ความร่วมมือด้านการประมงระหว่างไทย-อินโดนีเซีย

ข่าวต่างประเทศ Thursday February 18, 2010 08:16 —กระทรวงการต่างประเทศ

เมื่อวันที่ 16 กุมภาพันธ์ 2553 นายกษิต ภิรมย์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ ได้ให้สัมภาษณ์สื่อมวลชนในประเด็นเกี่ยวกับความร่วมมือด้านการประมงระหว่างไทยและอินโดนีเซีย สรุปสาระสำคัญ ดังนี้

1. รัฐมนตรีว่าการฯ กล่าวถึงผลการพบหารือกับนาย Marty Natalegawa รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศอินโดนีเซีย ที่กรุงจาการ์ตา เมื่อวันที่ 15 กุมภาพันธ์ 2553 เกี่ยวกับการเตรียมการยกร่างบันทึกช่วยจำ (MoU) เกี่ยวกับการบริหารจัดการประมง กิจการประมง และความร่วมมือด้านอุตสาหกรรมแปรรูปที่เกี่ยวข้องระหว่างไทย-อินโดนีซีย ให้แล้วเสร็จทันการเสนอเข้าสู่การพิจารณาในที่ประชุมคณะกรรมาธิการร่วม (JC) ไทย-อินโดนีเซีย ซึ่งจะจัดขึ้นที่กรุงเทพฯ ในช่วงครึ่งหลังของปี 2553 โดยมีรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศของทั้งสองฝ่ายเป็นประธาน

2. ในการประชุม JC จะมีการหยิบยกประเด็นปัญหาที่เกี่ยวข้องกับการบริหารจัดการประมงระหว่างไทยและอินโดนีเซีย ซึ่งรวมถึงขั้นตอนหลักปฏิบัติทั้งที่ต้นทางและปลายทาง เพื่อแก้ไขปัญหาต่างๆ อาทิ การสวมทะเบียนเรือ และการปลอมแปลงเอกสาร โดยเน้นในส่วนของขั้นตอนการลงทะเบียนเรือประมงที่จับปลาและ เรือแม่ที่ทำการแปรรูปหรือแช่แข็งสัตว์ทะเล ซึ่งขั้นตอนที่ต้นทางท่าเรือไทยจะต้องมีการลงทะเบียนและการแจ้งให้ฝ่ายอินโดนีเซียรับรู้ตำแหน่งของเรือประมงไทยในน่านน้ำอินโดนีเซีย โดยฝ่ายอินโดนีเซียให้คำมั่นที่จะควบคุม ดูแลคู่สัญญาภาคเอกชนที่จะลงทุนร่วมกับฝ่ายไทยด้วย

3. การจัดทำ MoU ด้านการประมงระหว่างทั้งสองฝ่ายเปรียบเสมือนแผนปฏิบัติการร่วมกัน (Management Plan) ระหว่างไทยและอินโดนีเซีย ซึ่งจะช่วยเตรียมความพร้อมของฝ่ายอินโดนีเซียในด้านต่างๆ อาทิ สาธารณูปโภค ท่าเรือ และแรงงาน สำหรับการจัดตั้งอุตสาหกรรมที่เกี่ยวเนื่องกับการประมง อาทิ โรงงานน้ำแข็ง และโรงงานแปรรูป จะก่อให้เกิดการสร้างงานและการเพิ่มมูลค่าเพิ่มต่อทรัพยากรของอินโดนีเซีย รวมทั้งส่งผลให้เกิดความราบรื่นในความร่วมมือด้านประมงระหว่างสองประเทศต่อไป

4. ทั้งสองฝ่ายจะมีการประสานกับหน่วยงานภาครัฐและเอกชนที่เกี่ยวข้อง เพื่อศึกษาและเปรียบเทียบระเบียบและขั้นตอนปฏิบัติของทั้งสองฝ่ายและประเทศอื่นๆ ในภูมิภาคว่ามีความเป็นสากลหรือไม่ เพื่อให้เกิดความชัดเจนในเรื่องของหลักปฏิบัติ (Standard Operating Procedures: SOP) และความเข้าใจในการปฏิบัติงานของหน่วยงานที่เกี่ยวข้องของสองประเทศ

5. การติดต่อสื่อสารระหว่างเรือประมงไทยกับเจ้าของเรือ และระหว่างเรือประมงไทยกับหน่วยราชการของอินโดนีเซีย เพื่อป้องกันปัญหาที่จะเกิดจากความเข้าใจผิดหรือการกระทำทุจริตในเรื่องตำแหน่งการจับสัตว์น้ำของเรือประมง ตลอดจนความซื่อสัตย์สุจริตและวินัยของผู้ที่เกี่ยวข้องในทุกภาคส่วนของทั้งสองฝ่าย เป็นปัจจัยสำคัญในการแก้ไขปัญหา โดยผู้เกี่ยวข้องจะต้องช่วยกันส่งเสริมสนับสนุนผู้ประกอบการที่สุจริตให้สามารถทำธุรกิจได้อย่างราบรื่น

กองการสื่อมวลชน กรมสารนิเทศ กระทรวงการต่างประเทศ โทร. 643-5170 โทรสาร. 643-5169 E-mail : div0704@mfa.go.th--จบ--

-พห-

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ