พิธีพระราชทานรางวัลสมเด็จเจ้าฟ้ามหิดล ประจำปี 2552

ข่าวต่างประเทศ Tuesday January 26, 2010 07:19 —กระทรวงการต่างประเทศ

พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าจุฬาภรณ์วลัยลักษณ์อัครราชกุมารี เสด็จแทนพระองค์ไปพระราชทานรางวัลสมเด็จเจ้าฟ้ามหิดล ประจำปี 2552 ในวันพุธที่ 27 มกราคม 2553 เวลา 17.30 น. ณ พระที่นั่งจักรีมหาปราสาท และทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เสด็จฯ แทนพระองค์ในการพระราชทานเลี้ยงอาหารค่ำเพื่อเป็นเกียรติแก่ผู้ได้รับพระราชทานรางวัลพร้อมคู่สมรส ในวันเดียวกัน ณ พระที่นั่งบรมราชสถิตยมโหฬาร เวลา 20.00 น.

เมื่อวันที่ 27 พฤศจิกายน 2552 ที่ประชุมคณะกรรมการมูลนิธิรางวัลสมเด็จเจ้าฟ้ามหิดลฯ ซึ่งสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา สยามบรมราชกุมารีฯ ทรงเป็นองค์ประธานการประชุมฯ ได้พิจารณาผู้ได้รับการเสนอชื่อเข้ารับพระราชทานรางวัลสมเด็จเจ้าฟ้ามหิดล ประจำปี 2552 จำนวน 66 ราย จาก 35 ประเทศ และได้มีมติตัดสินมอบรางวัลให้แก่บุคคล ดังต่อไปนี้

สาขาการแพทย์: ศาสตราจารย์แอน มิลส์ ศาสตราจารย์ด้านนโยบายและเศรษฐศาสตร์สาธารณสุข ภาควิชาสาธารณสุขและนโยบาย London School of Hygiene and Tropical Medicine มหาวิทยาลัยลอนดอน สหราชอาณาจักร จากผลงานด้านเศรษฐศาสตร์สาธารณสุข (Health Economics) ซึ่งเป็นการนำความรู้ใหม่มาประยุกต์ใช้ในการพัฒนาระบบสุขภาพของโลก โดยอาศัยข้อค้นพบที่ว่า “การลงทุนด้านสุขภาพอย่างมีประสิทธิภาพจะส่งผลต่อการเติบโตทางเศรษฐกิจและความเป็นธรรมในสังคม” ก่อให้เกิดการเคลื่อนไหวทั่วโลกในการลงทุนด้านสุขภาพและการใช้ทรัพยากรที่จำกัดอย่างคุ้มค่าทางเศรษฐศาสตร์อย่างกว้างขวาง ผลงานของศาสตราจารย์แอน มิลส์ ก่อให้เกิดการลงทุนด้านสุขภาพเพิ่มขึ้นมากกว่า 4 เท่าในระยะเวลา 15 ปีที่ผ่านมา สุขภาพของมวลมนุษย์ได้รับการยกระดับให้เป็นวาระแห่งการพัฒนาที่สำคัญในระดับประเทศและระดับโลก อัตราการเสียชีวิตของเด็กและคนจนในทวีปแอฟริกาและทวีปเอเชียลดลงอย่างชัดเจน เป็นประโยชน์ต่อสุขภาพอนามัยของมวลมนุษย์นับพันล้านคนทั่วโลก

สาขาการสาธารณสุข ได้แก่ 1) นายแพทย์วิวัฒน์ โรจนพิทยากร ผู้แทนองค์การอนามัยโลกประจำประเทศมองโกเลีย อดีตผู้อำนวยการคนแรกศูนย์ป้องกันและควบคุมโรคเอดส์ กระทรวงสาธารณสุข 2) นายมีชัย วีระไวทยะ ผู้ก่อตั้งสมาคมวางแผนครอบครัวแห่งประเทศไทย ตั้งแต่ปี 2517 ซึ่งต่อมาได้พัฒนาเป็น “สมาคมพัฒนาประชากรและชุมชน” (Population and Community Development Association - PDA)

ผลงานของนายแพทย์วิวัฒน์ โรจนพิทยากร มาจากผลงานโครงการถุงยางอนามัย 100% (100% Condom Use Programme) โดยได้สร้างความเข้าใจถึงความจำเป็นของการป้องกันโรคเอดส์แก่ทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง ทั้งฝ่ายปกครอง ฝ่ายสาธารณสุข ฝ่ายเพศพาณิชย์และหญิงบริการ จนสามารถส่งเสริมการใช้ถุงยางอนามัยให้หญิงบริการทั้งจังหวัดปฏิเสธลูกค้าที่ไม่ใช้ถุงยางอนามัย (No Condom — No Sex) ส่งผลให้การติดเชื้อเอดส์ในหญิงบริการลดลงอย่างมาก และสามารถป้องกันการแพร่ระบาดของเชื้อเอดส์ในสังคม นอกจากนี้ยังมีการขยายโครงการถุงยางอนามัย 100% ไปยังจังหวัดต่างๆ ทั่วประเทศ ส่งผลให้การมีผู้ป่วยเอดส์ใหม่ลดลงจาก 400,000 ราย ในปี 2534 เหลือน้อยกว่า 14,000 ราย ในปี 2544

สำหรับนายมีชัย วีระไวทยะ มีผลงานในการให้ความรู้เรื่องการวางแผนครอบครัวแก่หญิงชนบท สนับสนุนการคุมกำเนิดขั้นพื้นฐานด้วยการใช้ถุงยางอนามัย โดยรณรงค์ด้วยการสื่อสารที่เป็นเอกลักษณ์ จนทำให้การใช้ถุงยางอนามัยไม่ใช่สิ่งลึกลับ น่าอับอาย หรือเป็นสิ่งต้องห้าม แต่สามารถกล่าวถึงและใช้งานเป็นของธรรมดาอย่างแพร่หลาย จนกระทั่งชื่อ “มีชัย” เป็นที่รู้กันว่าหมายถึงถุงยางอนามัย

อนึ่ง สำหรับผู้ที่เคยได้รับพระราชทานรางวัลสมเด็จเจ้าฟ้ามหิดลฯ และได้รับรางวัลโนเบลแล้ว 2 ท่าน ได้แก่ ศาสตราจารย์ ดร.นพ.แบรี่ มาร์แชล (Professor Dr. Barry Marshall) จากประเทศออสเตรเลีย และศาสตราจารย์ ดร.นพ. ฮารัลด์ ซัวร์ เฮาเซ่น (Professor Dr. Harald zur Hausen) จากประเทศเยอรมนี โดยศาสตราจารย์ ดร.นพ.มาร์แชล ได้รับรางวัลสมเด็จเจ้าฟ้ามหิดล ประจำปี 2544 ในสาขาสาธารณสุข และได้รับรางวัลโนเบล ปี 2548 ในสาขาการแพทย์ (Medicine) จากการค้นพบว่าเชื้อแบคทีเรียชนิดใหม่ชื่อ เฮลิโคแบคเตอร์ ไพลอรัย (Helicobactor pylori) เป็นสาเหตุหนึ่งของกระเพาะอาหารอักเสบและแผลในกระเพาะอาหาร เป็นผลทำให้เกิดความเข้าใจและมีการเปลี่ยนหลักการรักษาโรคกระเพาะอาหารอักเสบและแผลในกระเพาะอาหารในผู้ป่วยที่มีเชื้อแบคทีเรียนี้ สำหรับศาสตราจารย์ ดร.นพ.ฮารัลด์ ซัวร์ เฮาเซ่น ได้รับพระราชทานรางวัลสมเด็จเจ้าฟ้ามหิดล ประจำปี 2548 สาขาสาธารณสุข และได้รับรางวัลโนเบล ปี 2551 ในสาขาการแพทย์ (Medicine) จากการศึกษาวิจัยแพ็บพิลโลม่าไวรัสของคน (เอชพีวี) ซึ่งเป็นสาเหตุของการเกิดมะเร็งปากมดลูก (cervical cancer)

กองการสื่อมวลชน กรมสารนิเทศ กระทรวงการต่างประเทศ โทร. 643-5170 โทรสาร. 643-5169 E-mail : div0704@mfa.go.th--จบ--

-พห-

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ