รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ ในฐานะผู้แทนพิเศษนายกรัฐมนตรี จะเป็นหัวหน้าคณะผู้แทนไทย เข้าร่วมการประชุมระดับผู้นำว่าด้วยการส่งเสริมปฏิสัมพันธ์และมาตรการสร้างความไว้เนื้อเชื่อใจระหว่างประเทศในภูมิภาคเอเชีย (The Conference on Interaction and Confidence Building Measures in Asia: CICA) ครั้งที่ 3 ณ นครอิสตันบูล สาธารณรัฐตุรกี ในระหว่างวันที่ 7-9 มิถุนายน 2553
CICA เป็นกรอบการประชุมฯ ตามข้อริเริ่มของประธานาธิบดี Nursultan Nazarbayev แห่ง คาซัคสถาน ที่เสนอต่อที่ประชุมสมัชชาใหญ่แห่งสหประชาชาติ ครั้งที่ 47 เมื่อวันที่ 5 ตุลาคม 2535 ปัจจุบันมีสมาชิก 20 ประเทศ ได้แก่ คาซัคสถาน จีน อินเดีย ปากีสถาน รัสเซีย อาเซอร์ไบจาน อัฟกานิสถาน อียิปต์ มองโกเลีย อิหร่าน อิสราเอล อุซเบกิสถาน ทาจิกิสถาน คีร์กิซสถาน ตุรกี ปาเลสไตน์ เกาหลีใต้ สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ จอร์แดน และไทย ซึ่งเป็นประเทศสมาชิกอาเซียนเพียงประเทศเดียวที่เข้าเป็นประเทศสมาชิกตั้งแต่ปี 2547
การประชุมระดับผู้นำครั้งนี้ เป็นการประชุมครั้งที่ 3 หลังจากที่เคยมีการประชุมสองครั้งแรกเมื่อปี 2545 และ 2549 ที่นครอัลมาตี สาธารณรัฐคาซัคสถาน ซึ่งการประชุมฯ ครั้งที่ 3 ที่นครอิสตันบูล สาธารณรัฐตุรกี จะมีการรับรองการเข้ารับตำแหน่งประธาน CICA ของตุรกี ในวาระปี 2553 — 2555 ต่อจากคาซัคสถาน และร่วมกันรับรองสมาชิกใหม่อีก 2 ประเทศ ได้แก่ สาธารณรัฐอิรัก และสาธารณรัฐสังคมนิยมเวียดนาม
สำหรับกิจกรรมสำคัญของการประชุม ซึ่งนอกจากการกล่าวสุนทรพจน์ในกรอบของการส่งเสริมปฏิสัมพันธ์และมาตรการสร้างความไว้เนื้อเชื่อใจระหว่างประเทศในภูมิภาคเอเชีย โดยผู้นำประเทศสมาชิกแล้ว ยังมีกิจกรรมหลักคือการลงนามในอนุสัญญาว่าด้วยเอกสิทธิ์และความคุ้มกันของสำนักเลขาธิการ บุคลากรของสำนักเลขาธิการ และผู้แทนสมาชิกของ CICA และการแถลงปฏิญญาการประชุมร่วมกันของประเทศด้วย
การเข้าร่วมประชุมของไทยในครั้งนี้ เป็นการแสดงบทบาทของไทยในฐานะประเทศสมาชิกที่มีความกระตือรือร้นของ CICA เพื่อร่วมกระชับความสัมพันธ์กับเหล่าประเทศสมาชิก และประเทศผู้สังเกตการณ์ ทั้งในระดับพหุภาคีและทวิภาคี
ที่ผ่านมา บทบาทที่สำคัญของไทยในกรอบ CICA คือการเป็นเจ้าภาพจัดประชุม Special Working Group และ Senior Officials Committee ระหว่างวันที่ 12 - 14 มีนาคม 2550 ที่กรุงเทพฯ ซึ่งถือเป็นครั้งแรกที่มีการประชุมในกรอบ CICA นอกคาซัคสถาน นอกจากนี้ ในปีนี้ไทยยังเป็นเจ้าภาพในการหารือ 3 ฝ่าย ระหว่าง ไทย คาซัคสถานในฐานะประธานปัจจุบัน และตุรกีในฐานะประธานถัดไป (ช่วงปี 2553 - 2555) เมื่อวันที่ 18 มกราคม 2553 ที่กรุงเทพฯ เพื่อแลกเปลี่ยนประสบการณ์ของไทยในการส่งเสริมมาตรการสร้างความไว้เนื้อเชื่อใจระหว่างประเทศ (CBMs) ในมิติการเมืองและการทหารในกรอบ ARF ทั้งนี้
เพื่อเป็นต้นแบบที่ CICA สามารถศึกษานำไปประยุกต์ใช้ในการขับเคลื่อนการพัฒนา CBMs ต่อไป
นอกจากนี้ ในเดือนกันยายน 2553 ไทยในฐานะประเทศผู้ประสานงานด้านการสร้างความเชื่อมั่นเพื่อส่งเสริมโอกาสทางธุรกิจและแลกเปลี่ยนข้อมูลของธุรกิจขนาดกลางและขนาดเล็ก (SMEs) โดยสำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (สสว.) จะเป็นเจ้าภาพการประชุม CICA Business Forum ที่กรุงเทพฯ ในวันที่ 2-3 กันยายน 2553 ด้วย
กองการสื่อมวลชน กรมสารนิเทศ กระทรวงการต่างประเทศ โทร. 643-5170 โทรสาร. 643-5169 E-mail : div0704@mfa.go.th--จบ--