ไทยย้ำความสำคัญสิทธิมนุษยชนที่ UNHRC

ข่าวต่างประเทศ Wednesday March 3, 2010 13:01 —กระทรวงการต่างประเทศ

เมื่อวันที่ 1 มีนาคม 2553 นายกษิต ภิรมย์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศเข้าร่วมการประชุมและกล่าวถ้อยแถลงต่อที่ประชุมคณะมนตรีสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติ สมัยที่ 13 และการหารือระดับสูงหัวข้อ “The Impact of Global Economic and Financial Crises on the Universal Realisation and Effective Enjoyment of All Human Rights” รวมทั้ง ได้พบหารือทวิภาคีกับรองนายกรัฐมนตรีด้านสังคมและสิทธิมนุษยชนอิเควทอเรียลกินี รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศบังกลาเทศและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศอิหร่าน เพื่อหารือเกี่ยวกับการส่งเสริมความร่วมมือทวิภาคีระหว่างกัน รวมถึงการสมัครรับเลือกตั้งเป็นสมาชิกคณะมนตรีสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติ ของไทยวาระปี ค.ศ. 2010-2013 ด้วย

ในช่วงเช้า รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศกล่าวถ้อยแถลงต่อที่ประชุมคณะมนตรีสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติ (Human Rights Council — HRC) โดยย้ำความสำคัญของการส่งเสริมและคุ้มครองสิทธิมนุษยชนในระดับประเทศและการดำเนินการของไทย รวมถึงการสร้างบรรยากาศที่เอื้อต่อการคุ้มครองสิทธิมนุษยชน นอกจากนี้ ในระดับภูมิภาค ไทยเป็นหนึ่งในประเทศที่มีบทบาทแข็งขันในการผลักดันการจัดตั้งกลไกสิทธิมนุษยชน โดยในฐานะประธานอาเซียน ไทยประสบความสำเร็จในการผลักดันการจัดตั้ง ASEAN Intergovernmental Commission on Human Rights และ ASEAN Commission on the Promotion and Protection of the Rights of the Women and Children

สำหรับในระดับระหว่างประเทศ ไทยเชื่อว่า HRC ควรเป็นกลไกในการตอบสนองประเด็นท้าทายด้านสิทธิมนุษยชนที่ซับซ้อนและมีความเร่งด่วนอย่างเป็นธรรม และ HRC ควรให้ความสนใจกับการศึกษาและการฝึกอบรมด้านสิทธิมนุษยชน ซึ่งเป็นวิธีการที่จะช่วยป้องกันการละเมิดสิทธิมนุษยชน ไทยจึงสมัครรับเลือกตั้งเป็นสมาชิก HRC วาระปี ค.ศ. 2010-2013 ซึ่งสะท้อนให้เห็นความเชื่อมั่นของไทยต่อ HRC โดยไทยมุ่งมั่นที่จะดำเนินงานร่วมกับทุกภาคส่วนอย่างเต็มที่เพื่อเสริมสร้างประสิทธิภาพของ HRC และเพื่อส่งเสริมและคุ้มครองสิทธิมนุษยชนในทุกระดับ

ในช่วงบ่าย รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศเข้าร่วมการหารือระดับสูงหัวข้อ “The Impact of Global Economic and Financial Crises on the Universal Realisation and Effective Enjoyment of All Human Rights” และกล่าวถ้อยแถลง 2 ฉบับ โดยฉบับแรกกล่าวในนามรัฐมนตรีต่างประเทศของกลุ่ม Foreign Policy and Global Health Initiative (FPGH) ซึ่งเป็นการรวมกลุ่มของ 7 ประเทศ ประกอบด้วยบราซิล ฝรั่งเศส อินโดนีเซีย นอร์เวย์ เซเนกัล แอฟริกาใต้และไทย เพื่อร่วมกันสนับสนุนความร่วมมือด้านการต่างประเทศและการสาธารณสุข และฉบับที่สองกล่าวในนามประเทศไทย

ในถ้อยแถลงแรก กลุ่ม FPGH ย้ำถึงผลกระทบของวิกฤตเศรษฐกิจและการเงินโลกต่อสิทธิในสุขภาพ โดยการดำเนินการด้านสาธารณสุขในประเทศต่างๆ ส่วนใหญ่ได้รับผลกระทบอย่างมากจากวิกฤตเศรษฐกิจและประชาชนกว่าพันล้านคนก็ประสบความยากลำบากในการเข้าถึงบริการด้านสาธารณสุขขั้นพื้นฐาน และจำนวนประชาชนที่ได้รับผลกระทบมีแนวโน้มที่จะเพิ่มขึ้นอีก โดยเฉพาะในประเทศกำลังพัฒนา ซึ่งจะมีผลกระทบอย่างหนักต่อการบรรลุเป้าหมายการพัฒนาแห่งสหัสวรรษ (Millennium Development Goals—MDGs) ด้านสุขภาพ ทั้งนี้ ประเด็นท้าทายร่วมกันคือการหาวิธีการสร้างเสริมระบบสาธารณสุขให้มีความยั่งยืน โดยการดำเนินการด้านสุขภาพเพื่อตอบสนองความจำเป็นด้านสุขภาพควรมีความหนักแน่นพอๆ กับการให้ความช่วยเหลือสถาบันการเงินในช่วงที่ผ่านมา

ประเทศกลุ่ม FPGH แสดงความห่วงกังวลเกี่ยวกับการดำเนินการด้านสุขภาพของแม่และเด็ก (MDG 4 และ 5) ซึ่งมีความคืบหน้าน้อย และในบางประเทศ แม้ว่าการเข้าถึงการรักษาโรคเอดส์มีความก้าวหน้าที่ดี แต่พัฒนาการดังกล่าวก็ชะลอตัวลง โดยการเข้าถึงยาที่ราคาไม่แพงเกินไป ปลอดภัย มีประสิทธิภาพและมีคุณภาพดี เป็นหนึ่งในปัจจัยพื้นฐานของการสาธารณสุข นอกจากนี้ ความหิวโหยความยากจนอย่างรุนแรง และความไม่เท่าเทียมกันในสังคมยังเป็นปัญหาซึ่งหากไม่ได้รับการแก้ไข ก็จะทำให้การลดอัตราการเสียชีวิตของแม่และเด็กกระทำได้ลำบาก ทั้งนี้ วิกฤตเศรษฐกิจและการเงินจะต้องไม่ถูกนำมาเป็นข้ออ้างในการละเลยสิทธิมนุษยชน แต่หากไม่มีความมุ่งมั่นทางการเมืองและความร่วมมือทั้งในระดับชาติและระดับโลก เราคงไม่สามารถทำหน้าที่ตามความรับผิดชอบร่วมกันในการส่งเสริมสาธารณสุขและคุ้มครองสิทธิมนุษยชน

ในถ้อยแถลงในนามประเทศไทย รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศย้ำถึงผลกระทบเชิงลบของวิกฤตเศรษฐกิจโลกต่อสิทธิมนุษยชนด้านต่างๆ รวมทั้งการดำเนินการของประเทศกำลังพัฒนาหลายประเทศในการบรรลุ MDGs โดยในส่วนของไทย ได้ดำเนินการเพื่อคุ้มครองสิทธิของประชาชนในช่วงวิกฤตเศรษฐกิจ โดยให้ความสำคัญกับการช่วยเหลือกลุ่มที่ด้อยโอกาสที่สุด

ทั้งนี้ ประสบการณ์จากวิกฤตเศรษฐกิจในเอเชียในปี 2540 ทำให้ไทยตระหนักว่าความพอเพียง (moderation) เป็นปัจจัยสำคัญสำหรับความอยู่รอด ในการนี้ไทยได้เริ่มใช้ปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง ซึ่งเน้นการบริโภคอย่างมีความรับผิดชอบ ซึ่งจะสามารถช่วยลดผลกระทบเชิงลบของโลกาภิวัตน์ได้ ซึ่งเสรีภาพที่แท้จริงคือการเพิ่มอำนาจให้กับประชาชนเพื่อให้ตระหนักถึงความจำเป็นของตนและเพื่อให้มีความพร้อมที่จะแสวงหาสิ่งจำเป็นได้ โดยไทยเชื่อว่าการศึกษาเป็นปัจจัยสำคัญที่จะนำไปสู่เสรีภาพดังกล่าว

ถ้อยแถลงของรัฐมนตรีว่าการฯ ต่อที่ประชุมคณะมนตรีสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติ

http://www.mfa.go.th/internet/audio/1_FM%20statement%20HLS%20final.pdf

ถ้อยแถลงของรัฐมนตรีว่าการฯ ในนามกลุ่มประเทศ FPGH ระหว่างการหารือระดับสูง

http://www.mfa.go.th/internet/audio/2_HRC_FPGH%20Statement_final.pdf

ถ้อยแถลงของรัฐมนตรีว่าการฯ ในนามประเทศไทย ระหว่างการหารือระดับสูง

http://www.mfa.go.th/internet/audio/3_FM%20Statement%20for%20Economic%20crises.pdf

กองการสื่อมวลชน กรมสารนิเทศ กระทรวงการต่างประเทศ โทร. 643-5170 โทรสาร. 643-5169 E-mail : div0704@mfa.go.th--จบ--

-พห-

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ