ตามที่ได้มีการจับกุมหญิงไทยจำนวน 18 รายจากสถานบริการ The Lodge ในเขต Kempton Park นครโจฮันเนสเบิร์ก ประเทศแอฟริกาใต้ เมื่อวันที่ 30 พฤษภาคม 2553 นั้น
กระทรวงการต่างประเทศได้รับรายงานเพิ่มเติมจากสถานเอกอัครราชทูต ณ กรุงพริทอเรีย ดังนี้
1. เมื่อวันที่ 1 มิ.ย. 53 เจ้าหน้าที่สถานเอกอัครราชทูตฯ และเจ้าหน้าที่ตรวจคนเข้าเมืองแอฟริกาใต้ได้สัมภาษณ์หญิงไทยทั้งหมด 18 คน โดยสามารถสรุปได้ว่าไม่ได้เป็นเหยื่อการค้ามนุษย์ และเต็มใจเดินทางไปแอฟริกาใต้เพื่อขายบริการ ดังนั้น หญิงทั้งหมดจึงเข้าข่ายเป็นคนเข้าเมืองโดยผิดกฎหมาย และจะถูกปรับ 3,000 — 5,000 แรนด์ (ประมาณ 12,000-20,000 บาท) และถูกเนรเทศกลับประเทศไทยตามกระบวนการกฎหมายแอฟริกาใต้ ตลอดจนห้ามเข้าประเทศแอฟริกาใต้โดยถาวร
2. ทั้งนี้ ตั้งแต่ปี 2547 ถึง 2550 สถานเอกอัครราชทูตฯ ได้ช่วยเหลือหญิงไทยที่เป็นเหยื่อการค้ามนุษย์ปีละประมาณ 50-70 ราย แต่หากรวมผู้ที่ไม่ได้มาขอความช่วยเหลือจากสถานเอกอัครราชทูตฯ ก็จะมีประมาณ 150-200 ราย
3. นอกจากนี้ เมื่อช่วงปลายเดือนพฤษภาคม ที่ผ่านมา สถานเอกอัครราชทูต ณ กรุงอาบูดาบีได้ให้การช่วยเหลือหญิงไทยอีก 19 คน ซึ่งส่วนใหญ่ถูกหลอกไปค้าประเวณีที่กรุงอาบูดาบี ประเทศสหรัฐอาหรับเอมิเรสต์ และถูกกักขังโดยกลุ่มกระบวนการค้ามนุษย์ข้ามชาติ โดยเมื่อวันที่ 29 พฤษภาคม 2553 สถานเอกอัครราชทูตฯ ได้แจ้งให้ตำรวจสหรัฐอาหรับเอมิเรสต์เข้าตรวจค้น และได้จับกุมคนจีนและคนไทยซึ่งต้องสงสัยกระทำความผิดค้ามนุษย์และช่วยเหลือหญิงไทยดังกล่าวออกมาได้เรียบร้อย
4. สถานเอกอัครราชทูตฯ ได้ประสานกับเจ้าหน้าที่ตำรวจและอัยการในการสอบสวน ซึ่งปรากฏว่า มีหญิงไทย 18 คนเป็นผู้เสียหายจากการค้ามนุษย์ ยกเว้นหญิงไทยจำนวน 1 คนซึ่งให้ปากคำว่า เต็มใจมาค้าประเวณีที่กรุงอาบูดาบีโดยไม่มีใครบังคับ ดังนั้น ตำรวจจึงได้สั่งฟ้องหญิงไทยดังกล่าว ในข้อหาค้าประเวณี สำหรับผู้เสียหายทั้ง 18 คนได้ถูกส่งตัวไปพักรอที่บ้านพักฉุกเฉินสำหรับเด็กและสตรีในกรุงอาบูดาบี จนกว่าสิ้นสุดกระบวนการในชั้นศาล ซึ่งคาดว่าจะใช้เวลาประมาณ 1-2 สัปดาห์
5. เกี่ยวกับเรื่องนี้ กระทรวงการต่างประเทศขอแจ้งเตือนดังนี้
5.1 การค้าประเวณีเป็นความผิดตามกฎหมายในหลายประเทศ
5.2 แรงงานไทยที่จะเดินทางไปทำงานในต่างประเทศนั้น ควรมีสัญญาจ้างงานที่ถูกต้อง และได้รับวีซ่าสำหรับการทำงานในหนังสือเดินทาง ทั้งนี้ การเดินทางไปทำงานโดยถูกกฎหมายมี 4 วิธี คือ 1) โดยรัฐบาลเป็นผู้จัดส่ง ซึ่งต้องติดต่อสำนักจัดหางานจังหวัด หรือกรมการจัดหางาน 2) โดยบริษัทจัดหางาน ซึ่งต้องดูสัญญาจ้างงานในรายละเอียด 3) โดยตนเองเป็นผู้หางานได้ โดยแจ้งสำนักจัดหางานจังหวัด หรือกรมการจัดหางาน โดยนายจ้างในต่างประเทศต้องนำสัญญาจ้างงานไปให้สถานเอกอัครราชทูต/สถานกงสุลใหญ่ตรวจสอบก่อน แล้วจึงดำเนินการต่อไป และ 4 โดยการส่งไปฝึกงานในต่างประเทศ
5.3 ผู้ที่ได้รับวีซ่าให้เดินทางไปท่องเที่ยว/พำนัก/ทำงาน หรือศึกษาต่อในต่างประเทศ ต้องปฏิบัติตามกฎหมายของประเทศนั้น อย่างเคร่งครัด ตามประเภทวีซ่าของตนที่ได้รับ
กองการสื่อมวลชน กรมสารนิเทศ กระทรวงการต่างประเทศ โทร. 643-5170 โทรสาร. 643-5169 E-mail : div0704@mfa.go.th--จบ--