ผลการอภิปรายสาธารณะเรื่อง"การค้าบริการ การเคลื่อนย้ายบุคคลธรรมดา การค้าสินค้ากฎแหล่งกำเนิดสินค้า และการลงทุน"

ข่าวต่างประเทศ Wednesday January 27, 2010 08:03 —กระทรวงการต่างประเทศ

ผลการอภิปรายสาธารณะเรื่อง “การค้าบริการ การเคลื่อนย้ายบุคคลธรรมดา การค้าสินค้ากฎแหล่งกำเนิดสินค้า และการลงทุน ภายใต้ JTEPA” ครั้งที่ 1/2553 เมื่อวันที่ 21 มกราคม 2553 กระทรวงการต่างประเทศได้จัดการอภิปรายสาธารณะเรื่อง “การค้าบริการ การเคลื่อนย้ายบุคคลธรรมดา การค้าสินค้า กฎถิ่นกำเนิดสินค้าและการลงทุนภายใต้ความตกลงหุ้นส่วนเศรษฐกิจไทย - ญี่ปุ่น (JTEPA)” ครั้งที่ 1/2553 ณ วิเทศสโมสร กระทรวงการต่างประเทศ โดยมีนางสาวชมพูนุท นาครทรรพ ที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศกล่าวเปิดงาน ในการอภิปรายนี้มีวิทยากรผู้ทรงคุณวุฒิจากภาครัฐ ภาคเอกชน และภาควิชาการ ผู้แทนจากภาคส่วนต่าง ๆ รวมทั้งประชาชนทั่วไปเข้าร่วมกว่า 250 คน การอภิปรายดังกล่าวจัดขึ้นเพื่อรายงานความคืบหน้าเกี่ยวกับการเจรจาเปิดเสรีเพิ่มเติมให้คนไทยที่ไปทำงานที่ญี่ปุ่นและการอำนวยความสะดวกให้นักธุรกิจญี่ปุ่นในไทย (หรือที่เรียกว่า “การเคลื่อนย้ายบุคคลธรรมดา”) ตลอดจนรับฟังความคิดเห็น ข้อเสนอแนะจากประชาชนและผู้มีส่วนได้ส่วนเสียเพื่อใช้เป็นข้อมูลประกอบการใช้บังคับและการเจรจาเพิ่มเติมในเรื่องต่างๆ ที่ภาครัฐยังต้องดำเนินการต่อไป ภายใต้ JTEPA อีกทั้งจะช่วยให้ภาครัฐสามารถดำเนินการที่เกี่ยวข้องกับ JTEPA ให้เป็นไปตามความต้องการของภาคเอกชนและภาคประชาสังคมได้อย่างมีประสิทธิภาพ ทั้งนี้ ความตกลง JTEPA กำหนดให้เจรจาเพิ่มเติมในเรื่องการค้าสินค้า กฎถิ่นกำเนิดสินค้า การค้าบริการและการลงทุนต่อจากนี้ ซึ่งหน่วยงานภาครัฐที่เกี่ยวข้องได้เสนอกรอบการเจรจาของแต่ละเรื่องให้ผู้เข้าร่วมการอภิปรายแสดงข้อคิดเห็นอย่างกว้างขวางและตรงไปตรงมา ความตกลง JTEPA มีผลใช้บังคับตั้งแต่วันที่ 1 พฤศจิกายน 2550 โดยในปีแรกของการใช้บังคับระหว่างพฤศจิกายน 2550 ถึงตุลาคม 2551 ปริมาณการค้าระหว่างไทยกับญี่ปุ่นเพิ่มขึ้นร้อยละ 19 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนหน้า ส่วนในปีที่สองระหว่างพฤศจิกายน 2551 ถึงตุลาคม 2552 ลดลงเมื่อเทียบกับ ปีก่อนหน้า เนื่องจากเกิดวิกฤติเศรษฐกิจโลก อย่างไรก็ดี สัดส่วนของการค้าไทย-ญี่ปุ่นต่อมูลค่าการค้ารวมของไทยกับต่างประเทศยังคงระดับอยู่ที่ร้อยละ 14 เป็นอันดับที่ 1 เช่นเดิม โดยผู้ประกอบการไทยมีสัดส่วนการใช้สิทธิ JTEPA ส่งออกไปญี่ปุ่นถึงประมาณร้อยละ 70 ของการส่งออกจากไทยไปญี่ปุ่นทั้งหมด ในขณะที่มีการใช้สิทธิ JTEPA นำเข้าสินค้าจากญี่ปุ่นมายังไทยประมาณร้อยละ 6 ของการนำเข้าจากญี่ปุ่นมายังไทยทั้งหมด ซึ่งทำให้ไทยได้ดุลการค้ากับญี่ปุ่นประมาณ 2,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ สำหรับสินค้าที่มีการใช้สิทธิ JTEPA ทั้งนี้ สินค้าส่งออกไปญี่ปุ่นที่ใช้สิทธิ JTEPA สูงส่วนใหญ่เป็นสินค้าเกษตรกรรม เช่น เนื้อไก่ปรุงแต่ง กุ้งปรุงแต่ง กุ้งแช่แข็ง ในขณะที่ สินค้านำเข้าจากญี่ปุ่นที่ใช้สิทธิ JTEPA สูงส่วนใหญ่เป็นสินค้าอุตสาหกรรม เช่น วงจรไฟฟ้า ผลิตภัณฑ์เหล็ก กระปุกเกียร์รถยนต์ ในด้านการลงทุน ในปีแรกที่ JTEPA มีผลใช้บังคับ การลงทุนของญี่ปุ่นในไทยเพิ่มขึ้นร้อยละ 25 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันในปีก่อนหน้า แต่ในปีที่สองได้รับผลกระทบจากวิกฤติเศรษฐกิจทำให้การลงทุนลดลง แต่ญี่ปุ่นยังคงเป็นนักลงทุนอันดับ 1 ในไทย โดยคิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 40 ของปริมาณเงินลงทุนจากต่างชาติในไทยทั้งหมด โดยอุตสาหกรรมที่ญี่ปุ่นมาลงทุนมากที่สุดได้แก่ กิจการการผลิต ผลิตภัณฑ์โลหะ เครื่องจักรและอุปกรณ์ขนส่ง ทั้งนี้ ความตกลง JTEPA กำหนดให้เจรจาเพิ่มเติมในเรื่องการค้าสินค้า กฎถิ่นกำเนิดสินค้า การค้าบริการและการลงทุนต่อจากนี้ ซึ่งหน่วยงานภาครัฐที่เกี่ยวข้องได้เสนอกรอบการเจรจาของแต่ละเรื่องให้ผู้เข้าร่วมการอภิปรายแสดงข้อคิดเห็นอย่างกว้างขวางและตรงไปตรงมา ผู้สนใจสามารถอ่านข้อมูลเพิ่มเติมเกี่ยวกับผลการอภิปรายดังกล่าวได้ที่เว็บไซต์ความตกลงหุ้นส่วนเศรษฐกิจไทย-ญี่ปุ่น ที่ /jtepa ตั้งแต่วันที่ 1 กุมภาพันธ์ 2553

กองการสื่อมวลชน กรมสารนิเทศ กระทรวงการต่างประเทศ โทร. 643-5170 โทรสาร. 643-5169 E-mail : div0704@mfa.go.th--จบ--

-พห-

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ