กระทรวงการต่างประเทศร่วมฉลองวันสิทธิมนุษยชน ในวันที่ 10 ธันวาคม 2552

ข่าวต่างประเทศ Wednesday December 16, 2009 07:21 —กระทรวงการต่างประเทศ

กระทรวงการต่างประเทศ ร่วมกับประชาคมโลกในการฉลองวันสิทธิมนุษยชนสากล ในวันที่ 10 ธันวาคม 2552 เพื่อระลึกถึงการครบรอบ 61 ปี ของการรับรองปฏิญญาสากลว่าด้วยสิทธิมนุษยชน ซึ่งถือเป็นเอกสารประวัติศาสตร์ในการวางรากฐานด้านสิทธิมนุษยชนระหว่างประเทศฉบับแรกของโลก และเป็นพื้นฐานของกฎหมายระหว่างประเทศด้านสิทธิมนุษยชทุกฉบับที่มีอยู่ในปัจจุบัน ทั้งนี้ ไทยเป็นหนึ่งใน 48 ประเทศที่ลงคะแนนเสียงร่วมรับรองปฏิญญาดังกล่าวในการประชุมสมัชชาสหประชาชาติสมัยสามัญ สมัยที่ 3 เมื่อวันที่ 10 ธันวาคม 2491 (ค.ศ. 1948) ที่กรุงปารีส

ในการร่วมฉลองวันสิทธิมนุษยชนในปี 2552 กระทรวงการต่างประเทศได้แจกจ่ายหนังสือปฏิญญาสากลว่าด้วยสิทธิมนุษยชน ฉบับเด็กและเยาวชน ให้กับห้องสมุดของโรงเรียนในโครงการยุวทูตความดีจำนวน 2,000 แห่ง กระทรวงการต่างประเทศได้จัดทำหนังสือดังกล่าวขึ้น เนื่องในโอกาสการฉลองครบรอบ 60 ปี ปฏิญญาสากลฯ ในปี 2551 โดยได้ปรับปรุงคำแปลของปฏิญญาฯ ให้เป็นภาษาไทยที่เข้าใจง่ายสำหรับเด็กพร้อมมีภาพประกอบ โดยมุ่งหวังให้โรงเรียนได้นำไปใช้เป็นสื่อการเรียนการสอนด้านสิทธิมนุษยชนให้กับเด็กนักเรียนเพื่อให้ตระหนักถึงการปกป้องสิทธิขั้นพื้นฐานของตนเอง และการเคารพสิทธิของผู้อื่น ซึ่งเป็นพื้นฐานสำคัญของความสงบสุขภายในสังคม นอกจากนี้ ในการประชุมเต็มคณะของสมัชชาสหประชาชาติ สมัยที่ 64 ในโอกาสวันสิทธิมนุษยชน ณ นครนิวยอร์ก เอกอัครราชทูต ผู้แทนถาวรไทย ได้เป็นหนึ่งในผู้กล่าวถ้อยแถลง 8 ประเทศ เพื่อแสดงถึงความสนใจและการดำเนินการเรื่องสิทธิมนุษยชนอย่างจริงจังของไทย

ในปีนี้ สหประชาชาติได้ฉลองวันสิทธิมนุษยชนภายใต้หัวข้อ “ยอมรับความแตกต่าง และหยุดการเลือกประติบัติ” เนื่องจากการเลือกประติบัติเป็นบ่อเกิดของความไม่ไว้เนื้อเชื่อใจ ซึ่งจะนำไปสู่การแตกแยกและการต่อสู้ในที่สุด ประเทศไทยได้ให้ความสำคัญกับหลักการของการไม่เลือกปฏิบัติโดยได้เข้าเป็นภาคีอนุสัญญาว่าด้วยการขจัดการเลือกประติบัติทางเชื้อชาติในทุกรูปแบบเมื่อปี พ.ศ. 2546 และตราสารระหว่างประเทศด้านสิทธิมนุษยชนฉบับอื่นๆ รวม 7 ฉบับ ซึ่งทุกฉบับล้วนแต่ให้ความสำคัญกับหลักการของการไม่เลือกประติบัติทั้งสิ้น

ในช่วง 61 ปีที่ผ่านมา ประเทศไทยได้มีพัฒนาการด้านการส่งเสริมและคุ้มครองสิทธิมนุษยชนตามแนวทางของปฏิญญาสากลว่าด้วยสิทธิมนุษยชน และการปฏิบัติตามพันธกรณีของตราสารด้านสิทธิมนุษยชนที่ประเทศไทยเป็นภาคีก้าวหน้าขึ้นตามลำดับ ดังจะเห็นได้จากการบรรจุสิทธิขั้นพื้นฐานของปฏิญญาสากลฯ ไว้ในรัฐธรรมนูญไทย ซึ่งให้ความสำคัญกับศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ และการคุ้มครองสิทธิ เสรีภาพ และความเสมอภาคของบุคคลโดยไม่เลือกปฏิบัติ อีกทั้ง ยังได้ออกกฎหมายหลายฉบับที่ขจัดการเลือกประติบัติต่อสตรี เด็ก และผู้พิการ รวมทั้งกลุ่มชายขอบอื่นๆ เพื่อให้สอดคล้องกับเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญ และได้พยายามให้การบังคับใช้กฎหมายเกิดประสิทธิภาพสูงสุด

ในโอกาสที่รัฐบาลไทยชุดปัจจุบันได้ให้ความสำคัญในเรื่องสิทธิมนุษยชน ซึ่งเป็นวาระสำคัญของรัฐบาล และนโยบายการต่างประเทศของไทยก็ให้ความสำคัญกับการมีบทบาทร่วมกับประชาคมโลกในเรื่องการกำหนดบรรทัดฐานระหว่างประเทศในด้านการส่งเสริมและคุ้มครองค่านิยมประชาธิปไตย สิทธิมนุษยชน และมนุษยธรรม ไทยจึงได้ประกาศสมัครเป็นสมาชิกคณะมนตรีสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติในระหว่างปี 2553- 2556 เพื่อแสดงให้เห็นว่าไทยมีความพร้อมที่จะเข้ามาร่วมรับผิดชอบในการส่งเสริมและคุ้มครองสิทธิมนุษยชนกับประชาคมโลก โดยเอกสารประกอบการสมัครของไทยได้เน้นการขจัดการเลือกประติบัติต่อสตรี เด็ก ผู้พิการในทุกรูปแบบทั้งในระดับประเทศ ภูมิภาค และระหว่างประเทศ และเพื่อให้เป็นไปตามเจตนารมณ์ของปฏิญญาสากลว่าด้วยสิทธิมนุษยชนที่กล่าวไว้ว่ามนุษย์ทุกคนเกิดมามีสิทธิและศักดิ์ศรีที่เท่าเทียมกัน

กองการสื่อมวลชน กรมสารนิเทศ กระทรวงการต่างประเทศ โทร. 643-5170 โทรสาร. 643-5169 E-mail : div0704@mfa.go.th--จบ--

-พห-

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ