้หารือเกี่ยวกับความร่วมมือด้านความมั่นคง ซึ่งรวมถึงปัญหาข้ามชายแดนไทยกับมาเลเซีย ความร่วมมือในการแก้ไขความไม่สงบในจังหวัดชายแดนภาคใต้ (จชต.) และความเชื่อมโยงระหว่างไทยกับมาเลเซียและภูมิภาค รวมทั้งความเชื่อมโยงระหว่างประชาชน การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานและความร่วมมือทางเศรษฐกิจ ไทยกับมาเลเซียเห็นว่ากลไกความร่วมมือทวิภาคีที่มีอยู่ อาทิ การประชุมคณะกรรมาธิการร่วมว่าด้วยความร่วมมือทวิภาคีไทยกับมาเลเซีย (JC) และคณะกรรมการว่าด้วยยุทธศาสตร์การพัฒนาร่วมสำหรับพื้นที่ชายแดนไทย-มาเลเซีย (JDS) ซึ่งมีรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศของทั้งสองฝ่ายเป็นประธานร่วม เป็นกลไกที่มีประสิทธิภาพในการหารือประเด็นที่มีความห่วงใยร่วมกัน และอำนวยความสะดวกทางความร่วมมือในด้านต่างๆ

5. ทั้งสองฝ่ายยืนยันในการให้คำมั่นที่จะร่วมมือกันในการแก้ไขปัญหาระหว่างชายแดนไทยกับมาเลเซีย ได้แก่ การต่อต้านการค้ามนุษย์ การลักลอบยาเสพติด และอาวุธ นอกจากนี้ นายกรัฐมนตรีของไทยกับมาเลซียเห็นพ้องในการเสริมสร้างความร่วมมือด้านการต่อต้านการค้ามนุษย์โดยการจัดทำบันทึกความเข้าใจว่าด้วยการต่อต้านการค้ามนุษย์ ภายในปี 2553 สำหรับความร่วมมือด้านความมั่นคงทางทะเล ทั้งสองฝ่ายเห็นพ้องที่จะเสริมสร้างความร่วมมือที่มีอยู่ระหว่างกัน ด้านการลาดตระเวนร่วมเพื่อต่อต้านการค้ามนุษย์ ยาเสพติด และอาวุธ เพื่อสนับสนุนแนวทางการแก้ไขปัญหาโจรสลัดในช่องแคบมะละกา

6. นายกรัฐมนตรีของไทยกับมาเลเซียได้หารือเกี่ยวกับสถานการณ์ในจังหวัดชายแดนภาคใต้ และร่วมกันประนามความรุนแรงโดยบุคคลและกลุ่มก่อความไม่สงบซึ่งประสงค์ร้ายต่อประชาชนผู้บริสุทธิ์ในจังหวัดชายแดนภาคใต้ โดยเฉพาะสตรีและเด็ก มาเลเซียยืนยันการสนับสนุนไทยในการแก้ไขปัญหาความไม่สงบโดยแนวทางสันติวิธี

7. ทั้งสองฝ่ายยืนยันคำมั่นในการเสริมสร้างความเชื่อมโยง รวมถึงความเชื่อมโยงระหว่างประชาชน และการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานระหว่างไทยกับมาเลเซีย รวมทั้งเห็นพ้องว่าการเสริมสร้างความเชื่อมโยงดังกล่าวจะเป็นประโยชน์กับการส่งเสริมประชาคมอาเซียน และการสร้างความเชื่อมโยงระหว่างประชาคมอาเซียนโดยรวม

8. นายกรัฐมนตรีของไทยกับมาเลเซียเห็นพ้องในการสานต่อความร่วมมือภายใต้มาตรการเสริมสร้างความไว้วางใจ (Confidence Building Measures —CBMs) ตามแนวทาง 3Es ได้แก่ การศึกษา (education) การจ้างงาน (employment) และการประกอบการ (entrepreneurship) เพื่อส่งเสริมการพัฒนาทางเศรษฐกิจและสังคมในจังหวัดชายแดนภาคใต้ ซึ่งทั้งสองฝ่ายพอใจกับความคืบหน้าทางความร่วมมือในทั้งสามด้าน ในการนี้ นายกรัฐมนตรีไทยกับมาเลเซียจะเยือนจังหวัดนราธิวาสและรัฐกลันตันในวันที่ 9 ธันวาคม 2552 เพื่อร่วมเป็นประธานในการตั้งชื่อสะพานข้ามแม่น้ำโก-ลกแห่งที่สองซึ่งเชื่อมโยงบ้านบูเก๊ะตากับบูกิตบุหงา เป็นสะพานมิตรภาพ รวมทั้งร่วมสังเกตการณ์ความคืบหน้าของมาตรการเสริมสร้างความไว้วางใจ ได้แก่ เยี่ยมชมโรงเรียนอัตตัร

กียะอิสลามียะห์ นิทรรศการหนึ่งผลิตภัณฑ์หนึ่งตำบล และพบปะกับผู้แทนของประชาชนในท้องถิ่น

9. ไทยกับมาเลเซียแสดงความมุ่งมั่นในการเสร็จสิ้นการเจรจาความตกลงเดินทางข้ามแดน ภายในปี 2553 เพื่ออำนวยความสะดวกด้านการเดินทางข้ามแดนไทยกับมาเลเซีย รวมทั้งสานต่อการหารือเพื่อหาแนวทางในการแก้ไขปัญหาด้านเทคนิคในการเชื่อมโยงฐานข้อมูลบัตรประจำตัวแบบ Smartcard ขอบไทยกับ Mykad ของมาเลเซีย

10. ทั้งสองฝ่ายยินดีที่จะมีการลงนามบันทึกความเข้าใจว่าด้วยความร่วมมือด้านอุดมศึกษาระหว่างกระทรวงศึกษาธิการของไทยกับกระทรวงอุดมศึกษาของมาเลเซีย ภายในช่วงไตรมาสแรกของปี 2553 ซึ่งจะช่วยส่งเสริมการแลกเปลี่ยนทางวิชาการและการวิจัยระหว่างสถาบันอุดมศึกษาของไทยกับมาเลเซีย

11. ทั้งสองฝ่ายเห็นว่าเยาวชนเป็นอนาคตของทั้งประเทศไทยกับมาเลเซีย และกีฬาเป็นภาษาสากล ซึ่งข้ามพรมแดนและเชื้อชาติ ในการนี้ นายกรัฐมนตรีไทยกับมาเลเซียขอให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องเร่งรัดการเจรจาการจัดทำความตกลงว่าด้วยความร่วมมือด้านเยาวชนและกีฬา ภายในปี 2553 อันจะช่วยส่งเสริมมิตรภาพและความปราถนาดีระหว่างเยาวชนของทั้งสองประเทศ และการเสริมสร้างการสร้างความเป็นประชาคมอาเซียน

12. ทั้งสองฝ่ายเห็นพ้องที่จะเร่งรัดโครงการก่อสร้างสะพานมิตรภาพแห่งที่สองและสะพามมิตรภาพแห่งที่สามข้ามแม่น้ำโก-ลกเชื่อมสุไหงโก-ลกกับรันเตาปันจัง และตากใบกับเปิงกาลันกุโบร์ ตามลำดับ ไทยยินดีกับการพัฒนาโครงการเชื่อมโยงทางรถไฟระหว่างสิงคโปร์กับคุมหมิง (Singapore-Kunming Railway Link —SKRL) โดยเฉพาะการก่อสร้างทางคู่เชื่อมโยงอิโปห์ — ปาดังเบซาร์ และระหว่างเซเรมบัน — เกมัส นอกจากนี้ ทั้งสองฝ่ายแสดงความสนใจในการโครงการก่อสร้างอุโมงค์เชื่อมระหว่างจังหวัดสตูลกับรัฐปะลิส ซึ่งจะช่วยอำนวยความสะดวกและส่งเสริมการค้า การลงทุนและการท่องเที่ยวระหว่างไทยกับมาเลเซีย ตลอดจนสนับสนุนแผนการเชื่อมโยงในภูมิภาค

13. ทั้งสองฝ่ายเห็นพ้องที่จะประชุมร่วมกันเพื่อหารือเกี่ยวกับการจัดทำกรอบการอำนวยความสะดวกเรื่องการผ่านแดนสำหรับสินค้าและผู้โดยสารจากไทยผ่านมาเลเซียไปยังสิงคโปร์ และจากมาเลเซียผ่านไทยไปยังกัมพูชา ลาวและพม่าในเดือนกุมภาพันธ์ 2553 โดยให้สอดคล้องกับความตกลงอาเซียนว่าด้วยการอำนวยความสะดวกในการขนส่งสินค้าผ่านแดน ซึ่งจะช่วยส่งเสริมการขนส่งทางบริการอย่างเสรี และการเชื่อมโยงทางเศรษฐกิจระหว่างไทยกับมาเลเซียและประเทศอื่นๆ ในอาเซียน นอกจากนี้ ทั้งสองฝ่ายเห็นพ้องในการจัดการประชุมเจ้าหน้าที่ระดับสูงภายใต้กรอบ JDS เพื่อหารือรายละเอียดเกี่ยวกับโครงการเชื่อมโยงระหว่างแผนพัฒนาเศรษฐกิจภาคใต้ของไทยกับภาคเหนือและภาคตะวันออกของมาเลเซีย (Southern Development Plan (SDP) and Northern Corridor Economic Region (NCER) and East Coast Economic Region (ECER) in Malaysia) ในโอกาสแรก

14. ทั้งสองฝ่ายฝ่ายเห็นถึงศักยภาพและโอกาสอันมหาศาลของอุตสาหกรรมการค้าฮาลาลสำหรับภาคเอกชน โดยเฉพาะผู้ประกอบการชาวมุสลิม นายกรัฐมนตรีไทยกับมาเลเซียตระหนักว่าทั้งสองประเทศควรนำความได้เปรียบเชิงเปรียบเทียบทางการแข่งขันทางเศรษฐกิจเกื้อกูลซึ่งกันและกันในการพัฒนาอุตสาหกรรมฮาลาล อาทิ การนำความเชี่ยวชาญจากองค์กรการพัฒนาอุตสาหกรรมฮาลาลของมาเลเซียด้านการพัฒนาตลาดสินค้าฮาลาลพัฒนาเชื่อมโยงกับความเชี่ยวชาญของเทคนิควิทยาศาสตร์ฮาลาลศูนย์วิทยาศาสตร์ฮาลาล (HSC) จุฬา

15. นายกรัฐมนตรีแห่งมาเลเซียขอบคุณนายกรัฐมนตรีแห่งราชอาณาจักรไทยสำหรับพิธีการและการต้อนรับอย่างดียิ่ง ซึ่งรัฐบาลแห่งราชอาณาจักรไทยได้จัดไว้ให้กับนายกรัฐมนตรีมาเลเซีย

กองการสื่อมวลชน กรมสารนิเทศ กระทรวงการต่างประเทศ โทร. 643-5170 โทรสาร. 643-5169 E-mail : div0704@mfa.go.th--จบ--

-พห-

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ