ไทย-ฝรั่งเศสกระชับสัมพันธ์แน่นแฟ้น

ข่าวต่างประเทศ Wednesday June 23, 2010 07:23 —กระทรวงการต่างประเทศ

เมื่อวันที่ 21 มิถุนายน 2553 วันแรกของการเดินทางเยือนยุโรปอย่างเป็นทางการ นายกษิต ภิรมย์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศได้พบหารือกับรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศฝรั่งเศส ผู้บริหารระดับสูงขององค์กรระหว่างประเทศ ได้แก่ UNESCO และ OECD ตลอดจนได้ประชุมร่วมกับทีมประเทศไทย และพบหารือกับกลุ่มนักธุรกิจชาวฝรั่งเศสเพื่อชี้แจงทำความเข้าใจในสถานการณ์ทางการเมืองของไทย และแนวทางกระชับความร่วมมือระหว่างกัน

ในช่วงเช้ารัฐมนตรีต่างประเทศเข้าร่วมการประชุมกับทีมประเทศไทยซึ่งประกอบด้วยเจ้าหน้าที่จากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องที่ประจำอยู่ในฝรั่งเศส ที่สถานเอกอัครราชทูตฯ เพื่อบรรยายสรุปเกี่ยวกับสถานะความคืบหน้าของสถานการณ์การเมืองในประเทศไทย และหารือถึงกิจกรรมในการส่งเสริมความสัมพันธ์ระหว่างไทยกับฝรั่งเศสในภาพรวม หลังจากนั้น รัฐมนตรีต่างประเทศได้เข้าพบหารือกับนายแบร์นาร์ กุชแนร์ (Bernard Kouchner) รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศฝรั่งเศสในระหว่างอาหารกลางวัน เพื่อแลกเปลี่ยนความคิดเห็นถึงประเด็นสำคัญๆ ที่มีความสนใจร่วมกันในกรอบความสัมพันธ์ทวิภาคี และยืนยันถึงความเป็นหุ้นส่วนทางยุทธศาสตร์ของฝรั่งเศสต่อประเทศไทยในภูมิภาคยุโรป ในการนี้ ทั้งสองฝ่ายได้ลงนามในความตกลงว่าด้วยการยกเว้นการตรวจลงตราสำหรับผู้ถือหนังสือเดินทางทูต และบันทึกวาจาว่าด้วยแผนปฏิบัติการร่วมไทย-ฝรั่งเศส ฉบับที่ 2 (ประจำปี 2553-2557) ซึ่งมีเนื้อหาเกี่ยวกับการกำหนดกรอบและแนวทางในการร่วมมือระหว่างทั้งสองประเทศอย่างเป็นรูปธรรม ทั้งทางด้านการเมือง เศรษฐกิจ วัฒนธรรม การศึกษา พลังงาน และความมั่นคง และจะเป็นกลไกที่ส่งเสริมให้ความสัมพันธ์ของทั้งสองประเทศมีความสมบูรณ์และแน่นแฟ้นยิ่งขึ้น โดยรัฐมนตรีได้ย้ำถึงความสนใจของไทยที่จะขยายความร่วมมือและเรียนรู้จากฝรั่งเศสในเรื่องที่ฝรั่งเศสมีประสบการณ์และความเชี่ยวชาญ อาทิ การบริหารประเทศโดยใช้หลักธรรมาภิบาล การส่งเสริมการศึกษา ความก้าวหน้าทางด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี รวมทั้งการดำเนินธุรกิจของวิสาหกิจขนาดกลางและย่อมของฝรั่งเศสที่ประสบความสำเร็จ

โอกาสนี้ รัฐมนตรีต่างประเทศไทยได้ชี้แจงเกี่ยวกับความมุ่งมั่นของรัฐบาลไทยในการแก้ไขปัญหาทางการเมือง โดยได้ชี้แจงถึงพัฒนาการของสถานการณ์การเมืองของไทย รวมทั้งความคืบหน้าล่าสุดในการดำเนินการตามแผนปรองดอง รวมทั้งได้เน้นถึงความสำคัญของการดำเนินการตามหลักนิติธรรม และย้ำถึงจุดยืนของรัฐบาลในการมุ่งพัฒนาการเมืองไทยในแนวทางประชาธิปไตยอย่างแท้จริง

ในช่วงบ่ายของวันเดียวกัน รัฐมนตรีต่างประเทศได้พบหารือกับผู้บริหารระดับสูงขององค์กรระหว่างประเทศ 2 แห่ง ได้แก่ นาย Francesco Bandarin รองผู้อำนวยการใหญ่องค์การการศึกษา วิทยาศาสตร์และวัฒนธรรมแห่งสหประชาชาติ (UNESCO) ด้านวัฒนธรรม และนาย Mario Amano รองเลขาธิการองค์การเพื่อความร่วมมือและพัฒนาการทางเศรษฐกิจ (Organisation for Economic Co-operation and Development -OECD) โดยในการหารือกับ UNESCO นั้น รัฐมนตรีต่างประเทศได้เน้นถึงความพร้อมของไทยที่จะส่งเสริมความร่วมมือกับ UNESCO ทั้งในด้านการศึกษา วิทยาศาสตร์ และวัฒนธรรม ทั้งในลักษณะทวิภาคีและในรูปแบบการร่วมมือสามฝ่าย(ไตรภาคี) ระหว่างไทย UNESCO และประเทศที่ 3 ตลอดจนการส่งเสริมความร่วมมือในภูมิภาคอาเซียนกับ UNESCO อย่างเป็นรูปธรรม อาทิ การศึกษาเส้นทางสายประวัติศาสตร์ซึ่งสะท้อนให้เห็นถึงความเชื่อมโยงทางวัฒนธรรมที่ประเทศในภูมิภาคอาเซียนต่างมีความสัมพันธ์เกี่ยวโยงร่วมกันมาอย่างช้านาน ซึ่ง UNESCO มีประสบการณ์ในการศึกษาเรื่องเส้นทางวัฒนธรรมอินคาในภูมิภาคอเมริกาใต้อยู่ด้วย ส่วนในการหารือกับ OECD นั้น รองเลขาธิการ OECD ได้แสดงความชื่นชมต่อบทบาทอันแข็งขันของไทยในฐานะผู้สังเกตการณ์ของ OECD โดยเข้าร่วมกิจกรรมและเป็นเจ้าภาพจัดกิจกรรมในกรอบของ OECD อย่างต่อเนื่องมาตลอด รวมทั้งการเป็นสมาชิกของศูนย์การพัฒนาของ OECD ด้วย ในการนี้ รัฐมนตรีต่างประเทศย้ำถึงความสนใจของไทยไทยที่จะเรียนรู้จากประสบการณ์ OECD รวมทั้งการศึกษาวิจัย ของOECD เกี่ยวกับประเด็นที่ไทยให้ความสำคัญ นอกเหนือจากการส่งเสริมความเข้มแข็งทางเศรษฐกิจและการพัฒนาในภาพรวม ซึ่งรวมถึงประเด็นเรื่องการต่อต้านคอร์รัปชั่น หลักธรรมาภิบาล การบริหารจัดการงบประมาณทั้งในระดับรัฐบาลกลางและท้องถิ่น การส่งเสริมนวัตกรรมใหม่ๆ ซึ่งรวมถึงการทำงานร่วมกันในกรอบอาเซียนเพื่อส่งเสริมการพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี และการร่วมมือกันเกี่ยวกับผลงานการศึกษาของ OECD ในเรื่องภาพรวมทางเศรษฐกิจของประเทศในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ โดยจะมีการจัดสัมมนาเกี่ยวกับเรื่องดังกล่าวที่ประเทศไทยด้วย ทั้งนี้ รัฐมนตรีต่างประเทศยังได้เน้นถึงความสำคัญที่ไทยให้กับเรื่องการเชื่อมโยงในภูมิภาคและบทบาทของไทยในฐานะประเทศผู้ให้เพื่อส่งเสริมการพัฒนาในประเทศเพื่อนบ้าน ในการนี้ OECD ย้ำว่า ไทยมีบทบาทสำคัญที่จะช่วยส่งเริมความร่วมมือระหว่าง OECD กับ ASEAN ในภาพรวมต่อไปด้วย

ในช่วงค่ำของวันเดียวกัน เอกอัครราชทูต ณ กรุงปารีส เป็นเจ้าภาพเลี้ยงอาหารค่ำเพื่อเป็นเกียรติแก่รัฐมนตรีต่างประเทศโดยได้เชิญกงสุลกิตติมศักดิ์ไทยในฝรั่งเศสและโมนาโก รวมทั้งเครือข่าย Friends of Thailand และได้ใช้โอกาสนี้ในการสร้างความมั่นใจเกี่ยวกับการดำเนินการของรัฐบาลและความคืบหน้าในการดำเนินการตามแผนปรองดองเพื่อปฏิรูปสังคมและการเมืองไทย

ในเช้าวันที่ 22 มิถุนายน 2553 ก่อนออกเดินทางจากกรุงบรัสเซลส์ รัฐมนตรีต่างประเทศได้พบหารือกับกลุ่มนักธุรกิจฝรั่งเศส ซึ่งมีทั้งนักธุรกิจที่ได้ไปลงทุนทำธุรกิจอยู่ในประเทศไทยเป็นเวลานานแล้ว และนักธุรกิจรายใหม่ๆ ที่มีความสนใจแต่ยังไม่เคยไปลงทุนในประเทศไทยมาก่อน ทั้งนี้ รัฐมนตรีต่างประเทศได้ทำความเข้าใจกับนักธุรกิจถึงสถานการณ์ทางการเมืองในประเทศไทย โดยเฉพาะอย่างยิ่ง การดำเนินการตามแผนปรองดอง และการให้ความสำคัญกับการส่งเสริมการทำธุรกิจในประเทศไทย ซึ่งนักธุรกิจต่างแสดงความมั่นใจในระบบเศรษฐกิจของไทย และการดำเนินการต่างๆ ของรัฐบาล โดยย้ำว่า ไม่มีการถอนการลงทุนในไทยและยังมีการพิจารณาเพิ่มการลงทุนในธุรกิจใหม่ๆ ด้วย ทั้งนี้ กลุ่มนักธุรกิจจะร่วมกันจัดการเดินทางเยือนประเทศไทยในเดือนมกราคม 2554 โดยจะประสานงานกับกระทรวงการต่างประเทศเพื่อนำนักธุรกิจรายใหม่ๆ ไปได้รับทราบข้อมูลและสัมผัสสภาพแวดล้อมทางเศรษฐกิจของไทยด้วยตนเอง

กองการสื่อมวลชน กรมสารนิเทศ กระทรวงการต่างประเทศ โทร. 643-5170 โทรสาร. 643-5169 E-mail : div0704@mfa.go.th--จบ--

-พห-

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ