องค์การภาคประชาสังคมต่างประเทศยังคงมองข้ามพัฒนาการด้านสิทธิมนุษยชนของไทย

ข่าวต่างประเทศ Monday January 25, 2010 13:28 —กระทรวงการต่างประเทศ

ตามที่สื่อมวลชนได้สนใจสอบถามเกี่ยวกับรายงานประจำปีขององค์การภาคประชาสังคมต่างประเทศ คือ องค์การ Human Rights Watch (HRW) ซึ่งมีการกล่าวถึงสถานการณ์ด้านมนุษยชนของไทยเป็นบทหนึ่งของรายงาน World Report 2010 นั้น นางสาววิมล คิดชอบ อธิบดีกรมสารนิเทศและโฆษกกระทรวงการต่างประเทศกล่าวว่า รายงานดังกล่าวเป็นเพียงฉบับหนึ่งในบรรดารายงานขององค์กรด้านสิทธิมนุษยชนต่างๆ จำนวนมาก และในรายงานฉบับนี้เองไทยก็เป็นเพียงหนึ่งในกว่า 90 ประเทศทั่วโลกที่ถูกกล่าวพาดพิง

ทั้งนี้ โฆษกกระทรวงการต่างประเทศได้ตั้งข้อสังเกตว่า เมื่อพิจารณาจากข่าวสารนิเทศของ HRW ที่ได้เผยแพร่พร้อมรายงานดังกล่าว เอ็นจีโอกลุ่มนี้ให้ความสนใจเฉพาะด้านปัญหาการละเมิดสิทธิมนุษยชนเท่านั้น ซึ่งแม้จะเป็นที่เข้าใจได้ แต่ข่าวสารนิเทศและเนื้อหาส่วนใหญ่ของรายงานเป็นการกล่าวถึงเหตุการณ์ต่างๆ ที่ไม่เกี่ยวข้องกันโดยมองทุกเรื่องอย่างผิวเผิน และมิได้คำนึงถึงข้อเท็จจริงต่างๆ และพัฒนาการที่เป็นบวกจำนวนมากในช่วงปีที่ผ่านมา เป็นผลให้รายงานดังกล่าววาดภาพที่ไม่สมดุลเกี่ยวกับสถานการณ์สิทธิมนุษยชนในไทย ซึ่งทำให้ผู้อ่านมีความเข้าใจที่ไม่ถูกต้องว่าไทยกำลังก้าวถอยหลังในการปกป้องและส่งเสริมสิทธิมนุษยชน

โฆษกกระทรวงการต่างประเทศได้กล่าวถึงพัฒนาการต่างๆ ที่ไทยประสบผลสำเร็จในรอบปีที่ผ่านมาในการปกป้องและส่งเสริมสิทธิมนุษยชนตลอดจนสวัสดิการของประชาชน โดยเฉพาะในกลุ่มเสี่ยงที่มีความจำเป็นต้องได้รับการปกป้อง ผ่านโครงการริเริ่มต่างๆ ของรัฐบาล เช่น โครงการเรียนฟรี 15 ปี และสวัสดิการสำหรับผู้สูงอายุและผู้พิการ การป้องกันความรุนแรงต่อเด็กและสตรี และการลงทะเบียนบุตรแรงงานต่างด้าวเพื่อให้เด็กเหล่านี้ได้อยู่กับบิดามารดาในประเทศไทย

ขณะเดียวกัน ไทยในฐานะประธานอาเซียนยังสามารถผลักดันข้อริเริ่มต่างๆ จำนวนมากในอันที่จะส่งเสริมหลักการของสิทธิมนุษยชนในระดับภูมิภาค อาทิ การจัดตั้งคณะกรรมาธิการระหว่างรัฐบาลอาเซียนว่าด้วยสิทธิมนุษยชน และการจัดการพบปะระหว่างผู้นำอาเซียนกับผู้แทนภาคประชาสังคม ซึ่งทั้งหมดนี้มีส่วนช่วยสำคัญในการทำให้อาเซียนเป็นองค์กรที่มีประชาชนเป็นศูนย์กลางตามที่ไทยได้ตั้งวิสัยทัศน์ไว้สำหรับการเป็นประธานอาเซียนของไทย

นอกจากนี้ โฆษกกระทรวงการต่างประเทศได้กล่าวถึงประเด็นเฉพาะบางประเด็นที่รายงานฉบับดังกล่าวได้พาดพิงไทยอย่างเกินจริง เช่น การใช้คำว่า “ปราบปราม” (“crack down”) เมื่อกล่าวถึงการชุมนุมต่างๆ ทางการเมือง ซึ่งในเรื่องนี้นั้น แม้ว่าในช่วงปีที่ผ่านมาประเทศไทยจะประสบปัญหาความขัดแย้งทางการเมือง แต่นายกรัฐมนตรีอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ได้กล่าวไว้อย่างชัดเจนว่า การเปิดให้ประชาชนชาวไทยทุกคนใช้สิทธิตามรัฐธรรมนูญซึ่งรวมถึงการแสดงความคิดเห็นทางการเมืองและการชุมนุมโดยสงบ เป็นหลักการสำคัญที่รัฐบาลยึดมั่นมาโดยตลอด ทั้งนี้ ในการรักษาความสงบเรียบร้อย เจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องจะใช้ความอดกลั้นและหลีกเลี่ยงการใช้กำลังอย่างถึงที่สุด และแม้เมื่อรัฐบาลมีความจำเป็นต้องประกาศใช้ พ.ร.บ. ฉุกเฉินฯ เพื่อควบคุมสถานการณ์จลาจลเมื่อเดือนเมษายนที่ผ่านมา เจ้าหน้าที่ก็ได้ใช้ความระมัดระวังอย่างยิ่งยวดที่จะไม่ให้เกิดความสูญเสียต่อชีวิตของทุกๆ ฝ่าย โดยกระสุนจริงถูกใช้ในการยิงขึ้นฟ้าเพื่อเตือนให้ผู้ชุมนุมถอยจากบริเวณที่เกิดจลาจล และกระสุนปลอมจะถูกใช้เฉพาะในกรณีที่ผู้ชุมนุมเคลื่อนขบวนเข้าหาเจ้าหน้าที่เท่านั้น ทั้งนี้ ผู้กระทำผิดมิว่าจะเป็นกลุ่มการเมืองใดหรือกรณีใดก็ตาม ก็ถูกดำเนินคดีตามกฎหมายโดยไม่มีการแบ่งแยกหรือใช้สองมาตรฐาน

สำหรับกรณีของจังหวัดชายแดนภาคใต้ รัฐบาลได้ดำเนินการเพื่อให้การใช้กฎหมายพิเศษเป็นไปโดยโปร่งใส และได้ปรับปรุงกระบวนการต่างๆ เพื่อให้สามารถหาผู้รับผิดชอบในกรณีต่างๆ ที่มีการใช้อำนาจพิเศษโดยเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องได้ นอกจากนี้ ยังได้มีการปรับปรุงระบบการรับเรื่องร้องทุกข์เพื่อให้สามารถรับมือกับปัญหาต่างๆ ได้อย่างเป็นระบบ และการขยายระยะเวลาการประกาศใช้ พ.ร.บ. ฉุกเฉินในแต่ละครั้งจะต้องผ่านการพิจารณาประเมินอย่างละเอียดรอบคอบ ขณะเดียวกัน รัฐบาลได้เริ่มทดลองนำ พ.ร.บ. ความมั่นคงฯ ซึ่งมีความเข้มงวดน้อยกว่า มาใช้แทนกฎอัยการศึกในพื้นที่ 4 อำเภอของสงขลา ทั้งนี้ โฆษกกระทรวงการต่างประเทศได้ตั้งข้อสังเกตว่า แม้เนื้อหาของรายงานฉบับดังกล่าวของ HRW เองจะยอมรับความคืบหน้าในด้านการส่งเสริมความโปร่งใสของการบังคับใช้กฎหมายในจังหวัดชายแดนภาคใต้ แต่ข่าวสารนิเทศของHRW กลับสื่อความหมายไปในทิศทางที่ตรงกันข้ามอย่างสิ้นเชิง

โฆษกกระทรวงการต่างประเทศยังได้ยืนยันอย่างหนักแน่นด้วยว่า ไทยไม่ยินยอมให้ผู้กระทำผิดที่เป็นเจ้าหน้าที่ของรัฐไม่ต้องรับโทษ ซึ่งเรื่องนี้ ฝ่ายต่างๆ ไม่ควรตั้งข้อสงสัยต่อความมุ่งมั่นของรัฐบาลไทยในการดำเนินการเพื่อให้ได้มาซึ่งความยุติธรรม ถึงแม้ว่ากระบวนการทางกฎหมายจะใช้เวลานานบ้าง ซึ่งเป็นเรื่องปกติและเป็นเช่นเดียวกับในประเทศอื่นๆ สำหรับเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นที่มัสยิดอัลฟุรกอน จ. นราธิวาส รัฐบาลได้ประณามการกระทำดังกล่าว และได้สั่งการให้เจ้าหน้าที่ที่รับผิดชอบเร่งดำเนินการสืบสวนโดยไม่ด่วนสรุปว่าเป็นการลงมือของกลุ่มใด ซึ่งเมื่อวันที่ 14 มกราคม 2553 ที่ผ่านมา ผู้ต้องสงสัยรายสำคัญก็ได้เข้ามอบตัวกับเจ้าหน้าที่แล้ว ขณะเดียวกัน คดีการเสียชีวิตของนายยะผา กาเซ็ง ก็ได้ถูกส่งต่อให้คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติแล้ว และนายทหารที่เกี่ยวข้องก็ได้รับการลงโทษทางวินัยไปแล้วในเบื้องต้น

สำหรับเรื่องของกฎหมายหมิ่นพระบรมเดชานุภาพที่ถูกอ้างถึงนั้น รัฐบาลตระหนักดีถึงปัญหาในการบังคับใช้กฎหมายดังกล่าว โดยรัฐบาลได้จัดตั้งกลไกขึ้นใหม่ในรูปของคณะกรรมการที่ปรึกษาเพื่อการนี้โดยเฉพาะ เพื่อป้องกันมิให้มีการตีความกฎหมายนี้ตามอำเภอใจ หรือใช้กฎหมายนี้เป็นเครื่องมือในทางใดทางหนึ่ง ซึ่งคณะกรรมการที่จัดตั้งขึ้นมีหน้าที่ให้คำปรึกษาแก่หน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อให้เกิดความชัดเจนในแง่ของการบังคับใช้กฎหมาย ซึ่งยังมีความจำเป็นที่จะต้องมีอยู่ เพื่อพิทักษ์สถาบันสำคัญของชาติที่ไม่สามารถป้องกันตนเองได้โดยวิธีการอื่น และป้องกันมิให้สถาบันถูกดึงเข้าสู่วังวนความขัดแย้งของประชาชน

ประเด็นสุดท้าย การส่งกลับชาวม้งลาว รายงานของ HRW ไม่ได้ให้ความเป็นธรรมแก่ไทย โดยเฉพาะไม่ได้คำนึงการให้ความช่วยเหลือด้านมนุษยธรรมที่ไทยได้ดำเนินมาอย่างยาวนาน และความรุนแรงของปัญหาผู้ลักลอบเข้าเมืองโดยผิดกฎหมายที่ไทยต้องรับภาระมาโดยตลอด ปัจจุบัน ไทยยังคงให้ที่พักพิงแก่ผู้หนีภัยสู้รบชาวพม่ากว่า 100,000 คน ที่ตกอยู่ในสถานการณ์ที่ยืดเยื้อ และในขณะที่ไทยต้องรับภาระที่หนักหน่วงนี้ ไทยก็ยังคงร่วมมือกับประชาคมระหว่างประเทศอย่างใกล้ชิดมาโดยตลอดเพื่อหาทางออกสำหรับผู้ที่ต้องการความช่วยเหลืออย่างแท้จริง

แม้ว่าชาวม้งลาวเหล่านี้จะอยู่ในฐานะผู้ลักลอบเข้าเมืองโดยผิดกฎหมายไทย แต่ไทยก็ได้ให้ที่พักพิงและร่วมมือกับองค์กรระหว่างประเทศตลอดจนเอ็นจีโอต่างๆ ในการให้ความช่วยเหลือด้านมนุษยธรรมมาอย่างไม่หยุดยั้ง และในการหาทางออกระยะยาวที่ยั่งยืน ไทยได้รอจนกระทั่งได้รับความมั่นใจว่าชาวม้งลาวเหล่านี้จะได้รับความปลอดภัยและสามารถเดินทางต่อไปยังประเทศที่สามได้ ก่อนที่ไทยจะตัดสินใจดำเนินการส่งกลับดังกล่าว ซึ่งการดำเนินการส่งกลับเมื่อวันที่ 28 ธันวาคม 2552 ที่ผ่านมา ก็ได้ดำเนินไปด้วยความเรียบร้อย เป็นระบบ และปลอดภัย บนพื้นฐานของการเคารพหลักสิทธิมนุษยชนและหลักการด้านมนุษยธรรม โดยมิได้มีเหตุการณ์ใดๆ เกิดขึ้นระหว่างการดำเนินการ ขณะเดียวกัน สิ่งที่สำคัญที่สุดคือ การดำเนินการทั้งหมดได้รับความเข้าใจและความร่วมมือเป็นอย่างดีจากกลุ่มชาวม้งลาว โดยไม่ปรากฏข่าวว่าชาวม้งลาวกลุ่มนี้ หรือกลุ่มที่ได้เดินทางกลับไปก่อนในช่วงรอบปีที่ผ่านมา ประสบความยุ่งยากลำบากใดๆ และด้วยคำมั่นสัญญาของรัฐบาลลาว ประเทศที่สามอื่นๆ ก็ยังมีโอกาสที่จะรับชาวม้งลาวที่เดินทางกลับเหล่านี้ ไปตั้งถิ่นฐานในประเทศของตน

กองการสื่อมวลชน กรมสารนิเทศ กระทรวงการต่างประเทศ โทร. 643-5170 โทรสาร. 643-5169 E-mail : div0704@mfa.go.th--จบ--

-พห-

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ