นายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศเข้าร่วมในพิธีเปิดการประชุมเอกอัครราชทูต / กงสุลใหญ่ กับผู้ว่าราชการจังหวัดชายแดน (ด้านไทย-ลาว)

ข่าวต่างประเทศ Thursday June 17, 2010 07:26 —กระทรวงการต่างประเทศ

เมื่อวันที่ 14 มิถุนายน 2553 นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี ได้เป็นประธานเปิดการประชุมเอกอัครราชทูต / กงสุลใหญ่ กับผู้ว่าราชการจังหวัดชายแดน (ด้านไทย-ลาว) ณ โรงแรมเรดิสัน กรุงเทพฯ โดยมีนายกษิต ภิรมย์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศร่วมกล่าวในพิธีเปิดถึงภาพรวมความสัมพันธ์ไทย-ลาว ทั้งนี้ การประชุมดังกล่าวกระทรวงการต่างประเทศและกระทรวงมหาดไทยได้ร่วมกันจัดขึ้น เพื่อบูรณาการแนวคิด/การทำงานระหว่างหน่วยงานราชการที่เกี่ยวข้องและหารือถึงมาตรการเสริมสร้างความเชื่อมั่นของประเทศไทยต่อประเทศเพื่อนบ้าน รวมทั้งติดตามสถานะความสัมพันธ์และหารือถึงประเด็นสำคัญที่จะมีผลต่อความสัมพันธ์ไทย — ลาว

นายกรัฐมนตรีได้กล่าวชื่นชมการดำเนินการร่วมกันระหว่างกระทรวงการต่างประเทศและกระทรวง มหาดไทยในการจัดการประชุมครั้งนี้ขึ้น ซึ่งจะช่วยบูรณาการการทำงานเกี่ยวกับความสัมพันธ์ระหว่างไทยกับประเทศเพื่อนบ้าน ซึ่งในกรณีนี้คือสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาวให้สามารถพัฒนาไปอย่างมีประสิทธิภาพ ทั้งนี้ ที่ผ่านมาความสัมพันธ์ระหว่างสองประเทศเป็นไปอย่างราบรื่นใกล้ชิดกันมาโดยตลอดอันเป็นผลสืบเนื่องมาจากปัจจัยทางด้านประเพณีและวัฒนธรรมที่มีความใกล้เคียงกัน นอกจากนี้ ประเด็นความร่วมมือระหว่างสองประเทศ อาทิ การแลกเปลี่ยนการเยือนในระดับสูงอย่างสม่ำเสมอ กลไกที่ดูแลร่วมมือและป้องกันแก้ไขปัญหาต่างๆ การขยายความร่วมมือด้านการค้า การลงทุน และเศรษฐกิจ และการช่วยส่งเสริมลาวให้ก้าวสู่เวทีระหว่างประเทศ ก็ควรได้รับการสนับสนุนเพื่อสร้างความแน่นแฟ้นให้ความสัมพันธ์ระหว่างสองประเทศต่อไปด้วย การประชุมฯ ในครั้งนี้เป็นการแลกเปลี่ยนประเด็นต่างๆ ระหว่างสองหน่วยงานหลักของไทยที่มีความสำคัญต่อการส่งเสริมความสัมพันธ์อันดีระหว่างสองประเทศ

รัฐมนตรีว่าการฯ ได้กล่าวเสริมนายกรัฐมนตรีในภาพรวมความสัมพันธ์ไทย-ลาว โดยระบุถึงบทบาทหน้าที่และการดำเนินการของหน่วยงานต่างๆ ที่เกี่ยวข้องของไทยให้สอดคล้องกับนโยบายของรัฐบาลไทยต่อสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว โดยมีสาระสำคัญ ดังนี้

1. การประสานงานระหว่างเอกอัครราชทูต / กงสุลใหญ่ กับผู้ว่าราชการจังหวัด ถือเป็นการเชื่อมโยงการดำเนินการระดับท้องถิ่น (Localization) กับกระแสโลกาภิวัฒน์ (Globalization) เพราะสิ่งที่เกิดขึ้นในระดับท้องถิ่นและระดับภูมิภาคสามารถส่งผลกระทบในระดับระหว่างประเทศได้ อาทิ กรณีการส่งกลับชาวม้งลาวเข้าเมืองผิดกฎหมาย ซึ่งเป็นการตัดสินใจในระดับรัฐบาล แต่มีหลายประเทศแสดงความไม่เห็นด้วย ซึ่งกระทรวงการต่างประเทศก็ยึดถือความสัมพันธ์กับลาวเป็นตัวตั้ง รวมทั้งเคารพในอำนาจอธิปไตยของลาว และมีความไว้เนื้อเชื่อใจกันโดยไม่จำเป็นต้องมีความตกลงเป็นลายลักษณ์อักษร การส่งกลับจึงดำเนินไปอย่างสำเร็จลุล่วง

2. รัฐบาลไทยให้ความสำคัญต่อการกระชับความสัมพันธ์กับประเทศเพื่อนบ้าน โดยถือเป็นพันธกรณีต่อตนเอง พันธกรณีในกรอบสหประชาชาติ ในลักษณะความร่วมมือระหว่างประเทศกำลังพัฒนา (South-South Cooperation) และความร่วมมือในกรอบอาเซียน โดยเฉพาะความริเริ่มเพื่อการรวมตัวของอาเซียน (Initiative for ASEAN Integration : IAI) เพื่อลดช่องว่างของระดับการพัฒนากับประเทศเพื่อนบ้าน

3. กลไกการให้ความร่วมมือเพื่อการพัฒนาที่ไทยมีต่อประเทศเพื่อนบ้าน ได้แก่

(1) สำนักงานความร่วมมือเพื่อการพัฒนาระหว่างประเทศ (สพร.) ให้ความช่วยเหลือทางวิชาการและพัฒนาทรัพยากรมนุษย์

(2) สำนักงานพัฒนาความร่วมมือทางเศรษฐกิจกับประเทศเพื่อนบ้าน (สพพ.) ให้การสนับสนุนทางการเงินเพื่อก่อสร้างเส้นทางคมนาคมและสาธารณูปโภคขั้นพื้นฐาน

(3) สถาบันระหว่างประเทศเพื่อการค้าและการพัฒนา (International Institute for Trade and Development: ITD) ให้ความร่วมมือด้านการฝึกอบรมเพื่อเพิ่มขีดความสามารถ

(4) การดำเนินงานด้านการทูตเพื่อประชาชน (Public Diplomacy) และการทูตเชิงวัฒนธรรม (Cultural Diplomacy) โดยกรมสารนิเทศของกระทรวงการต่างประเทศ

(5) การดำเนินงานของภาคเอกชนและรัฐวิสาหกิจที่เข้าไปลงทุนในสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว ภายใต้กิจกรรมความรับผิดชอบทางสังคมของธุรกิจ (Corporate Social Responsibility: CSR) เพื่อรักษาสภาพแวดล้อมและพัฒนาคุณภาพของประชากร เพื่อไม่ให้รู้สึกว่านักลงทุนไทยเข้าไปเอารัดเอาเปรียบ

วัตถุประสงค์ของการเข้าไปพัฒนาสิ่งต่างๆ ในประเทศเพื่อนบ้านเหล่านี้ ก็เพื่อลดช่องว่างทางเศรษฐกิจและสังคม และเป็นการป้องกันไม่ให้ปัญหาต่างๆ ในประเทศเพื่อนบ้านไหลทะลักเข้ามาในไทย

4. การดำเนินความสัมพันธ์ขอให้หน่วยงานต่างๆ ร่วมมือกันในลักษณะ “วิ่งไปด้วยกัน” เพื่ออำนวยความสะดวกให้การผ่านแดนเป็นไปด้วยความรวดเร็ว

ถ้อยแถลงของนายกรัฐมนตรี สามารถเข้าดูได้ที่ http://www.mfa.go.th/internet/information/24544.pdf

กองการสื่อมวลชน กรมสารนิเทศ กระทรวงการต่างประเทศ โทร. 643-5170 โทรสาร. 643-5169 E-mail : div0704@mfa.go.th--จบ--

-พห-

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ