โฆษกกระทรวงการต่างประเทศปฏิเสธข้อกล่าวหาขององค์การนิรโทษกรรมสากล

ข่าวต่างประเทศ Monday May 24, 2010 13:34 —กระทรวงการต่างประเทศ

ตามที่องค์การนิรโทษกรรมสากล (Amnesty International) ได้ออกแถลงการณ์ลงวันที่ 17 พฤษภาคม 2553 เรื่อง “ทหารไทยต้องยุติการใช้กำลังรุนแรงจนถึงแก่ชีวิตโดยปราศจากความรับผิดชอบ” นั้น นางสาววิมล คิดชอบ อธิบดีกรมสารนิเทศและโฆษกกระทรวงการต่างประเทศได้มีแถลงการณ์ ดังนี้

รัฐบาลไทยขอปฏิเสธโดยสิ้นเชิงต่อข้อกล่าวหาที่ว่า กำลังหน่วยงานความมั่นคงของไทยได้ “จงใจยิงกระสุนจริงเข้าใส่ประชาชนที่ไม่มีอาวุธ”

ทางการไทยได้กำหนดกฏการปะทะ (Rules of Engagement) ไว้อย่างชัดเจนและสอดคล้องกับมาตรฐานสากล ซึ่งเจ้าหน้าที่ทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องในการปฏิบัติการระหว่างการชุมนุมประท้วงที่ยืดเยื้อ ไม่ว่าจะเป็นตำรวจ ทหารหรือเจ้าหน้าที่พลเรือน ได้ยึดถืออย่างเคร่งครัดตลอดมา สำหรับประเด็นที่ว่ามีการใช้กระสุนจริงนั้น เหตุการณ์เมื่อวันที่ 10 เมษายน 2553 ซึ่งมีทั้งเจ้าหน้าที่ฝ่ายความมั่นคงและผู้ประท้วงจำนวนหนึ่งเสียชีวิตจากการโจมตีด้วยอาวุธสงครามอย่างไม่เลือกหน้า โดยกลุ่มติดอาวุธที่แทรกซึมแฝงตัวอยู่ภายในกลุ่มผู้ประท้วง ได้ทำให้ทางการไทยจำเป็นต้องปรับคำสั่งการเพื่อมุ่งป้องกันการสูญเสียกำลังพลที่อาจจะเกิดขึ้นได้หากเกิดการเผชิญหน้าและปะทะกันระหว่างเจ้าหน้าที่ฝ่ายความมั่นคงกับผู้ประท้วงอีก ดังนั้น นอกเหนือจากการใช้กระสุนจริงในการเตือนโดยยิงขึ้นฟ้าและการป้องกันตนเองแล้ว เจ้าหน้าที่จะสามารถใช้กระสุนจริงได้เพียงเพื่อตอบโต้บุคคลที่ติดอาวุธที่ระบุตัวได้อย่างชัดเจนเท่านั้น ทั้งนี้ เนื่องจากบุคคลดังกล่าวอาจจะทำอันตรายต่อกำลังพลหรือต่อสาธารณชนได้หากไม่มีการตอบโต้

นอกจากนี้ เพื่อป้องกันการสูญเสียที่อาจเกิดขึ้นจากการเผชิญหน้าในระยะประชิดตัว เจ้าหน้าที่สามารถใช้ปืนลูกซองเพื่อตอบโต้กลุ่มติดอาวุธและกลุ่มก่อการร้ายที่มุ่งหน้าเข้าหาหน่วยของตนได้ เพื่อป้องกันมิให้กลุ่มดังกล่าวทำอันตรายต่อผู้อื่น โดยในกรณีนี้ กองกำลังฝ่ายความมั่นคงจะเล็งยิงเฉพาะระดับใต้หัวเข่าเท่านั้น และจะไม่ใช้อาวุธต่อผู้หญิงและเด็กโดยเด็ดขาดไม่ว่าในกรณีใดๆ ก็ตาม ดังนั้น จึงเห็นได้ว่าเจ้าหน้าที่ไม่มีเจตนาที่จะเอาชีวิตหรือก่อการบาดเจ็บที่ร้ายแรงเกินความจำเป็น ท่าทีของทางการไทยดังกล่าวนี้ เป็นเรื่องที่เปิดเผยให้สาธารณชนทั่วไปรับทราบอย่างชัดเจน

ประการที่สอง รัฐบาลไทยได้พยายามใช้ความอดกลั้นอย่างยิ่งมาโดยตลอด การดำเนินการที่องค์การนิรโทษกรรมสากลเรียกว่า “ปฏิบัติการราชประสงค์” นั้นมีวัตถุประสงค์เพื่อปิดล้อมและกระชับพื้นที่รอบบริเวณที่ชุมนุมประท้วงหลัก เพื่อกดดันให้ผู้ประท้วงยุติการประท้วงของตน โดยไม่ต้องใช้กำลังหรือต้องบุกเข้าไปในตัวพื้นที่ราชประสงค์ อย่างไรก็ดี ตั้งแต่ปฏิบัติการของเจ้าหน้าที่เริ่มต้นขึ้นเมื่อวันที่ 13 พฤษภาคม เจ้าหน้าที่ฝ่ายความมั่นคงที่ประจำอยู่ที่ด่านตรวจรอบๆ บริเวณที่ถูกปิดล้อม ได้ถูกกลุ่มติดอาวุธโจมตีด้วยอาวุธสงคราม รวมถึงระเบิดเอ็ม 79 (มากกว่าหกสิบครั้ง) อาวุธกระสุนจริง และระเบิดมือ ทั้งนี้ ยังไม่รวมถึงอาวุธอื่นๆ ที่ผู้ชุมนุมประดิษฐ์ขึ้นเองที่สื่อมวลชนมักกล่าวถึง การโจมตีเช่นว่านี้ได้ก่อให้เกิดความสูญเสียและความเสียหายต่อประชาชนผู้บริสุทธิ์ในพื้นที่ดังกล่าว ดังนั้น เจ้าหน้าที่จึงจำเป็นต้องตอบโต้เพื่อป้องกันตนเองและประชาชนอื่นด้วย

ทั้งนี้ ตามเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น ก็เป็นที่ชัดเจนว่ากลุ่มติดอาวุธภายในกลุ่มผู้ประท้วงมีความพร้อมที่จะประทุษร้ายผู้ใดก็ตามโดยไม่เลือกหน้า แม้กระทั่งเมื่อแกนนำผู้ประท้วงได้ประกาศให้ยุติการประท้วงโดยแกนนำบางคนได้เข้ามอบตัวต่อตำรวจ และขณะที่ผู้ประท้วงอื่นๆ จำนวนมากได้รับการอำนวยความสะดวกจากทางการให้เดินทางกลับภูมิลำเนาโดยปลอดภัยแล้วก็ตาม แต่ก็ยังมีกลุ่มหัวรุนแรงที่ยังคงหลงเหลืออยู่ที่ได้ก่อเหตุสร้างความปั่นป่วนในเมือง จนทำให้รัฐบาลจำเป็นต้องประกาศกำหนดเวลาห้ามออกนอกเคหสถาน (เคอร์ฟิว) เพื่อดูแลความปลอดภัยสาธารณะในขณะที่เจ้าหน้าที่ฝ่ายความมั่นคงปฏิบัติงานเพื่อควบคุมสถานการณ์

รัฐบาลไทยมีความมุ่งมั่นที่จะปกป้องความมั่นคงปลอดภัยของสาธารณชน ทั้งชาวไทยและชาวต่างประเทศ และนำความปกติสุขกลับคืนสู่สังคมไทย หน่วยงานทางการไทยได้ปฏิบัติหน้าที่ด้วยความโปร่งใส โดยที่สื่อมวลชนทั้งไทยและต่างประเทศสามารถรายงานข่าวเกี่ยวกับปฏิบัติการของกองกำลังฝ่ายความมั่นคงได้ รัฐบาลเปิดกว้างต่อการตรวจสอบและพร้อมที่จะแสดงความรับผิดชอบตามครรลองของกฎหมาย ทั้งนี้ นอกจากการสอบสวนที่กำลังดำเนินอยู่นำโดยกรมสอบสวนคดีพิเศษ และคณะกรรมการตรวจสอบหาข้อเท็จจริงที่เก็บรวบรวมหลักฐานเกี่ยวกับกรณีต่างๆ ที่เกิดขึ้นในระหว่างการชุมนุมประท้วงแล้ว ในข้อเสนอแผนการปรองดองของนายกรัฐมนตรี นายกรัฐมนตรีก็ได้เน้นย้ำถึงความจำเป็นที่จะต้องตรวจสอบและพิสูจน์ทราบข้อเท็จจริงเกี่ยวกับกรณีความรุนแรงที่เกิดขึ้น ซึ่งได้ก่อให้เกิดความหวาดกลัวต่อสาธารณชนและอาจจะยิ่งทำให้ความแตกแยกและความเกลียดชังร้าวลึกลงไปอีก โดยระบุให้เรื่องนี้เป็นหนึ่งในองค์ประกอบห้าข้อของแผนปรองดอง นายกรัฐมนตรีเห็นว่าการตรวจสอบดังกล่าวมีความจำเป็นต่อทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องกับกรณีดังกล่าวและต่อสังคมโดยส่วนรวม ในขณะเดียวกัน รัฐบาลก็พร้อมที่จะให้ความร่วมมือในการตรวจสอบโดยองค์กรอิสระ อาทิ คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ

กองการสื่อมวลชน กรมสารนิเทศ กระทรวงการต่างประเทศ โทร. 643-5170 โทรสาร. 643-5169 E-mail : div0704@mfa.go.th--จบ--

-พห-

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ