องค์กรภาคประชาสังคมยื่นหนังสือแสดงความกังวลต่อสถานการณ์การเมืองไทย

ข่าวต่างประเทศ Tuesday May 4, 2010 07:52 —กระทรวงการต่างประเทศ

เมื่อวันที่ 3 พฤษภาคม 2553 นาย Yap Swee Seng ผู้อำนวยการบริหารของ Asian Forum for Human Rights and Development (Forum-Asia) ในฐานะผู้แทนกลุ่มองค์กรภาคประชาสังคมด้านสิทธิมนุษยชนของภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก 42 องค์กร (รวมทั้งภาคประชาสังคมของไทย เช่น มูลนิธิศักยภาพชุมชนด้วย) ได้ยื่นแถลงการณ์เกี่ยวกับสถานการณ์การเมืองไทยในปัจจุบันแก่รัฐบาลไทย ผ่านนายกษิต ภิรมย์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ ณ วิเทศสโมสร กระทรวงการต่างประเทศ

กลุ่มองค์กรภาคประชาสังคมด้านสิทธิมนุษยชนของเอเชียแปซิฟิกได้แสดงความห่วงใยต่อสถานการณ์การเมืองปัจจุบันของไทย โดยเรียกร้องให้มีการเจรจาเพื่อแก้ปัญหาอย่างสันติ หลีกเลี่ยงการใช้ความรุนแรง และให้ประกันการใช้สิทธิเสรีภาพของสื่อมวลชน รวมทั้งขอให้ประเทศไทยคำนึงถึงพันธกรณีในการเคารพสิทธิมนุษยชนตามมาตรฐานสากล โดยเฉพาะเมื่อไทยกำลังสมัครเป็นสมาชิกคณะมนตรีสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติอยู่ ซึ่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศได้รับหนังสือแถลงการณ์โดยจะนำไปเสนอให้รัฐบาลต่อไป พร้อมทั้งชี้แจงเกี่ยวกับสถานการณ์การเมืองไทยและการดำเนินการของรัฐบาลแก่กลุ่มองค์กรดังกล่าว สรุปสาระสำคัญได้ ดังนี้

1. รัฐบาลชุดปัจจุบันเคารพต่อสิทธิมนุษยชน และกฎหมายภายใต้รัฐธรรมนูญที่เกี่ยวข้องกับสิทธิเสรีภาพและความเป็นประชาธิปไตยเป็นอย่างยิ่ง และพยายามหลีกเลี่ยงการใช้ความรุนแรงโดยตลอดมา ประเทศไทยเป็นสังคมประชาธิปไตย เปิดกว้างให้เสรีภาพในการดำเนินกิจกรรมของภาคประชาสังคมต่างๆ ดังเห็นได้จากการที่ได้มาพบกันในวันนี้

2. รัฐบาลตรวจสอบพบว่าผู้ชุมนุมบางกลุ่มใช้อาวุธก่อให้เกิดเหตุความวุ่นวาย และรัฐบาลได้พยายามอย่างยิ่งที่จะแก้ไขปัญหาโดยไม่ใช้อาวุธมาตลอด รวมทั้งได้พยายามอย่างสูงสุดเพื่อแยกผู้ชุมนุมผู้บริสุทธิ์ที่เข้าร่วมการชุมนุมเนื่องจากความเดือดร้อนที่เกิดจากความเหลื่อมล้ำทางสังคม ออกมาจากการชุมนุมบริเวณสี่แยกราชประสงค์ เพราะหากผู้ชุมนุมยังคงอยู่ในบริเวณดังกล่าวต่อไป อาจจะตกอยู่ในข่ายเป็นผู้ก่อการร้ายและเป็นผู้ใช้อาวุธเพื่อล้มล้างรัฐบาลได้ ขณะนี้ รัฐบาลได้ดำเนินการส่งข้อความสั้น (SMS) ประชาสัมพันธ์ไปยังผู้ชุมนุม เพื่อขอให้ออกจากการชุมนุมบริเวณดังกล่าวทันที ทั้งนี้ รัฐบาลพร้อมจะช่วยเหลือผู้ชุมนุมผู้บริสุทธิ์ให้ได้กลับภูมิลำเนาโดยสวัสดิภาพโดยเร็ว

3. ต่อกรณีที่รัฐบาลได้ดำเนินการยุติการเผยแพร่ของสื่อบางประเภทนั้น ขอยืนยันว่า มิใช่เพื่อปิดกั้น หรือบั่นทอนสิทธิเสรีภาพทางการแสดงออกของสื่อแต่อย่างใด แต่เนื่องจากสื่อดังกล่าวมีการใช้สิทธิเสรีภาพที่เกินขอบเขต โดยการเร่งเร้าให้เกิดความเกลียดชังและความโกรธแค้นขึ้นในสังคมไทย รวมทั้ง ยุยงส่งเสริมให้ผู้ชุมนุมใช้ความรุนแรง จึงจำเป็นต้องยุติการเผยแพร่ของสื่อดังกล่าวเพื่อให้เกิดความสงบและเรียบร้อยขึ้นในสังคมไทย

4. รัฐบาลไทยตระหนักดีถึงความห่วงใยที่กลุ่มองค์กรภาคประชาสังคมมีต่อสถานการณ์การเมืองไทยในปัจจุบัน แต่อย่างไรก็ดี ขอให้มีการศึกษาบริบททางการเมืองไทยและวิวัฒนาการของประชาธิปไตยของไทยอย่างลึกซึ้งด้วย โดยเฉพาะอย่างยิ่ง บริบทการใช้อำนาจโดยมิชอบเข้าแทรกแซงการพัฒนาทางประชาธิปไตยของไทยในช่วงปี 2544-2545 อันเป็นเหตุให้เกิดสถานการณ์ความวุ่นวายในปัจจุบัน ทั้งนี้ เพื่อให้แต่ละฝ่ายสามารถแสดงท่าทีของตนได้อย่างสมดุล นอกจากนี้ การชุมนุมประท้วงในปัจจุบันนั้น มิได้อยู่บนจุดประสงค์เพื่อการแสดงออกทางการเมือง และเพื่อเรียกร้องสิทธิทางประชาธิปไตย หากแต่เป็นการติดอาวุธเพื่อล้มล้างและเปลี่ยนแปลงระบอบสังคมไทยไปจากระบอบประชาธิปไตยที่มีพระมหากษัตริย์เป็นประมุข และมุ่งล้มล้างรัฐบาลที่มาจากกระบวนการที่ชอบด้วยกฎหมาย ซึ่งเป็นสิ่งที่ไม่สามารถยอมรับได้

5. รัฐบาลพร้อมด้วยคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ รัฐสภา คณาจารย์จากมหาวิทยาลัยต่างๆ พร้อมที่จะจัดเวทีเสวนาเพื่อหาแนวทางในการสร้างการเมืองใหม่ และเพื่อให้เกิดความปรองดองแห่งชาติ ซึ่งพร้อมที่จะเปิดโอกาสให้ประชาชนที่มีความเดือดร้อน และไม่พอใจกับปัญหาความเหลื่อมล้ำทางสังคมได้มีโอกาสในการแสดงความคิดเห็นด้วย

6. ตลอดระยะ 15 เดือนที่ผ่านมา รัฐบาลนี้ได้ดำเนินนโยบายแบบบูรณาการเพื่อพยายามแก้ปัญหาความเหลื่อมล้ำและช่องว่างในสังคมอย่างจริงจัง อาทิ นโยบายเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุ การศึกษาฟรี 15 ปี การประกันรายได้เกษตรกร การปฏิรูปการสาธารณสุขและการประกันสุขภาพ การสร้างเครือข่ายทางคมนาคม การปรับภาษีที่ดินและภาษีมรดก นอกจากนี้ ในเวทีระหว่างประเทศ รัฐบาลไทยได้ดำเนินการ “การทูตสาธารณสุข” (health diplomacy) รวมทั้ง ได้ให้ความช่วยเหลือแก่มิตรประเทศต่างๆ ที่ประสบภัยพิบัติทางธรรมชาติอย่างแข็งขันมาโดยตลอด ซึ่งแสดงให้เห็นว่ารัฐบาลมิได้ดำเนินนโยบายเพียงเพื่อลดช่องว่างและความเหลื่อมล้ำในระดับประเทศเท่านั้น แต่ได้ขยายผลการดำเนินนโยบายไปสู่ระดับระหว่างประเทศด้วย

7. ขณะนี้ นานาประเทศมีความเข้าใจเกี่ยวกับสถานการณ์ในไทยมากขึ้น โดยรัฐบาลได้พยายามชี้แจงถึงวิวัฒนาการของปัญหาในภาพรวม รวมทั้งแนวทางการแก้ไขปัญหาของรัฐบาลที่พยายามใช้ความอดทนอดกลั้นอย่างสูงสุด และพยายามหลีกเลี่ยงการใช้ความรุนแรงและการใช้อาวุธ ทั้งนี้ จะเดินทางไปยังประเทศเพื่อนบ้านด้วยตัวเองเพื่อชี้แจงสถานการณ์การเมืองไทยด้วย

8. ในประเด็นที่กลุ่มผู้ชุมนุมเรียกร้องให้สหประชาชาติส่งกองกำลังรักษาสันติภาพเข้ามาในไทย ขอปฏิเสธว่าจะไม่มีการส่งกองกำลังดังกล่าวเข้ามาโดยเด็ดขาด

กองการสื่อมวลชน กรมสารนิเทศ กระทรวงการต่างประเทศ โทร. 643-5170 โทรสาร. 643-5169 E-mail : div0704@mfa.go.th--จบ--

-พห-

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ