ไทยเห็นว่าประชาคมระหว่างประเทศไม่ควรด่วนตัดสินสถานการณ์ของชาวม้งลาว

ข่าวต่างประเทศ Friday January 15, 2010 11:19 —กระทรวงการต่างประเทศ

เมื่อวานนี้(14 มกราคม 2553) นางสาววิมล คิดชอบ อธิบดีกรมสารนิเทศและโฆษกกระทรวงการต่างประเทศ ได้ตอบคำถามผู้สื่อข่าวเกี่ยวกับบทความเรื่องการส่งกลับผู้ลักลอบเข้าเมืองชาวม้งลาวไปยังสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาวของนายอีริค จอห์น เอกอัครราชทูตสหรัฐอเมริกาประจำประเทศไทย ซึ่งตีพิมพ์ในหนังสือพิมพ์บางกอกโพสต์ว่า ประเทศไทยเข้าใจข้อห่วงกังวลของรัฐบาลสหรัฐฯ ในเรื่องนี้

ต่อคำถามว่าทางการไทยรู้สึกผิดหวังหรือไม่กับท่าทีของสหรัฐฯ โฆษกกระทรวงการต่างประเทศกล่าวว่า สหรัฐฯ น่าจะเข้าใจสถานการณ์ที่เป็นจริงและนัยของพัฒนาการที่ดำเนินอยู่ เนื่องจากไทยและสหรัฐฯ ได้ร่วมมือและหารือกันมาอย่างต่อเนื่องในระดับต่างๆ ตลอดหลายปีที่ผ่านมา ไม่ใช่แค่เพียงไม่กี่เดือนมานี้ นอกจากนี้ ทั้งสองประเทศยังเป็นหุ้นส่วนที่ใกล้ชิดในหลากหลายประเด็นที่มีความกังวลร่วมกันด้วย

โฆษกกระทรวงการต่างประเทศกล่าวต่อว่า สิ่งที่น่ากังวลก็คือ บทความดังกล่าวนำเสนอเพียงด้านเดียวของสถานการณ์ทั้งหมดและด่วนตัดสินพัฒนาการที่อาจเกิดขึ้นในอนาคต พร้อมย้ำว่า “ประเทศไทยยึดมั่นในครรลองปฏิบัติของเราในด้านมนุษยธรรมและไม่เคยละทิ้งหลักการมนุษยธรรม” ทั้งนี้ ในช่วงหลายทศวรรษที่ผ่านมา ประเทศไทยให้ที่พักพิงแก่บุคคลที่หนีภัยการสู้รบหรือการประหัตประหารหลายล้านคน และปัจจุบันไทยก็ยังคงให้ที่พักพิงแก่ผู้หนีภัยการสู้รบจากพม่ากว่า 100,000 คน ซึ่งเป็นสถานการณ์ที่ยืดเยื้อ

ภายหลังจากที่สหรัฐฯ รับชาวม้งลาวกลุ่มใหญ่จากสำนักสงฆ์ถ้ำกระบอกไปตั้งถิ่นฐานเมื่อปี 2546-2547 เป็นที่ยอมรับกันโดยทั่วไปว่าสถานการณ์ในลาวได้เปลี่ยนแปลงไปมากแล้ว และความขัดแย้งในอินโดจีนก็ได้ปิดฉากไปแล้วกว่าสามสิบปี อย่างไรก็ดี ชาวม้งลาวยังคงลักลอบเข้ามายังประเทศไทยด้วยความหวังที่จะไปแสวงหาโอกาสในประเทศที่สาม โดยบางส่วนถูกล่อลวงโดยขบวนการลักลอบขนคนเข้าเมืองและบุคคลฉ้อฉลบางคนในชุมชนชาวม้ง ทั้งนี้ แม้ว่าผู้ลักลอบเข้าเมืองชาวม้งลาวเหล่านี้จะมีสถานะที่ขัดต่อกฎหมายไทย แต่ประเทศไทยก็ได้ให้ที่พักพิงและร่วมมือกับองค์กรเอกชนและหุ้นส่วนด้านมนุษยธรรมเพื่อให้มีการให้ความช่วยเหลือขั้นพื้นฐาน ขณะเดียวกัน หน่วยงานของไทยก็มีการหารือกับฝ่ายต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง รวมถึงสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว สหรัฐฯ ประเทศอื่นๆ ที่สนใจและสำนักงานข้าหลวงใหญ่ผู้ลี้ภัยแห่งสหประชาชาติ (UNHCR) เพื่อหาแนวทางแก้ไขปัญหาในระยะยาวให้แก่ชาวม้งลาวที่อยู่ในประเทศไทย อย่างไรก็ดี เนื่องจากผู้ลักลอบเข้าเมืองชาวม้งเหล่านี้มีเป็นจำนวนมาก และประเทศที่สามไม่มีนโยบายรับชาวม้งลาวไปตั้งถิ่นฐานเป็นกลุ่มใหญ่อีกต่อไป ไทยจึงจำเป็นต้องแสวงหาความร่วมมือกับฝ่ายลาวเพื่อหาทางแก้ปัญหาร่วมกัน

การส่งกลับผู้ลักลอบเข้าเมืองชาวม้งลาวเมื่อวันที่ 28 ธันวาคม 2552 ดำเนินไปด้วยความปลอดภัยและอย่างเป็นระเบียบเรียบร้อยภายหลังจากที่รัฐบาลลาวได้ให้ความมั่นใจแก่รัฐบาลไทยในทุกระดับว่าจะไม่เอาผิดแก่ชาวม้งลาวทุกคนที่เดินทางกลับ และจะอำนวยความสะดวกในการพิจารณาคำขอเดินทางไปยังจุดหมายที่ประสงค์ และประเทศที่สามที่ประสงค์จะขอรับชาวม้งลาวบางคนไปตั้งถิ่นฐานสามารถที่จะหารือรายละเอียดกับรัฐบาลลาวได้โดยตรง

โฆษกกระทรวงการต่างประเทศกล่าวว่า “ที่สำคัญคือ บทความนี้ไม่ได้กล่าวถึงคำมั่นที่รัฐบาลลาวได้ให้ไว้ ไทยเคารพในท่าทีและคำมั่นที่รัฐบาลลาวได้ให้ไว้และไม่มีเหตุผลอันใดที่จะตั้งคำถามต่อประเทศอธิปไตยที่เป็นเพื่อนบ้านและเป็นมิตร ไทยเคารพตามพันธกรณีในระดับทวิภาคีและเชื่อมั่นว่าลาวก็จะทำอย่างนั้นเช่นกัน” และเพิ่มเติมด้วยว่าในช่วงปี 2551-2552 นั้น ทางการไทยได้อำนวยความสะดวกการส่งกลับผู้ลักลอบเข้าเมืองชาวม้งลาวกว่า 3,200 คน รวม 19 ครั้ง และไม่ปรากฏว่ามีรายงานว่าชาวม้งลาวที่เดินทางกลับประเทศไปแล้วเหล่านี้ได้รับภัยอันตรายหรือมีปัญหาใดๆ เช่นเดียวกับกลุ่มที่เพิ่งเดินทางกลับลาวไปซึ่งก็ไม่ปรากฏรายงานว่าประสบความยากลำบากใดๆ

โฆษกกระทรวงการต่างประเทศกล่าวต่อไปว่า “เมื่อวันที่ 7-9 มกราคม 2553 รัฐบาลลาวได้อำนวยความสะดวกให้คณะสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรของสหรัฐฯ เดินทางเยี่ยมบ้านผาหลักในจังหวัดเวียงจันทน์ซึ่งเป็นสถานที่ที่ลาวได้จัดให้ชาวม้งลาวที่เดินทางกลับจำนวนหนึ่งไปตั้งถิ่นฐาน ซึ่งนายเอนิ ฟาเลโอมาเวกา (Eni Faleomavaega) ประธานคณะอนุกรรมาธิการว่าด้วยกิจการเอเชีย แปซิฟิกและสิ่งแวดล้อมโลก คณะกรรมาธิการด้านการต่างประเทศ สภาผู้แทนราษฎรสหรัฐฯ ได้กล่าวระหว่างการแถลงข่าวที่เวียงจันทน์ว่า ไม่ปรากฏว่ามีสิ่งบ่งชี้ใดๆ ว่ามีการเลือกประติบัติ รังควาน หรือการปฏิบัติใดๆ ในทางที่ไม่ถูกต้องต่อชาวบ้านที่บ้านผาหลัก” การเยือนรวมทั้งคำกล่าวของสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรสหรัฐฯ ดังกล่าวน่าจะช่วยบรรเทาความกังวลเกี่ยวกับความปลอดภัยและการเข้าถึงชาวม้งลาวที่เดินทางกลับไปจากประเทศไทยได้

โฆษกกระทรวงการต่างประเทศกล่าวด้วยว่า กระทรวงการต่างประเทศได้แจ้งให้สถานเอกอัครราชทูตสหรัฐฯ ทราบถึงความผิดหวังต่อบทความของเอกอัครราชทูตสหรัฐฯ แล้ว ทั้งนี้ ในส่วนของไทยเห็นว่าทั้งไทยและสหรัฐฯ ตลอดจนชาวม้งลาวในต่างประเทศ น่าจะร่วมมือกันในการส่งเสริมการพัฒนาประเทศของลาวและสนับสนุนการปรองดองในลาว ซึ่งจะเป็นการช่วยแก้ไขประเด็นปัญหาเกี่ยวกับชาวม้งลาวได้อย่างยั่งยืน

กองการสื่อมวลชน กรมสารนิเทศ กระทรวงการต่างประเทศ โทร. 643-5170 โทรสาร. 643-5169 E-mail : div0704@mfa.go.th--จบ--

-พห-

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ