ช่วงระหว่างวันที่ 2-3 กุมภาพันธ์ 2553 คณะสำรวจล่วงหน้าไทยเพื่อช่วยเหลือผู้ประสบภัยพิบัติในสาธารณรัฐเฮติได้ปฏิบัติภารกิจ ดังนี้
1. คณะได้เยี่ยมชมโรงพยาบาลสนาม Killick Point ซึ่งตั้งอยู่บริเวณที่ทำการตำรวจรักษาชายฝั่งใน กรุงปอร์โตแปรงซ์ โรงพยาบาลสนามแห่งนี้เป็นความร่วมมือระหว่างทีมแพทย์สหรัฐอเมริกา เม็กซิโก โคลอมเบีย และฮอนดูรัส ซึ่งเริ่มเปิดทำการเมื่อวันที่ 23 มกราคม 2553 โดยมีแพทย์สาขาต่างๆ ให้การรักษาชาวเฮติ และมีอุปกรณ์เครื่องมือทางการแพทย์ครบครัน นอกจากนี้ หากมีผู้ป่วยจำนวนมากเกินขีดความสามารถของโรงพยาบาลฯ หรือมีความจำเป็นต้องให้การรักษาอย่างเร่งด่วน ฝ่ายสหรัฐอเมริกาก็จะมีเรือพยาบาลให้บริการผู้ป่วยเหล่านี้ด้วย ทั้งนี้ ผู้แทนแพทย์ไทยได้ทำการศึกษาการดำเนินการของโรงพยาบาลสนามแห่งนี้ เพื่อเป็นข้อมูลประกอบการพิจารณาแนวทางการให้ความช่วยเหลือด้านการแพทย์ของฝ่ายไทยต่อไป
2. คณะได้พบหารือกับนาย Laurent Marion ตำแหน่ง Early Recovery Coordinator จากโครงการพัฒนาแห่งสหประชาชาติ (UNDP) เพื่อหารือถึงแนวทางการให้ความช่วยเหลือในการฟื้นฟู โดยคณะได้รับทราบว่า การดำเนินการที่สำคัญของ UNDP ในขณะนี้คือ (1) การรื้อถอนซากปรักหักพังที่เกิดขึ้นจากเหตุการณ์แผ่นดินไหว โดย UNDP กำลังพิจารณาความเป็นไปได้ในการขอรับความช่วยเหลือด้านเครื่องมือรื้อถอนจากกองกำลังทหาร (2) การสร้างงานและรายได้ให้แก่ชาวเฮติ (3) การเตรียมความพร้อมให้กับเฮติในการรับมือกับภัยพิบัติที่อาจเกิดขึ้นในอนาคต โดยเฉพาะจากพายุเฮอริเคนในฤดูร้อนที่กำลังจะมาถึง และ (4) การสร้างความพร้อมให้กับหน่วยงานภาครัฐเฮติให้กลับมาทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพ ทั้งนี้ UNDP แสดงความชื่นชมที่ฝ่ายไทยได้ให้ความช่วยเหลือกับเฮติอย่างเต็มที่ ขณะที่คณะแจ้งว่า ฝ่ายไทยจะรวบรวมข้อมูลที่เกี่ยวข้องเพื่อนำเสนอให้รัฐบาลพิจารณาในการให้ความช่วยเหลือด้านมนุษยธรรมสำหรับเฮติต่อไป
3. คณะได้เข้าพบผู้แทนของ Joint Operations and Tasking Center (JOTC) ซึ่งเป็นหน่วยงานประสานงานระหว่างภาคพลเรือนและภาคทหารที่ทำงานร่วมกับสำนักงานเพื่อการประสานกิจกรรมด้านมนุษยธรรมแห่งสหประชาชาติ (United Nations Office for the Coordination of Humanitarian Affairs-UNOCHA) โดย JOTC ชื่นชมบทบาทของไทยในการพัฒนาและรักษาสันติภาพในกรอบสหประชาชาติในแอฟริกาและเอเชีย และยินดีที่ฝ่ายไทยพร้อมจะให้ความช่วยเหลือเฮติ JOTC เห็นว่า แม้หน่วยงานต่างๆ ภายใต้สหประชาชาติจะเน้นความช่วยเหลือจากฝ่ายพลเรือน แต่ในกรณีของเฮติที่ได้รับความเสียหายอย่างหนัก ซึ่งต้องมีการฟื้นฟูในระยะยาวและอาจเป็นไปด้วยความยากลำบาก ดังนั้น การมีส่วนร่วมของกองกำลังทหารจะเป็นประโยชน์ต่อการฟื้นฟูในเฮติ นอกจากนี้ คณะได้ทราบว่า UNOCHA ได้แบ่งการให้ความช่วยเหลือเฮติออกเป็น 3 ระยะ ได้แก่ (1) ระยะเร่งด่วน ตั้งแต่ 12 มกราคม — เมษายน 2553 (2) ระยะฟื้นฟู ตั้งแต่ เมษายน 2553 — ตุลาคม 2554 และ (3) ระยะพัฒนา ตั้งแต่ตุลาคม 2554 เป็นต้นไป ทั้งนี้ คณะแจ้งว่าในหลักการกองทัพไทยพร้อมจะสนับสนุนการปฏิบัติงานของ UNOCHA และ JOTC ในการให้ความช่วยเหลือเฮติ
กองการสื่อมวลชน กรมสารนิเทศ กระทรวงการต่างประเทศ โทร. 643-5170 โทรสาร. 643-5169 E-mail : div0704@mfa.go.th--จบ--