การดำเนินงานให้ความช่วยเหลือของไทยแก่เฮติ

ข่าวต่างประเทศ Tuesday January 26, 2010 07:16 —กระทรวงการต่างประเทศ

เมื่อวันที่ 21 มกราคม 2553 นายกษิต ภิรมย์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศให้สัมภาษณ์สื่อมวลชน เกี่ยวกับการให้ความช่วยเหลือของไทยต่อกรณีเหตุการณ์แผ่นดินไหวในเฮติ เมื่อวันที่ 12 มกราคม 2553 สรุปสาระสำคัญ ดังนี้

1. การให้ความช่วยเหลือในระยะแรก

1.1 ตามที่คณะรัฐมนตรีได้มีมติอนุมัติเพิ่มเงินจำนวน 100,000 ดอลลาร์สหรัฐ เพื่อให้ความช่วยเหลือเฮติในระยะเร่งด่วน นั้น ในวันที่ 22 มกราคม 2553 (ตรงกับวันพฤหัสบดีที่ 21 มกราคม 2553 ในเม็กซิโก) จะมีพิธีมอบเงินช่วยเหลือเฮติที่กระทรวงการต่างประเทศเม็กซิโก โดยมีนางจารุวรรณ เทียมทัด เอกอัครราชทูต ณ กรุงเม็กซิโก เป็นผู้แทนรัฐบาลไทยมอบเงินช่วยเหลือดังกล่าวแก่ผู้แทนรัฐบาลเม็กซิโกและผู้แทนทางการทูตของเฮติประจำกรุงเม็กซิโก ซึ่งสถานเอกอัครราชทูตฯ จะประสานกับทางการเม็กซิโกในการนำเงินช่วยเหลือของรัฐบาลไทยไปซื้อสิ่งของที่จำเป็นเพื่อช่วยเหลือเฮติต่อไป

อนึ่ง มติของคณะรัฐมนตรีระบุด้วยว่า การให้ความช่วยเหลือของไทยต่อเฮติจะยังไม่สิ้นสุด โดยไทยจะให้ความช่วยเหลือเฮติอย่างต่อเนื่องในระยะฟื้นฟูและระยะบูรณะประเทศด้วย

1.2 กระทรวงฯ ได้มอบหมายให้นายสาโรจน์ ธนสันติ อัครราชราชทูตที่ปรึกษา สถานเอกอัครราชทูต ณ กรุงเม็กซิโก เป็นผู้แทนไทยเดินทางไปกับเครื่องบินของทางการเม็กซิโกเพื่อมอบสิ่งของที่จำเป็นที่จำเป็นที่ทางการไทยจัดซื้อโดยเงินที่ทางการช่วยเหลือ พร้อมทั้งใช้โอกาสดังกล่าวในการพบปะกับภาคประชาสังคม ผู้แทนองค์การระหว่างประเทศ เพื่อหารือเรื่องการให้ความช่วยเหลือของไทยต่อเฮติในระยะฟื้นฟูและบูรณะต่อไป

1.3 ตามที่คณะรัฐมนตรีอนุมัติให้จัดส่งข้าวจำนวน 20,000 ตันเพื่อให้ความช่วยเหลือเฮติ ขณะนี้ กระทรวงฯ อยู่ระหว่างการประสานงานกับกระทรวงพาณิชย์เรื่องการขนส่งข้าวและความเหมาะสมของเส้นทางการขนส่ง โดยอาจพิจารณาขอความร่วมมือกับโครงการอาหารโลก (World Food Program-WFP) สำนักงานภูมิภาคในกรุงเทพฯ หรือส่งตรงไปยังจุดแจกจ่ายของ WFP ที่สาธารณรัฐโดมินิกัน

2. ระยะฟื้นฟูและบูรณะประเทศ

2.1 ขณะนี้ กระทรวงการต่างประเทศและสำนักนายกรัฐมนตรีได้เปิดศูนย์รวบรวมเงินช่วยเหลือผู้ประสบภัยในเฮติ เพื่อรับเงินบริจาคจากประชาชนทั้งภาครัฐและเอกชน นอกจากนี้ ภาคเอกชนรวมทั้งสภากาชาดไทยก็ได้มีการดำเนินการในเรื่องนี้เช่นกัน ซึ่งกระทรวงฯ จะติดต่อประสานว่า ภาคเอกชนและสภากาชาดไทยประสงค์จะนำเงินบริจาคที่ได้รับไปสมทบกองทุนบรรเทาภัยพิบัติโดยเร่งด่วนเพื่อเฮติ (Emergency Relief Fund for Haiti) ซึ่งอยู่ภายใต้สำนักงานเพื่อการประสานกิจกรรมด้านมนุษยธรรมแห่งสหประชาชาติ (Office for the Coordination of Humanitarian Affairs-OCHA) หรือประสงค์จะบริจาคเงินช่วยเหลือเฮติโดยตรง

2.2 กระทรวงฯ จะหารือกับกระทรวงสาธารณสุขจัดเตรียมรายชื่อทีมแพทย์เพื่อเตรียมพร้อมจัดส่งทีมแพทย์เข้าไปในเฮติภายใต้กรอบความร่วมมือองค์การระหว่างประเทศ

2.3 กระทรวงฯ จะหารือกับกระทรวงกลาโหมเตรียมจัดส่งทหารช่างเพื่อเข้าไปช่วยเหลือด้านการก่อสร้างสิ่งสาธารณูปโภคที่จำเป็น อาทิ โรงเรียน โรงพยาบาล และวัสดุการก่อสร้าง ตลอดจนการส่งทหาร/ตำรวจไปร่วมในปฎิบัติการสันติภาพขององค์การสหประชาชาติ

ในชั้นนี้ กระทรวงฯ ได้สอบถามข้อมูลเกี่ยวกับความเป็นไปได้ในการดำเนินการข้างต้นผ่านทางสถานเอกอัครราชทูต/คณะทูตถาวร/สถานกงสุลใหญ่ไทย และคณะผู้แทนทางการทูตของเฮติในประเทศต่างๆ แล้ว

3. การช่วยเหลือคนไทยในเฮติ

สำหรับการช่วยเหลือคนไทยในเฮติ สถานะ ณ วันที่ 22 มกราคม 2553 ยังคงพบว่า มีคนไทยพำนักอาศัยอยู่ในประเทศเฮติทั้งสิ้น 8 คน แต่ขณะที่เกิดเหตุการณ์แผ่นดินไหวเมื่อวันที่ 12 มกราคม 2553 มีคนไทย 1 คน เดินทางมาที่ประเทศไทย จึงไม่ได้รับผลกระทบใดๆ จากกรณีแผ่นดินไหวดังกล่าว สำหรับคนไทยอีก 7 คน กรมการกงสุล กระทรวงการต่างประเทศ สามารถติดต่อได้ทั้งหมดครบถ้วนแล้ว และทุกคนปลอดภัยดี โดย 2 คน เป็นแม่ชีในศาสนาคริสต์ ได้แจ้งความประสงค์จะยังอยู่ในเฮติเพื่อช่วยเหลือชาวเฮติต่อไป ส่วนคนไทยอีกกลุ่มหนึ่งคือ เจ้าของธุรกิจร้านอาหารไทยในกรุงปอร์โตแปรงซ์ รวมทั้งน้องชายและน้องสาว เดิมแจ้งความประสงค์จะขอเดินทางกลับประเทศไทยผ่านทางเม็กซิโก และรัฐมนตรีว่าการฯ ก็ได้ประสานงานขั้นต้นไว้แล้วกับทางการเม็กซิโกและองค์กรระหว่างประเทศเพื่อการย้ายถิ่นฐาน (International Organization for Migration-IOM) ไว้อีกทางหนึ่งด้วย แต่ต่อมาได้แจ้งกระทรวงการต่างประเทศว่า ต้องการที่จะอยู่ในเฮติต่อไปเพื่อดูแลธุรกิจภัตตาคารของคน และปลอดภัยดีโดยอยู่ในค่ายพักของสหประชาชาติ ส่วนคนไทยอีก 2 คนเป็นคู่สามีภริยากัน ฝ่ายสามีเป็นพนักงานบริษัทต่างชาติในเฮติ ได้ให้ความร่วมมือกับกรมการกงสุลอย่างดีในการเป็นจุดติดต่อประสานงานเพื่อช่วยเหลือคนไทยคนอื่นๆ ในเฮติช่วงหลังเหตุการณ์ ทั้งสองคนกำลังอยู่ระหว่างการเดินทางออกจากเฮติผ่านประเทศจาไมกาเพื่อกลับประเทศไทยในขณะนี้ และไม่ปรากฎว่ามีคนไทยสูญหายตามที่มีรายงานข่าวในสื่อมวลชนบางสำนักแต่อย่างใด

กองการสื่อมวลชน กรมสารนิเทศ กระทรวงการต่างประเทศ โทร. 643-5170 โทรสาร. 643-5169 E-mail : div0704@mfa.go.th--จบ--

-พห-

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ