กระทรวงการต่างประเทศตอบจดหมายเปิดผนึกของคณะกรรมาธิการสิทธิมนุษยชนแห่งเอเชีย

ข่าวต่างประเทศ Thursday July 1, 2010 08:17 —กระทรวงการต่างประเทศ

ตามที่คณะกรรมาธิการสิทธิมนุษยชนแห่งเอเชีย (Asian Human Rights Commission) ได้มีจดหมายเปิดผนึกถึงนายกรัฐมนตรี ลงวันที่ 18 มิถุนายน 2553 แสดงความกังวลเกี่ยวกับการกักขังและการปฏิบัติต่อผู้กักขังภายใต้พระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ. 2548 นั้น

กระทรวงการต่างประเทศได้ออกแถลงข่าวให้ข้อมูลเกี่ยวกับประเด็นต่างๆ ที่องค์กรดังกล่าวได้หยิบยก ดังนี้

1. สิทธิมนุษยชนขั้นพื้นฐานของผู้ที่ถูกจับกุมในช่วงการชุมนุมประท้วงของกลุ่มแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ (นปช.) ได้รับการเคารพอย่างเต็มที่ตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย และกติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมือง (ICCPR) รวมทั้งอนุสัญญาระหว่างประเทศด้านสิทธิมนุษยชนอื่นๆ ที่ประเทศไทยเป็นภาคี ทั้งนี้ ในพระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน (พ.ร.ก. สถานการณ์ฉุกเฉินฯ) ก็มีบัญญัติมาตรการต่างๆ เพื่อป้องกันการใช้อำนาจโดยมิชอบโดยเจ้าหน้าที่ของรัฐ อาทิ การจำกัดระยะเวลาการควบคุมตัวผู้ถูกกักขังภายใต้พระราชกำหนดสถานการณ์ฉุกเฉินฯ ไว้ไม่เกิน 30 วัน โดยในช่วงระยะเวลาดังกล่าว จะต้องมีการอนุมัติการขยายเวลากักขังจากศาลทุกๆ 7 วัน และเมื่อครบกำหนดระยะเวลา 30 วันแล้วและยังมีความจำเป็นที่จะต้องกักขังบุคคลนั้นๆ ต่อไปอีก พนักงานเจ้าหน้าที่จะต้องดำเนินการตามกระบวนการปกติตามที่กำหนดไว้ในประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา ทั้งนี้ ในช่วงเวลาของการถูกกักขัง ญาติและทนายความของผู้ถูกกังขังสามารถเข้าเยี่ยมได้ นอกจากนี้ ยังมีการจัดทำรายงานรายชื่อผู้ถูกจับกุมทั้งหมดภายใต้ พ.ร.ก. สถานการณ์ฉุกเฉินฯ โดยสำเนารายงานที่เสนอต่อศาลจะเก็บบันทึกเป็นหลักฐานไว้ที่ที่ทำการของพนักงานเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้อง ดังนั้น ชื่อของผู้ถูกกักขัง สถานที่กักขัง สภาพความเป็นอยู่ และสถานภาพของบุคคลดังกล่าวจึงเป็นเรื่องที่เปิดเผยต่อสาธารณะ ขณะที่สำหรับผู้ที่ฝ่าฝืน พ.ร.ก. สถานการณ์ฉุกเฉินฯ ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา สำนักงานตำรวจแห่งชาติก็ได้เผยแพร่รายชื่อ รายละเอียดของสถานที่ที่กักขัง รวมทั้งข้อมูลติดต่อของพนักงานเจ้าหน้าที่ที่ดูแลคดีของผู้ถูกกักขัง ซึ่งรายชื่อดังกล่าวมีปรากฏในเว็บไซต์ของสำนักงานตำรวจแห่งชาติที่ http://www.saranitet.police.go.th/pdf/news09062553.pdf

2. พระราชบัญญัติราชทัณฑ์ได้วางกรอบกฎหมายและกำหนดมาตราที่เกี่ยวข้องกับการปฏิบัติต่อผู้ต้องขังและการใช้เครื่องพันธนาการ ซึ่งสอดคล้องกับมาตรฐานที่ยอมรับโดยทั่วไป กฎหมายกำหนดให้ใช้เครื่องพันธนาการได้ก็ต่อเมื่อผู้ต้องขังเป็นบุคคลที่อาจจะพยายามหลบหนี หรือเพื่อป้องกันการทำร้ายตนเองหรือผู้อื่น หรือเมื่อมีกฎกระทรวงกำหนดไว้เท่านั้น ซึ่งหน่วยงานที่เกี่ยวข้องก็ได้กำหนดหลักเกณฑ์ทั่วไปในการใช้เครื่องพันธนาการที่เน้นความจำเป็นของการดำเนินการบนหลักสิทธิมนุษยชนและศักดิ์ศรีของความเป็นมนุษย์ และการแสดงให้เห็นถึงความจำเป็นและความเหมาะสมของการใช้เครื่องพันธนาการดังกล่าว ดังนั้น จึงไม่สมควรกล่าวถึงการใส่กุญแจมือผู้ถูกจับกุมในระหว่างรักษาตัวอยู่ในโรงพยาบาลในลักษณะว่าเป็นเรื่องที่เกิดขึ้นทั่วไป หรือพยายามเชื่อมโยงเรื่องนี้กับเหตุการณ์อื่นๆ ที่ไม่เกี่ยวข้องกัน

3. พ.ร.ก. สถานการณ์ฉุกเฉินฯ ได้รับการประกาศใช้เพื่อให้รัฐบาลสามารถจัดการกับสถานการณ์ฉุกเฉินได้อย่างมีประสิทธิภาพ อย่างเป็นบูรณาการ และทันท่วงทียิ่งขึ้น เพื่อรักษากฎหมายและความสงบเรียบร้อย ซึ่งเป็นกรณีความจำเป็นที่ได้รับการยอมรับภายใต้ข้อ 4.1 ของกติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมือง ทั้งนี้ การใช้ พ.ร.ก. ดังกล่าวมีการทบทวนอย่างสม่ำเสมอโดยคำนึงถึงการประเมินสถานการณ์ในพื้นที่และความจำเป็นของ การใช้ พ.ร.ก. เพื่อป้องกันการใช้ความรุนแรงหรือการกระทำผิดกฎหมายที่อาจเกิดขึ้น การใช้ พ.ร.ก. นี้มิได้มีผลกระทบ ต่อประชาชนทั่วไปในการใช้ชีวิตประจำวันหรือการประกอบธุรกิจของประชาชนแต่อย่างใด อีกทั้งรัฐบาลก็ได้ยืนยันว่า การที่ พ.ร.ก. ยังมีผลบังคับใช้อยู่จะไม่เป็นอุปสรรคต่อการรณรงค์หาเสียงสำหรับการเลือกตั้งในเขตการเลือกตั้งหนึ่งของกรุงเทพฯ ที่จะมีขึ้นในวันที่ 25 กรกฎาคม 2553 นอกจากนี้ โดยที่รัฐบาลและรัฐสภายังคงปฏิบัติหน้าที่ตามปกติ การกล่าวหาว่าประเทศไทยปกครองด้วย พ.ร.ก. และบริหารโดยฝ่ายทหารในทางพฤตินัยจึงเป็นการบิดเบือนข้อเท็จจริงอย่างสิ้นเชิง

4. โดยหลักการแล้ว รัฐบาลเปิดกว้างต่อการตรวจสอบและพร้อมที่จะแสดงความรับผิดชอบตามกรอบของกฎหมาย การสอบสวนกำลังดำเนินอยู่ในหลายกรอบ ทั้งโดยกรมการสืบสวนพิเศษ (ดีเอสไอ) คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.) คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ปปช.) และคณะกรรมการอิสระตรวจสอบและค้นหาความจริงเพื่อการปรองดอง ซึ่งมีนายคณิต ณ นคร อดีตอัยการสูงสุด เป็นประธาน โดยรัฐบาลไม่เข้าไปแทรกแซงแต่อย่างใด

กองการสื่อมวลชน กรมสารนิเทศ กระทรวงการต่างประเทศ โทร. 643-5170 โทรสาร. 643-5169 E-mail : div0704@mfa.go.th--จบ--

-พห-

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ