ประเทศไทยได้รับเลือกตั้งเป็นสมาชิกคณะมนตรีสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติ วาระปี 2553-2556

ข่าวต่างประเทศ Monday May 24, 2010 08:45 —กระทรวงการต่างประเทศ

เมื่อวันที่ 13 พฤษภาคม 2553 ได้มีการเลือกตั้งสมาชิกคณะมนตรีสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติ (Human Rights Council — HRC) วาระปี 2553-2556 ณ สำนักงานใหญ่สหประชาชาติ นครนิวยอร์ก จำนวน 14 ที่นั่ง ซึ่งประเทศที่ได้รับการเลือกตั้งจะต้องได้คะแนนเสียงอย่างน้อยกึ่งหนึ่งของจำนวนสมาชิกสหประชาชาติคือ 97 เสียง และผลการเลือกตั้งปรากฎว่าไทยได้รับคะแนนเสียง 182 เสียงเป็นอันดับ 2 จาก 14 ประเทศ รองจากมัลดีฟส์ ซึ่งได้ 185 เสียง* ทำให้ไทยได้เข้าเป็นสมาชิก HRC เป็นครั้งแรก นับตั้งแต่มีการจัดตั้ง HRC เมื่อปี พ.ศ. 2549

การที่ไทยได้รับเลือกตั้งเป็นสมาชิก HRC ซึ่งมีผลคะแนนมาเป็นอันดับ 2 ในครั้งนี้ แสดงให้เห็นอย่างมีนัยสำคัญต่อความเชื่อมั่นของประเทศต่างๆ ที่มีต่อนโยบายด้านสิทธิมนุษยชนของรัฐบาลไทย ท่ามกลางสถานการณ์ความท้าทายทางการเมืองภายในประเทศที่รัฐบาลพยายามแสวงหาทางออกโดยใช้แนวทางสันติวิธี และความเชื่อมั่นต่อคำมั่นด้านสิทธิมนุษยชนโดยสมัครใจของไทย ซึ่งได้รับความชื่นชมจากหลายประเทศรวมทั้งจากภาคประชาสังคม เพราะคำมั่นดังกล่าวมีเนื้อหาที่เป็นรูปธรรม และมีการจัดพิมพ์เผยแพร่ให้ต่างประเทศได้รับทราบอย่างกว้างขวางเป็น 4 ภาษา ได้แก่ อังกฤษ ฝรั่งเศส สเปน และอาหรับ เพื่อประกอบการตัดสินใจลงคะแนนเสียงให้ไทย อันเป็นการสร้างบรรทัดฐานที่ดีของประเทศที่ต้องการจะสมัครเป็นสมาชิก HRC

การเป็นสมาชิก HRC ของไทย จะส่งผลดีต่อการพัฒนาด้านสิทธิมนุษยชนของไทยทั้งในระดับประเทศ และระหว่างประเทศ โดยในระดับประเทศนั้นจะช่วยกระตุ้นให้เกิดความตื่นตัวในภาคส่วนต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับการส่งเสริมและคุ้มครองสิทธิมนุษยชน เพราะสมาชิก HRC ต้องพร้อมที่จะปฏิบัติตัวให้ได้ตามมาตรฐานสูงสุดด้านสิทธิมนุษยชนเท่าที่จะกระทำได้ตามกำลังขีดความสามารถ ในขณะที่การเป็นสมาชิก HRC จะก่อให้เกิดข้อผูกพันที่ไทยจะต้องปฏิบัติตามคำมั่นที่ให้ไว้เกิดความก้าวหน้าและสัมฤทธิ์ผล โดยเฉพาะการคุ้มครองสิทธิของผู้อ่อนแอ ผู้ด้อยโอกาส และคนยากจนในสังคม การส่งเสริมสิทธิมนุษยชนศึกษา การปรับปรุงกระบวนการยุติธรรม การส่งเสริมหลักนิติรัฐและความสมานฉันท์ในสังคม ซึ่งสอดคล้องกับแผนปรองดองแห่งชาติของรัฐบาล โดยไทยจะต้องรายงานความก้าวหน้าของการปฏิบัติตามคำมั่นให้ HRC ทราบ ผ่านการเสนอรายงานทบทวนสถานการณ์สิทธิมนุษยชนของประเทศ (Universal Periodic Review — UPR) ซึ่งไทยมีกำหนดนำเสนอต่อ HRC ในปลายปี 2554 ซึ่งทั้งหมดนี้ต้องอาศัยความร่วมมือของทุกภาคส่วนทั้งภาครัฐและภาคประชาสังคมเพื่อให้เกิดความก้าวหน้าอย่างเป็นรูปธรรม

  • กลุ่มแอฟริกา : แองโกลา (170) มอริเตเนีย (167) ยูกันดา (164) และลิเบีย (155) / กลุ่มยุโรปตะวันออก : มอลโดวา (175) โปแลนด์ (171) / กลุ่มเอเชีย : มัลดีฟส์ (185) ไทย (182) มาเลเซีย (179) และการ์ตา (177) / กลุ่มลาตินอเมริกาและแคริเบียน : เอกวาดอร์ (180) และกัวเตมาลา (180) / กลุ่มยุโรปตะวันตกและอื่นๆ : สเปน (177) และสวิตเซอร์แลนด์ (175)

กองการสื่อมวลชน กรมสารนิเทศ กระทรวงการต่างประเทศ โทร. 643-5170 โทรสาร. 643-5169 E-mail : div0704@mfa.go.th--จบ--

-พห-

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ