นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี มีกำหนดเยือนบรูไนดารุสซาลามอย่างเป็นทางการในวันที่ 29 มีนาคม 2553 โดยมีกำหนดเข้าเฝ้าฯ สมเด็จพระราชาธิบดีแห่งบรูไนฯ ณ พระราชวังอิสตานา และร่วมเป็นสักขีพยานในพิธีลงนามบันทึกความเข้าใจว่าด้วยความร่วมมือด้านสาธารณสุขระหว่างไทยกับบรูไนฯ ในการนี้ สมเด็จพระราชาธิบดีแห่งบรูไนฯ จะพระราชทานเลี้ยงอาหารกลางวันเพื่อเป็นเกียรติแก่นายกรัฐมนตรีและคณะ
การเยือนบรูไนฯ ของนายกรัฐมนตรีในครั้งนี้ มีวัตถุประสงค์เพื่อกระชับความสัมพันธ์อันดีระหว่างไทยกับบรูไนฯ ในฐานะมิตรประเทศที่มีความสัมพันธ์ใกล้ชิด และสานต่อผลการหารือระหว่างนายกรัฐมนตรีกับสมเด็จพระราชาธิบดีในโอกาสต่าง ๆ นอกจากนั้น ยังเป็นโอกาสที่ไทยจะแสดงเจตนารมณ์และความพร้อมในการให้ความร่วมมือกับบรูไนฯ ในฐานะหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจและหุ้นส่วนการพัฒนาในด้านต่างๆ ที่ไทยมีความพร้อมและบรูไนฯ ต้องการ ซึ่งเป็นไปตามที่บรูไนฯ ได้ประกาศวิสัยทัศน์แห่งชาติ ค.ศ. 2035 โดยเฉพาะด้านการเกษตร อุตสาหกรรมฮาลาล การอนุรักษ์พลังงาน อุตสาหกรรมปิโตรเคมี และแรงงาน ตลอดจนลู่ทางการส่งเสริมภาคเอกชนไทยไปลงทุนในบรูไนฯ ในอุตสาหกรรมออกแบบและก่อสร้าง นอกจากนี้ ไทยจะใช้โอกาสดังกล่าวหารือเกี่ยวกับความร่วมมือด้านการศึกษาและสถานการณ์จังหวัดชายแดนภาคใต้ ซึ่งบรูไนฯ มีความเข้าใจสถานการณ์ของไทยมาโดยตลอด รวมทั้งความร่วมมือในกรอบอาเซียน ซึ่งบรูไนฯ จะรับตำแหน่งประธานอาเซียนในปี 2554
ไทยและบรูไนฯ มีความสัมพันธ์ใกล้ชิดกัน ไม่มีประเด็นที่ขัดแย้งระหว่างกัน และมีทัศนคติที่ดีต่อกันรวมทั้งมีกลไกสำคัญในการดูแลภาพรวมการดำเนินความสัมพันธ์ทวิภาคี ได้แก่ คณะกรรมาธิการว่าด้วยความร่วมมือทวิภาคีระหว่างไทยกับบรูไนฯ มีการแลกเปลี่ยนการเยือนระหว่างกันในทุกระดับอย่างสม่ำเสมอ
บรูไนฯ ถือเป็นแหล่งว่าจ้างแรงงานไทยที่สำคัญแห่งหนึ่ง ปัจจุบันมีแรงงานไทยทำงานอยู่ในบรูไนฯจำนวน 5,372 คน ส่วนใหญ่อยู่ในภาคก่อสร้าง อุตสาหกรรมตัดเย็บเสื้อผ้าเพื่อการส่งออก ภาคธุรกิจบริการ และภาคเกษตรกรรม ปริมาณการค้าระหว่างไทยกับบรูไนฯ ในปี 2552 มีมูลค่า 227 ล้านดอลลาร์สหรัฐ โดยไทยได้เปรียบดุลการค้า 8.2 ล้านดอลลาร์สหรัฐ สินค้าออกจากไทยไปบรูไนฯ ที่สำคัญ คือ ข้าว อัญมณีและเครื่องประดับ หม้อแปลงไฟฟ้าและส่วนประกอบ ปูนซีเมนต์ ผลิตภัณฑ์เซรามิก ผลิตภัณฑ์ยาง กระดาษและผลิตภัณฑ์กระดาษ เป็นต้น สินค้าเข้าจากบรูไนฯมาไทยที่สำคัญ คือ ผลิตภัณฑ์น้ำมันดิบ เหล็ก เหล็กกล้า เสื้อผ้าสำเร็จรูป และสินแร่โลหะอื่นๆ
การลงทุนของบรูไนฯ ในไทยที่สำคัญ คือ การลงทุนระหว่าง Brunei Investment Agency (BIA) และกองทุนบำเหน็จบำนาญข้าราชการ (กบข.) ซึ่งปัจจุบันได้ลงทุนในกองทุนไทยทวีทุน 2 มูลค่า 2,530 ล้านบาท (อายุกองทุน8+2 ปี)
ด้านการท่องเที่ยว ในปี 2552 มีนักท่องเที่ยวบรูไนฯเดินทางมาไทย 7,789 คน คิดเป็นร้อยละ 1.98 ของจำนวนประชากรบรูไนฯ ซึ่งมีประมาณ 393,000 คน
กองการสื่อมวลชน กรมสารนิเทศ กระทรวงการต่างประเทศ โทร. 643-5170 โทรสาร. 643-5169 E-mail : div0704@mfa.go.th--จบ--