ผลการประชุม ASEAN-Canada Dialogue ครั้งที่ 7เมื่อวันที่ 10-11 มิถุนายน 2553 ประเทศไทยในฐานะประเทศผู้ประสานงานความสัมพันธ์อาเซียน -แคนาดาได้เป็นเจ้าภาพจัดการประชุม ASEAN-Canada Dialogue ครั้งที่ 7 ณ โรงแรมสยามซิตี้ กรุงเทพฯ โดยมีนางจิตริยา ปิ่นทอง รองปลัดกระทรวงการต่างประเทศ และนาย Kenneth Macartnet อธิบดีกรมเอเชียใต้ เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ และโอเชียเนีย กระทรวงการต่างประเทศและการค้าระหว่างประเทศแคนาดา เป็นประธานร่วมของการประชุมฯ
ที่ประชุม ASEAN-Canada Dialogue ครั้งที่ 7 ได้หารือและแลกเปลี่ยนความคิดเห็นในประเด็นทางยุทธศาสตร์ทั้งในด้านการเมือง ความมั่นคง เศรษฐกิจ ประเด็นปัญหาในภูมิภาค และความร่วมมือเพื่อการพัฒนาต่างๆ ซึ่งรวมถึงสถานการณ์ในอัฟกานิสถาน/ ปากีสถาน ปัญหาอาชญากรรมข้ามชาติและการต่อต้านการก่อการร้าย สถาปัตยกรรมในภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิก วิกฤตทางการเงินและเศรษฐกิจโลก และความมั่นคงทางอาหารและพลังงาน นอกจากนี้ ที่ประชุมฯ ยังได้ทบทวนพัฒนาการที่สำคัญทั้งในอาเซียนและแคนาดา และหารือเกี่ยวกับทิศทางความร่วมมือระหว่างกันในอนาคต โดยเฉพาะอย่างยิ่งความคืบหน้าของการภาคยานุวัติสนธิสัญญาไมตรีและความร่วมมือในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (Treaty of Amity and Cooperation in Southeast Asia - TAC) ของแคนาดา และการให้ความเห็นชอบต่อร่างแผนปฏิบัติการเพื่อให้เป็นไปตามเจตนารมย์ของปฏิญญาร่วมว่าด้วยความเป็นหุ้นส่วนที่เพิ่มพูนระหว่างอาเซียนกับแคนาดา ค.ศ. 2011-2015 (Plan of Action to Implement the Joint Declaration on the ASEAN-Canada Enhanced Partnership 2011-2015) เพื่อให้รัฐมนตรีต่างประเทศอาเซียนและแคนาดาให้การรับรองอย่างเป็นทางการในการประชุมรัฐมนตรีต่างประเทศอาเซียนกับแคนาดา (PMC+1) ในวันที่ 22 กรกฎาคม 2553 ที่กรุงฮานอย ประเทศเวียดนามต่อไป
การแสดงเจตจำนงในการภาคยานุวัติ TAC ของแคนาดาเป็นการส่งสัญญาณถึงความพร้อมของแคนาดาที่จะดำเนินบทบาทที่เข้มแข็งยิ่งขึ้นเพื่อรักษาไว้ซึ่งสันติภาพและเสถียรภาพ รวมทั้งส่งเสริมความเจริญในภูมิภาค โดยเฉพาะอย่างยิ่งกับการสนับสนุนความพยายามของอาเซียนในการบรรลุเป้าหมายการเป็น “ประชาคมอาเซียน” ในปี 2558
ทั้งนี้ ประเทศไทยในฐานะประเทศผู้ประสานงานฯ ได้เร่งกระชับความสัมพันธ์ระหว่างอาเซียนและแคนาดาให้แน่นแฟ้นยิ่งขึ้น โดยเฉพาะการผลักดันประเด็นต่างๆ ดังนี้
1) การจัดทำแผนปฏิบัติการฯ ให้แล้วเสร็จทันการประชุม PMC+1 กับแคนาดาในเดือนกรกฎาคมที่เวียดนามในปี 2553
2) การผลักดันการภาคยานุวัติ TAC ของแคนาดาให้แล้วเสร็จ
3) การบรรลุข้อตกลงกรอบความร่วมมือด้านการค้าและการลงทุนระหว่างอาเซียนกับแคนาดา (ASEAN -Canada Trade and Investment Framework Agreement - TIFA)
4) การสนับสนุนให้มีการจัดกิจกรรมกระชับความสัมพันธ์อาเซียน-แคนาดาในไทย
5) การผลักดันให้แคนาดาเข้ามามีส่วนร่วมมากขึ้นในการสร้างประชาคมอาเซียนภายในปี 2558 และวิวัฒนาการของสถาปัตยกรรมในภูมิภาค (regional architecture)
6) การผลักดันให้แคนาดาสนับสนุนบทบาทของประธานอาเซียนในกรอบการประชุม G-20 ซึ่งแคนาดาเป็นเจ้าภาพในปี 2553 ซึ่งทางแคนาดาได้เชิญเวียดนามและเลขาธิการอาเซียนเข้าร่วมประชุมสุดยอดผู้นำ G20 ที่นครโตรอนโต ระหว่างวันที่ 26-27 มิถุนายน 2553 เป็นที่เรียบร้อยแล้ว
ทั้งนี้ ความพยายามของไทยในการกระชับความสัมพันธ์อาเซียน-แคนาดาดังกล่าวจะเป็นประโยชน์ต่อทั้งกับไทยและอาเซียนในภาพรวม โดยเฉพาะอย่างยิ่งผ่านการให้ความช่วยเหลือต่างๆ ที่แคนาดาจะให้กับอาเซียนรวมทั้งกับประเทศไทย นอกเหนือจากที่แคนาดาให้กับประเทศสมาชิกอาเซียนโดยตรงอยู่แล้ว ไม่ว่าจะเป็นความช่วยเหลือด้านการเชื่อมโยงในภูมิภาค ด้านเทคนิค และการพัฒนา เป็นต้น
กองการสื่อมวลชน กรมสารนิเทศ กระทรวงการต่างประเทศ โทร. 643-5170 โทรสาร. 643-5169 E-mail : div0704@mfa.go.th--จบ--