การมีผลบังคับใช้ของสนธิสัญญาระหว่างไทยและเบลเยียม ว่าด้วยการช่วยเหลือซึ่งกันและกันในเรื่องทางอาญาและการโอนตัวผู้ต้องคำพิพากษา

ข่าวต่างประเทศ Wednesday July 7, 2010 07:11 —กระทรวงการต่างประเทศ

เมื่อวันที่ 23 มิถุนายน 2553 นายกษิต ภิรมย์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศและนาย Steven Vanackere รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศเบลเยียมได้แลกเปลี่ยนสัตยาบันสารสนธิสัญญาระหว่างไทยและเบลเยียมว่าด้วยการช่วยเหลือซึ่งกันและกันในเรื่องทางอาญา และสนธิสัญญาระหว่างไทยและเบลเยียมว่าด้วยการโอนตัวผู้ต้องคำพิพากษาและความร่วมมือในการบังคับให้เป็นไปตามคำพิพากษาในคดีอาญา (สนธิสัญญาโอนตัวนักโทษ) ณ กรุงบรัสเซลส์ ประเทศเบลเยียม ซึ่งสนธิสัญญาทั้งสองฉบับดังกล่าวได้มีการลงนามที่กรุงเทพฯ เมื่อวันที่ 12 พฤศจิกายน 2548

การแลกเปลี่ยนสัตยาบันสารจะทำให้สนธิสัญญาทั้งสองฉบับข้างต้น มีผลใช้บังคับ 30 วัน หลังจากวันที่มีการแลกเปลี่ยนสัตยาบันสารกัน กล่าวคือ จะมีผลใช้บังคับในวันที่ 23 กรกฎาคม 2553 ตามที่ระบุไว้ในข้อ 29 ของสนธิสัญญาระหว่างไทยและเบลเยียมว่าด้วยการช่วยเหลือซึ่งกันและกันในเรื่องทางอาญาและข้อ 13 ของสนธิสัญญาโอนตัวนักโทษระหว่างไทยและเบลเยียม โดยประเทศไทยมีพระราชบัญญัติความร่วมมือระหว่างประเทศในเรื่องทางอาญา พ.ศ. 2535 เป็นกฎหมายอนุวัติการสนธิสัญญาระหว่างไทย และเบลเยียมว่าด้วยความช่วยเหลือซึ่งกันและกันในเรื่องทางอาญา และพระราชบัญญัติการปฏิบัติเพื่อความร่วมมือระหว่างประเทศในการดำเนินการตามคำพิพากษาในคดีอาญา พ.ศ. 2527 เป็นกฎหมายอนุวัติการสนธิสัญญาโอนตัวนักโทษระหว่างไทยและเบลเยียม

ประเทศไทยให้ความสำคัญอย่างยิ่งต่อวัตถุประสงค์หลักของการจัดทำสนธิสัญญาทั้งสองฉบับซึ่งอยู่ภายใต้กรอบความร่วมมือทางด้านอาญา โดยสนธิสัญญาระหว่างไทยและเบลเยียมว่าด้วยความช่วยเหลือซึ่งกันและกันในเรื่องทางอาญาจะส่งเสริมความร่วมมือในเรื่องเกี่ยวกับการสืบสวนสอบสวน การฟ้องคดีและกระบวนการอื่น ๆ ที่เกี่ยวเนื่องกับความผิดทางอาญา เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการต่อต้านและปราบปราม การก่ออาชญากรรมโดยเฉพาะอาชญากรรมข้ามชาติที่ทวีจำนวนและความรุนแรงมากขึ้นในปัจจุบัน

ในส่วนของสนธิสัญญาโอนตัวนักโทษระหว่างไทยและเบลเยียมมีวัตถุประสงค์หลักคือ ช่วยให้ผู้ต้องคำพิพากษาสามารถปรับตัวกลับคืนสู่สังคมของตนได้ โดยสนธิสัญญาฉบับนี้กำหนดเงื่อนไขต่าง ๆ ที่อนุญาตให้ผู้ต้องคำพิพากษาได้รับการโอนตัวกลับไปยังประเทศของตนเพื่อรับโทษตามคำพิพากษาที่เหลือ ภายหลังจากที่ผู้ต้องคำพิพากษาได้รับโทษจำคุกเป็นเวลาขั้นต่ำสุดตามที่บัญญัติไว้ในกฎหมายของรัฐผู้โอนแล้ว ดังนั้นสนธิสัญญาทั้งสองฉบับนี้จึงเป็นกลไกหนึ่งที่จะช่วยเสริมสร้างให้ความร่วมมือในการบังคับใช้กฎหมายและการบริหารงานกระบวนการยุติธรรมระหว่างไทยกับเบลเยียมมีความแน่นแฟ้นมากยิ่งขึ้น

กองการสื่อมวลชน กรมสารนิเทศ กระทรวงการต่างประเทศ โทร. 643-5170 โทรสาร. 643-5169 E-mail : div0704@mfa.go.th--จบ--

-พห-

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ