รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศพบหารือกับผู้บริหาร CERN, UNHRC, IOM, WHO และผู้บริหารธนาคารสวิส ที่นครเจนีวา

ข่าวต่างประเทศ Monday March 8, 2010 13:02 —กระทรวงการต่างประเทศ

เมื่อวันที่ 3 มีนาคม 2553 รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศเยี่ยมชมที่ทำการคณะมนตรีแห่งยุโรปเพื่อการวิจัยนิวเคลียร์ (European Council for Nuclear Research หรือ CERN ชื่อย่อจากชื่อในภาษาฝรั่งเศส Conseil Europeen pour la Recherche Nucleaire) ซึ่งเป็นองค์กรที่ลูอิสเดอบรอยล์ (Louis de Broglie) นักฟิสิกส์ชาวฝรั่งเศส เสนอแนวความคิดริเริ่มของการก่อตั้งห้องปฏิบัติการวิจัยแห่งยุโรปและในปี 2495 ได้มีการลงนามร่วมกันจัดตั้งอย่างเป็นทางการโดย 11 ประเทศในยุโรป มีวัตถุประสงค์เพื่อให้เป็นองค์กรการวิจัยด้านฟิสิกส์ระดับโลก โดยขณะนี้ CERN มีสมาชิกจากภูมิภาคยุโรป 20 ประเทศ

CERN ตั้งอยู่ใกล้กับนครเจนีวา เป็นห้องปฏิบัติการนิวเคลียร์ฟิสิกส์ขนาดใหญ่ครอบคลุมพื้นที่บริเวณชายแดนสวิตเซอร์แลนด์และฝรั่งเศส มีเจ้าหน้าที่ปฏิบัติการประจำกว่า 2,600 คน และนักวิทยาศาสตร์ และวิศวกรอีกประมาณ 8,000 คน จากมหาวิทยาลัยและสถาบันวิจัยต่างๆ ถึง 580 แห่ง จาก 80 ประเทศทั่วโลก หน้าที่หลักของ CERN ได้แก่การบริหารจัดการและบริการเครื่องเร่งอนุภาคและโครงสร้างพื้นฐานอื่นๆ เพื่อการวิจัยทางด้านฟิสิกส์พลังงานสูง (high energy physics) หรือ ฟิสิกส์(เชิง)อนุภาค (particle physics) เพื่อศึกษาเกี่ยวกับหน่วยย่อยที่สุดของสสารว่าประกอบด้วยอะไร ยึดเหนี่ยวอยู่ด้วยกันได้ด้วยแรงชนิดใด มีคุณสมบัติอย่างไร ซึ่งความเข้าใจนี้จะสามารถไขปัญหาจุดกำเนิดของจักรวาลได้ โดย CERN ได้ติดตั้งเครื่องเร่งอนุภาคขนาดใหญ่ (Large Hadron Collider) ภายในอุโมงค์ใต้ดินรูปวงแหวนขนาดเส้นรอบวง 27 กิโลเมตร ครอบคลุมพื้นที่ใต้ดินระหว่างสวิตเซอร์แลนด์และฝรั่งเศส นอกจากนี้ นักวิจัยของ CERN เป็นผู้พัฒนาเวิลด์ไวด์เว็บ (World Wide Web) ขึ้นเป็นครั้งแรกเมื่อปี 2532

ในระหว่างการหารือกับผู้บริหารของ CERN รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศได้แลกเปลี่ยนความคิดเห็นเกี่ยวกับแนวทางส่งเสริมความร่วมมือระหว่างไทยกับ CERN รวมทั้งการส่งเสริมการค้นคว้าวิจัยด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีในไทย

รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศเข้าร่วมงานเลี้ยงอาหารกลางวัน ซึ่งจัดโดยกงสุลใหญ่กิตติมศักดิ์ ณ นครเจนีวา โดยมีนายธนาคารจากธนาคารต่างๆ ของสวิตเซอร์แลนด์เข้าร่วม รวมทั้งผู้สื่อข่าวนิตยสาร L’Agefi ซึ่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศได้ชี้แจงและตอบคำถามเกี่ยวกับสถานการณ์ด้านการเมือง เศรษฐกิจและสังคมของไทย ตลอดจนนโยบายของรัฐบาลในการส่งเสริมประชาธิปไตย ธรรมาภิบาล สิทธิมนุษยชนและความก้าวหน้าทางเศรษฐกิจให้แก่ประเทศ

หลังจากนั้น รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศพบหารือกับนาง Navanethem Pillay ข้าหลวงใหญ่สิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติ เพื่อแลกเปลี่ยนความคิดเห็นเกี่ยวกับพัฒนาการด้านสิทธิมนุษยชนในไทยและภูมิภาค รวมถึงการจัดตั้ง ASEAN Intergovernmental Commission on Human Rights การจัดประชุม Workshop on Regional Cooperation for the Promotion and Protection of Human Rights in the Asia-Pacific Region ซึ่งไทยจะเป็นเจ้าภาพระหว่าง 21-23 เมษายน 2553 และการสมัครรับเลือกตั้งเป็นสมาชิกคณะมนตรีสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติ ของไทยวาระปี ค.ศ. 2010-2013

ต่อมา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศเข้าร่วมการหารือโต๊ะกลมกับผู้บริหารองค์การระหว่างประเทศว่าด้วยการโยกย้ายถิ่นฐาน (International Organization for Migration - IOM) เกี่ยวกับประเด็นและพัฒนาการต่างๆ ในเรื่องการโยกย้ายถิ่นฐาน กระบวนการปฏิรูป IOM บทบาทของไทยและอาเซียนในเรื่องการโยกย้ายถิ่นฐานและการพัฒนา มุมมองของ IOM ต่อนโยบายของไทยเรื่องการโยกย้ายถิ่นฐาน และความร่วมมือด้านต่างๆ ในเรื่องนี้

จากนั้น รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศพบหารือกับนาง Margaret Chan ผู้อำนวยการใหญ่องค์การอนามัยโลก (World Health Organization - WHO) เกี่ยวกับการส่งเสริมความร่วมมือด้านสาธารณสุขกับ WHO อาทิ ในการให้ความช่วยเหลือประเทศกำลังพัฒนาด้วยกัน รวมถึงประเทศเพื่อนบ้านในการป้องกันและควบคุมโรคติดต่อ ความช่วยเหลือทางเทคนิคแก่ประเทศในภูมิภาคแอฟริกา และเฮติให้ฟื้นตัวจากภัยพิบัติจากเหตุการณ์แผ่นดินไหว นอกจากนี้ ทั้งสองฝ่ายได้แลกเปลี่ยนความคิดเห็นเกี่ยวกับมาตรการเพื่อส่งเสริมการเข้าถึงยา ความร่วมมือเพื่อการวิจัยและพัฒนาระหว่างประเทศกำลังพัฒนาด้วยกัน และความร่วมมือระหว่างไทยกับ WHO ในเรื่องการผลิตวัคซีนป้องกันไข้หวัดใหญ่

นอกจากนี้ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศพบหารือทวิภาคีกับนางสาว Chinami Nishimura เลขานุการรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศญี่ปุ่น เกี่ยวกับพัฒนาการด้านสิทธิมนุษยชนในภูมิภาค บทบาทของไทยและญี่ปุ่นในเรื่องดังกล่าว และการส่งเสริมความร่วมมือระหว่างกันทั้งในระดับทวิภาคี อนุภูมิภาคแม่น้ำโขงและอาเซียน รวมถึงการสมัครรับเลือกตั้งเป็นสมาชิกคณะมนตรีสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติของไทยด้วย

กองการสื่อมวลชน กรมสารนิเทศ กระทรวงการต่างประเทศ โทร. 643-5170 โทรสาร. 643-5169 E-mail : div0704@mfa.go.th--จบ--

-พห-

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ