ไทยเดินสายกระชับสัมพันธ์ออสเตรีย สโลวัก และแสวงหาความร่วมมือกับองค์การระหว่างประเทศ

ข่าวต่างประเทศ Tuesday June 29, 2010 07:15 —กระทรวงการต่างประเทศ

เมื่อวันที่ 24-26 มิถุนายน 2553 นายกษิต ภิรมย์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ ปฏิบัติภารกิจระหว่างการเดินทางเยือนภูมิภาคยุโรป ณ กรุงเวียนนา ประเทศออสเตรีย และกรุงบราติสลาวา ประเทศสโลวัก โดยได้พบหารือกับบุคคลระดับสูงของฝ่ายนิติบัญญัติ ฝ่ายบริหาร องค์การระหว่างประเทศ และภาคเอกชน เพื่อชี้แจงเกี่ยวกับสถานการณ์การเมืองไทย และหาลู่ทางกระชับความร่วมมือระหว่างกัน

ในวันที่ 24 มิถุนายน 2553 รัฐมนตรีว่าการฯ ได้เข้าพบหารือกับฝ่ายนิติบัญญัติของออสเตรีย ได้แก่ นาย Martin Graf รองประธานคนที่ 3 ของสภาผู้แทนราษฎรออสเตรีย รวมทั้งนาย Peter Mitterer ประธานวุฒิสภาออสเตรีย โดยรัฐมนตรีว่าการฯ ได้ชี้แจงถึงสถานการณ์การเมืองไทย และความมุ่งมั่นของรัฐบาลในการแก้ไขปัญหาตามแผนปรองดอง 5 ประการ รวมทั้งให้ความมั่นใจแก่ฝ่ายออสเตรียว่า ไทยยึดมั่นในหลักการประชาธิปไตยและระบอบรัฐสภา ทั้งนี้ ไทยสนใจเรียนรู้ประสบการณ์ของออสเตรียในเรื่องการบริหารด้วยหลักธรรมาภิบาลและความโปร่งใส นอกจากนี้ รัฐมนตรีว่าการฯ ยังได้พบหารือกับกลุ่มนักธุรกิจสมาชิกสภาหอการค้าออสเตรีย ซึ่งประกอบด้วยผู้ที่มีการลงทุนในไทยอยู่แล้วและผู้ที่สนใจจะเข้าไปลงทุนในประเทศไทย โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ในสาขาที่ออสเตรียมีความเชี่ยวชาญ อาทิ การขนส่งระบบราง พลังงานทางเลือก การแพทย์และเวชภัณฑ์ รวมทั้งเทคโนโลยีชีวภาพ ทั้งนี้ นักธุรกิจออสเตรียต่างแสดงความมั่นใจในการดำเนินการและนโยบายทางเศรษฐกิจของรัฐบาลไทยที่ส่งเสริมความสัมพันธ์กันดีกับภาคเอกชน เพื่อแสวงหาผลประโยชน์ทางการค้าและ การลงทุนร่วมกัน

ในการเดินทางมาเยือนกรุงเวียนนาครั้งนี้ รัฐมนตรีต่างประเทศได้รับเชิญจากองค์การว่าด้วยความมั่นคงและความร่วมมือในยุโรป (Organization for Security and Co-operation in Europe—OSCE) ให้กล่าวสุนทรพจน์ต่อที่ประชุมคณะมนตรีถาวรของ OSCE ซึ่งรัฐมนตรีว่าการฯ ย้ำถึงหัวใจของการสร้างการไว้เนื้อเชื่อใจกันในภูมิภาคว่า ไม่ควรนำประวัติศาสตร์ในอดีตมาเป็นตัวตั้งของความสัมพันธ์ แต่จะต้องมุ่งเน้นความร่วมมือเพื่อก้าวต่อไปร่วมกันอย่างมั่นคง อีกทั้งควรมีการส่งเสริมหลักการพื้นฐานทางประชาธิปไตยและสิทธิมนุษยชนด้วย ทั้งนี้ รัฐมนตรีว่าการฯ ได้กล่าวถึงกฏบัตรอาเซียน การก่อตั้งประชาคมอาเซียน ซึ่งเป็นความสำเร็จของการสร้างความไว้เนื้อเชื่อใจอันนำมาสู่การสร้างความมั่นคงในภูมิภาค ในขณะที่ในอดีตประเทศสมาชิกอาเซียนเคยมีประวัติศาสตร์ที่มีปัญหาระหว่างกันอาทิ ปัญหาในยุคสงครามเวียดนาม แต่ปัจจุบันเวียดนามและไทยรวมทั้งสมาชิกอาเซียนอื่นต่างมีความสัมพันธ์ที่ใกล้ชิดแน่นแฟ้น ทั้งนี้ ความร่วมมือระหว่างอาเซียน และ OSCE จะเป็นประโยชน์อย่างยิ่งในการแบ่งปันประสบการณ์ระหว่างกัน โอกาสนี้ รัฐมนตรีต่างประเทศได้น้ำถึงความมุ่งมั่นของรัฐบาลไทยในการเร่งรัดดำเนินการปฏิรูปสังคมและการเมืองตามแผนปรองดอง และย้ำถึงการยึดมั่นกับหลักการประชาธิปไตย และการเป็นสังคมเปิด

รัฐมนตรีว่าการฯ ยังได้หารือกับนางสาว Beatrix Karl รัฐมนตรีกระทรวงวิทยาศาสตร์และวิจัยของออสเตรีย นาย Yukiya Amano ผู้อำนวยการใหญ่ทบวงการพลังงานปรมาณูระหว่างประเทศ (International Atomic Energy Agency—IAEA) และนาย Kandeh Yumkell ผู้อำนวยการใหญ่องค์การพัฒนาอุตสาหกรรมแห่งสหประชาชาติ (United Nations Industrial Development Organization—UNIDO) เพื่อแสวงหาลู่ทางที่ไทยกับจะได้ประโยชน์จากประสบการณ์และความเชี่ยวชาญของออสเตรียและองค์การที่เชี่ยวชาญเฉพาะด้านในกรอบสหประชาชาติในการส่งเสริมการฝึกอบรมและให้ความรู้แก่บุคคลากรของไทย เกี่ยวกับด้านวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี การใช้พลังงานปรมาณูเพื่อสันติ และการส่งเสริมอุตสาหกรรมที่เน้นการรักษาสิ่งแวดล้อม

ในวันที่ 25 มิถุนายน 2553 รัฐมนตรีต่างประเทศได้เดินทางไปยังกรุงบราติสลาวา ประเทศสโลวัก เพื่อพบหารือกับนาย Miroslav Lajcak รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศสโลวัก โดยรัฐมนตรีต่างประเทศไทยได้ชี้แจงถึงสถานการณ์การเมืองของไทย และแสวงหาลู่ทางในการส่งเสริมความสัมพันธ์ทวิภาคีระหว่างกันให้มากขึ้น ในโอกาสเยือนสโลวักในครั้งนี้ รัฐมนตรีว่าการฯ ยังได้พบกับนาย Alexander Rozin กงสุลใหญ่กิตติมศักดิ์ ณ กรุงบาติสลาวา เพื่อแลกเปลี่ยนความคิดเห็นเกี่ยวกับการค้าการลงทุน และการท่องเที่ยวระหว่างไทยกับสโลวักด้วย

ในวันที่ 26 มิถุนายน 2553 รัฐมนตรีต่างประเทศไทยได้พบหารือกับนายไมเคิล ชปินเดเลเกอร์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศออสเตรีย และแสดงความขอบคุณที่ออสเตรียให้ความสนับสนุนไทยในการลงสมัครรับเลือกตั้งคณะมนตรีสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติ รวมทั้งใช้โอกาสดังกล่าวในการชี้แจงเกี่ยวกับพัฒนาการและสถานการณ์การเมืองของไทย ความมุ่งมั่นของรัฐบาลในการแก้ไขปัญหา โดยเน้นการดำเนินการตามแผนปรองดอง 5 ประการ ตลอดจนการปฏิรูปสังคมและการเมืองด้วยความโปร่งใส ยึดมั่นในหลักนิติรัฐ นอกจากนี้ ทั้งสองฝ่ายยังได้ตกลงให้มีการเจรจาทบทวนข้อตกลงการบินพาณิชย์ให้มีความทันสมัยมากยิ่งขึ้น เพื่อส่งเสริมการค้า การลงทุน การท่องเที่ยวและการขนส่งทางอากาศระหว่างกันด้วย

นอกจากนั้น ในวันเดียวกันนั้น รัฐมนตรีต่างประเทศได้เป็นประธานการประชุมเอกอัครราชทูตและกงสุลใหญ่ไทยประจำภูมิภาคยุโรปด้านวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี การศึกษาและสถาบันวิจัยเชิงนโยบาย

กองการสื่อมวลชน กรมสารนิเทศ กระทรวงการต่างประเทศ โทร. 643-5170 โทรสาร. 643-5169 E-mail : div0704@mfa.go.th--จบ--

-พห-

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ