ปฏิกิริยาของกระทรวงการต่างประเทศต่อจดหมายเปิดผนึกขององค์กรเพื่อการปกป้องสื่อมวลชน

ข่าวต่างประเทศ Thursday June 10, 2010 07:38 —กระทรวงการต่างประเทศ

ตามที่สื่อมวลชนได้ให้ความสนใจสอบถามเกี่ยวกับจดหมายเปิดผนึกขององค์กรเพื่อการปกป้องสื่อมวลชน (Committee to Protect Journalists — CPJ) ลงวันที่ 7 มิถุนายน 2553 ถึงนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี แสดงความกังวลเกี่ยวกับเสรีภาพสื่อ ตลอดจนการทำอันตรายผู้สื่อข่าวในช่วงการชุมนุมของกลุ่มแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ (นปช.) นายธานี ทองภักดี รองอธิบดีกรมสารนิเทศและรองโฆษกกระทรวงการต่างประเทศ ได้แถลงดังนี้

1. รัฐบาลไทยรู้สึกเสียใจต่อการสูญเสียชีวิตที่เกิดขึ้น ซึ่งรวมถึงการเสียชีวิตของผู้สื่อข่าวและช่างภาพชาวต่างประเทศ 2 ราย โดยเหตุการณ์ทั้งหมด รวมทั้งเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นกับสื่อมวลชนต่างประเทศอยู่ระหว่างการสอบสวน

2. นอกจากการสอบสวนที่นำโดยกรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) คณะรัฐมนตรียังได้แต่งตั้งให้ศาสตราจารย์ ดร. คณิต ณ นคร อดีตอัยการสูงสุด เป็นประธานคณะกรรมการอิสระตรวจสอบและค้นหาความจริงเพื่อการปรองดองแห่งชาติ โดยรัฐบาลได้ให้อาณัติแก่คณะกรรมการดังกล่าวให้พิจารณาถึงทุกฝ่าย ซึ่งรวมถึงฝ่ายที่เห็นใจกลุ่มผู้ชุมนุม เพื่อให้คณะกรรมการดังกล่าวสามารถบรรลุผลการตรวจสอบที่เป็นกลางและเป็นที่ยอมรับของทุกฝ่าย และช่วยส่งเสริมกระบวนการปรองดอง

3. นอกจากนี้ คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ และคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ ซึ่งเป็นหน่วยงานอิสระตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2550 ก็ได้ดำเนินกระบวนการตรวจสอบของตนเอง ขณะที่สภาผู้แทนราษฎรก็ได้จัดการอภิปรายไม่ไว้วางใจนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีบางราย เมื่อวันที่ 31 พฤษภาคม — 1 มิถุนายน 2553 โดยมีเรื่องการปฏิบัติหน้าที่ของรัฐบาลระหว่างการชุมนุมเป็นประเด็นสำคัญของการอภิปรายฯ ซึ่งรัฐบาลก็ได้รับการลงคะแนนไว้วางใจจากสภาฯ จึงเห็นได้ว่า รัฐบาลเปิดกว้างให้มีการตรวจสอบและพร้อมที่จะร่วมมือกับทุกฝ่ายและแสดงความรับผิดชอบในการดำเนินการตรวจสอบต่างๆ บนพื้นฐานของกฎหมาย

4. ไทยเคารพเสรีภาพของสื่อ โดยเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นแม้จะมีการจำกัดการทำงานของสื่อบ้าง แต่ก็เป็นการจำกัดเฉพาะเท่าที่จำเป็นเพื่อปกป้องความเป็นระเบียบเรียบร้อยของสังคม โดยป้องกันไม่ให้มีการใช้สื่อในทางที่ผิดกฎหมายเพื่อเป็นเครื่องมือในการบิดเบือนและปลุกปั่นให้เกิดความรุนแรงและความเกลียดชังระหว่างประชาชน ซึ่งมีส่วนที่นำไปสู่ความรุนแรงในช่วงสองเดือนที่ผ่านมา นอกจากนี้ ข้อ 4.1 ของกติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมือง (International Covenant on Civil and Political Rights — ICCPR) ก็อนุญาตให้มีการจำกัดสิทธิบางประการในภาวะฉุกเฉินได้ และโดยที่ไทยตระหนักดีถึงพันธกรณีระหว่างประเทศ ไทยจึงได้ใช้สิทธิตามข้อ 4.1 ดังกล่าวอย่างโปร่งใส ภายหลังการประกาศใช้พระราชกำหนดว่าด้วยการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉินในบางพื้นที่ของประเทศ โดยได้แจ้งรัฐภาคีของกติการะหว่างประเทศดังกล่าวเกี่ยวกับการประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินผ่านสำนักงานเลขาธิการสหประชาชาติ

5. สำหรับคดีของนายสมยศ พฤกษาเกษมสุข นั้น นายสมยศฯ ถูกควบคุมตัวเมื่อวันที่ 24 พฤษภาคม 2553 ด้วยหมายจับที่ออกโดยศาลภายใต้ พ.ร.ก. สถานการณ์ฉุกเฉินฯ เพื่อการสอบสวนเพิ่มเติม สืบเนื่องมาจากภายหลังการยุติการชุมนุมของกลุ่ม นปช. เมื่อวันที่ 19 พฤษภาคม 2553 นายสมยศฯ ยังคงจัดแถลงข่าวและออกแถลงการณ์เพื่อปลุกปั่นให้เกิดการกระทำที่เป็นการต่อต้านรัฐบาลต่อไป ทั้งนี้ ภายใต้ พ.ร.ก. สถานการณ์ฉุกเฉินฯ พนักงานเจ้าหน้าที่สามารถควบคุมตัวผู้ต้องหาได้ไม่เกิน 30 วัน โดยศาลจะต้องเป็นผู้อนุมัติการขยายเวลาการควบคุมตัวทุก 7 วัน และภายหลังสิ้นสุดระยะเวลา 30 วันแล้ว หากจำเป็นต้องมีการควบคุมตัวต่อ พนักงานเจ้าหน้าที่จะต้องดำเนินการตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา ซึ่งคดีของนายสมยศฯ จะได้รับการดำเนินการตามขั้นตอนของกฎหมายเช่นเดียวกับผู้ต้องหารายอื่นที่ถูกควบคุมตัวหรือจับกุมระหว่างเหตุการณ์ชุมนุม

6. ไทยให้ความสำคัญต่อความปลอดภัยของสื่อมวลชนทั้งไทยและต่างประเทศ และรัฐบาลก็ตระหนักถึงบทบาทที่สำคัญของสื่อที่มีความเป็นมืออาชีพที่จะได้รายงานสถานการณ์อย่างถูกต้องตรงกับข้อเท็จจริง จึงได้ให้เสรีภาพและเปิดให้สื่อสามารถรายงานเหตุการณ์ต่างๆ ในช่วงเหตุการณ์ความไม่สงบทางการเมือง รวมถึงการปฏิบัติงานของเจ้าหน้าที่ฝ่ายความมั่นคง ขณะเดียวกัน เจ้าหน้าที่ก็ได้ใช้ความพยายามในการให้ข้อมูลแก่สื่อมวลชนตลอดจนสาธารณชนโดยทั่วไปถึงอันตรายที่อาจเกิดขึ้น โดยเฉพาะจากการกระทำของกลุ่มติดอาวุธที่แฝงตัวอยู่ในกลุ่มผู้ชุมนุม นอกจากนี้ หน่วยงานที่เกี่ยวข้องของรัฐบาลได้ประสานกับสมาคมผู้สื่อข่าวต่างประเทศแห่งประเทศไทย (Foreign Correspondents’ Club of Thailand — FCCT) เพื่อหาแนวทางในการยกระดับความปลอดภัยของสื่อมวลชนต่างประเทศที่ทำงานในประเทศไทยด้วย

กองการสื่อมวลชน กรมสารนิเทศ กระทรวงการต่างประเทศ โทร. 643-5170 โทรสาร. 643-5169 E-mail : div0704@mfa.go.th--จบ--

-พห-

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ