ไทยแสดงความยึดมั่นในการส่งเสริมและคุ้มครองสิทธิมนุษยชนในการจัดการประชุม Workshop on Regional Cooperation for the Promotion and Protection of Human Rights in the Asia-Pacific Region ครั้งที่ 15

ข่าวต่างประเทศ Thursday April 29, 2010 07:17 —กระทรวงการต่างประเทศ

ไทยแสดงความยึดมั่นในการส่งเสริมและคุ้มครองสิทธิมนุษยชนในการจัดการประชุม Workshop on Regional Cooperation for the Promotion and Protection of Human Rights in the Asia-Pacific Region ครั้งที่ 15 ระหว่างวันที่ 21-23 เมษายน 2553 ณ กรุงเทพฯ

เมื่อวันที่ 21 เมษายน 2553 นายกษิต ภิรมย์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ ได้กล่าวสุนทรพจน์ต้อนรับผู้เข้าร่วมการประชุมเชิงปฏิบัติการความร่วมมือระดับภูมิภาคว่าด้วยการส่งเสริมและคุ้มครองสิทธิมนุษยชนในภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิก (Workshop on Regional Cooperation for the Promotion and Protection of Human Rights in the Asia-Pacific Region) ครั้งที่ 15 ณ โรงแรมแมริออท สปาแอนด์รีสอร์ต กรุงเทพฯ ซึ่งรัฐมนตรีว่าการฯ ได้ย้ำถึงการยึดมั่นในประชาธิปไตย สิทธิมนุษยชน และหลักนิติรัฐของรัฐบาลชุดปัจจุบัน ท่ามกลางสถานการณ์ทางการเมืองในขณะนี้ รวมถึงความสำคัญที่รัฐบาลไทยให้แก่การส่งเสริมและคุ้มครองสิทธิมนุษยชนในระดับชาติ ระดับภูมิภาค และระดับระหว่างประเทศ

การประชุมฯ ครั้งนี้ กระทรวงการต่างประเทศร่วมกับสำนักงานข้าหลวงใหญ่สิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติ เป็นเจ้าภาพจัดขึ้นระหว่างวันที่ 21-23 เมษายน 2553 โดยมีนาย Homayoun Alizadeh หัวหน้าสำนักงานข้าหลวงใหญ่สิทธิมนุษยชนฯ ประจำภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เป็นผู้กล่าวเปิดการประชุม ในนามของนาง Kyung-wha Kang รองข้าหลวงใหญ่สิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติ

นายสีหศักดิ์ พวงเกตุแก้ว เอกอัครราชทูตผู้แทนถาวรไทยประจำสหประชาชาติ ณ นครเจนีวา ได้ทำหน้าที่เป็นประธานการประชุม โดยมีผู้เข้าร่วมประชุมประกอบด้วย ผู้แทนจากประเทศในภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิก 31 ประเทศ ผู้แทนจากคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติของ 9 ประเทศ ผู้แทนจากภาคประชาสังคม 12 องค์กร ผู้แทนจากหน่วยงานต่างๆ ของสหประชาชาติ 8 องค์กร รวมทั้ง ผู้แทนคณะกรรมาธิการระหว่างรัฐบาลอาเซียนว่าด้วยสิทธิมนุษยชน (AICHR) ผู้แทนจากสำนักเลขาธิการของ Pacific Islands Forum และผู้เชี่ยวชาญด้านกลไกสิทธิมนุษยชนระดับภูมิภาคจากยุโรป ลาตินอเมริกา และแอฟริกา

การประชุมดังกล่าวเป็นกลไกหนึ่งของสำนักงานข้าหลวงใหญ่ฯ ในการส่งเสริมสิทธิมนุษยชนในระดับภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิก ซึ่งเริ่มมาตั้งแต่ปี 2533 ทั้งนี้ ไทยเคยรับเป็นเจ้าภาพจัดการประชุม ครั้งที่ 9 เมื่อปี 2544 สำหรับการประชุมในครั้งนี้ ถือเป็นครั้งที่สองที่ไทยรับเป็นเจ้าภาพจัดการประชุม โดยมีวัตถุประสงค์สำคัญ 2 ประการคือ (1) เพื่อติดตามความคืบหน้าการอนุวัติ Tehran Framework for Regional Technical Cooperation in the Asia-Pacific Region ซึ่งเป็นผลมาจากการประชุมครั้งที่ 6 ที่กรุงเตหะราน อันประกอบด้วย 4 เสาหลัก ได้แก่ การจัดทำแผนสิทธิมนุษยชนระดับชาติ การส่งเสริมสิทธิมนุษยชนศึกษา การจัดตั้งและการดำเนินงานของคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ และการส่งเสริมสิทธิทางสังคม เศรษฐกิจ และวัฒนธรรม และ (2) เพื่อส่งเสริมให้ AICHR เป็นที่รู้จักมากขึ้นในเอเชีย-แปซิฟิก นับตั้งแต่การก่อตั้ง AICHR เมื่อเดือนตุลาคม 2552 และการแลกเปลี่ยนแนวปฏิบัติที่ดีระหว่างกลไกสิทธิมนุษยชนระดับภูมิภาคต่างๆ เพื่อส่งเสริมความเข้มแข็งให้กับกลไกสิทธิมนุษยชนระดับภูมิภาค

ในการประชุมวันแรก ซึ่งเน้นการแลกเปลี่ยนความเห็นเกี่ยวกับพัฒนาการในระบบสิทธิมนุษยชนระหว่างประเทศในช่วง 3 ปีที่ผ่านมาและการอนุวัติ Tehran Framework โดยประเทศต่างๆ ได้รายงานความคืบหน้าการดำเนินงานภายใต้กรอบดังกล่าว ซึ่งประเทศไทยได้รายงานให้ที่ประชุมทราบถึงการอนุวัติแผนสิทธิมนุษยชนแห่งชาติฉบับที่สอง การบูรณาการการเรียนการสอนด้านสิทธิมนุษยชนในหลักสูตรในโรงเรียน บทบาทอำนาจหน้าที่ของคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติของไทย และพัฒนาการของไทยในการส่งเสริมและคุ้มครองสิทธิทางสังคม เศรษฐกิจ และวัฒนธรรม โดยเฉพาะนโยบายการส่งเสริมรัฐสวัสดิการของรัฐบาล

ในการประชุมวันที่สอง ประเทศไทยในฐานะเจ้าภาพได้เสนอให้มีการหารือในหัวข้อ “Strengthening regional human rights mechanisms by sharing best practices and experiences” โดยไทยได้นำเสนอเกี่ยวกับการก่อตั้งและพัฒนาการของ AICHR และมีผู้แทนจาก Pacific Islands Forum นำเสนอเกี่ยวกับพัฒนาการที่อาจนำไปสู่การจัดตั้งกลไกสิทธิมนุษยชนในภูมิภาคหมู่เกาะแปซิฟิกในอนาคต รวมทั้งมีผู้เชี่ยวชาญด้านองค์กรสิทธิมนุษยชนระดับภูมิภาคของยุโรป ลาตินอเมริกา และแอฟริกา มาร่วมแลกเปลี่ยนประสบการณ์ด้วย ทั้งนี้ ที่ประชุมเห็นว่า การมีกลไกสิทธิมนุษยชนในระดับอนุภูมิภาคจะเป็น การต่อยอดที่สำคัญของการสร้างกลไกสิทธิมนุษยชนระดับภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิกต่อไป นอกจากนี้ การจัดตั้งกลไกสิทธิมนุษยชนระดับอนุภูมิภาคและภูมิภาคนั้นเป็นกระบวนการที่ต้องอาศัยวิวัฒนาการแบบค่อยเป็นค่อยไป ซึ่งต้องมีความสอดคล้องกับลักษณะเฉพาะของแต่ละภูมิภาค ในขณะเดียวกันก็ต้องสอดคล้องกับมาตรฐานสากลด้านสิทธิมนุษยชนด้วย

การเป็นเจ้าภาพจัดการประชุมของไทยในครั้งนี้ แสดงให้เห็นถึงนโยบายของไทยที่ให้ความสำคัญต่อการดำเนินการด้านสิทธิมนุษยชนทั้งในระดับประเทศและในระดับภูมิภาค นอกจากนี้ การประชุมเชิงปฏิบัติการครั้งนี้น่าจะมีส่วนช่วยเสริมสร้างความเข้มแข็งให้แก่กลไกสิทธิมนุษยชนในภูมิภาคต่างๆ อาทิ AICHR อีกทั้งน่าจะเป็นประโยชน์ต่ออนุภูมิภาคอื่นๆ ในภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิก ที่ยังไม่มีองค์กรสิทธิมนุษยชนในอนุภูมิภาคของตัวเอง ในการเรียนรู้และนำประสบการณ์ของกลไกสิทธิมนุษยชนในภูมิภาคอื่นๆ ไปปรับใช้ในการจัดตั้งองค์กรสิทธิมนุษยชนในอนุภูมิภาคของตนต่อไป ทั้งนี้ ที่ประชุมได้รับรอง Bangkok Action Points เพื่อเป็นพื้นฐานสำหรับการดำเนินการในระยะต่อไปภายในกรอบภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิก

กองการสื่อมวลชน กรมสารนิเทศ กระทรวงการต่างประเทศ โทร. 643-5170 โทรสาร. 643-5169 E-mail : div0704@mfa.go.th--จบ--

-พห-

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ