คำชี้แจงกรณีข่าวการเคลื่อนย้ายหมุดหลักฐานของกรมแผนที่ทหาร ที่หัวเขื่อนห้วยเมฆา อ.บ้านกรวด จ.บุรีรัมย์

ข่าวต่างประเทศ Wednesday July 7, 2010 07:12 —กระทรวงการต่างประเทศ

ตามที่มีข่าวว่าได้มีการค้นพบหมุดหลักฐาน หรือที่มีการเข้าใจว่าเป็น “หมุดปักพรมแดน” ที่บริเวณสันเขื่อนห้วยเมฆา อำเภอบ้านกรวด จังหวัดบุรีรัมย์ ซึ่งถูกเคลื่อนย้ายเข้ามาในดินแดนไทยประมาณ 12 กิโลเมตรครึ่ง และอาจทำให้ไทยเสียดินแดนนั้น กระทรวงการต่างประเทศขอเรียนข้อเท็จจริงเกี่ยวกับสถานะทางกฎหมายของหมุดหลักฐานดังกล่าว และสถานะล่าสุดของการดำเนินงานสำรวจและจัดทำหลักเขตแดนไทย-กัมพูชา ภายใต้คณะกรรมาธิการเขตแดนร่วมไทย-กัมพูชา ดังนี้

1. หมุดหลักฐานดังกล่าว ไม่ใช่หลักเขตแดนที่แสดงแนวแบ่งเขตระหว่างไทย - กัมพูชา แต่เป็นหมุดหลักฐานดาวเทียม GPS ที่ใช้งานทางเทคนิค ซึ่งกรมแผนที่ทหารสร้างขึ้นเมื่อ 11 มิถุนายน 2550 เพื่อใช้เป็นหมุดขยายโครงข่าย GPS สำหรับเป็นค่าพิกัดอ้างอิงในการถ่ายทอดค่าพิกัดให้กับหลักเขตแดนไทย - กัมพูชา หมายเลข 25 และ 26 โดยหมุดหลักฐานดาวเทียม GPS ดังกล่าวสร้างในฝั่งไทย 1 หมุด สร้างในฝั่งกัมพูชา 1 หมุด และอยู่ห่างจากแนวเขตแดนประมาณ 7 — 8 กิโลเมตร สาเหตุที่ใช้ข้อความว่า “เขตแดนไทย - กัมพูชา”นั้น ในทางเทคนิคมีจุดประสงค์เพื่อต้องการสื่อความหมายว่าหมุดนี้เป็นหมุดขยายโครงข่าย GPS ในงานเขตแดนไทย - กัมพูชา ทั้งนี้เพราะว่าที่หมุดดังกล่าวจะมีหมุดทองเหลืองฝังอยู่ตรงกลางซึ่งมีข้อความว่า GPS กรมแผนที่ทหาร อยู่แล้ว อย่างไรก็ตามเพื่อมิให้ประชาชนในพื้นที่เกิดความเข้าใจผิดว่าจุดนี้เป็นแนวเขตแดนไทย — กัมพูชา กรมแผนที่ทหาร จึงได้ดำเนินการเปลี่ยนข้อความบนหมุดดังกล่าวจากเขตแดนไทย — กัมพูชา เป็น “หมุดขยายโครงข่าย” เมื่อกันยายน 2552 ซึ่งในวันที่ 22 มกราคม 2553 และ 20 มิถุนายน 2553 กรมแผนที่ทหารได้ชี้แจงและประชาสัมพันธ์ให้กับประชาชนและส่วนราชการในพื้นที่ทราบว่า หมุดหลักฐานดาวเทียม GPS ไม่ใช่หลักเขตแดนไทย — กัมพูชา แต่อย่างใด

2. การสำรวจและจัดทำหลักเขตแดนด้านไทย — ลาว และไทย — มาเลเซีย ก็ได้มีการสร้างหมุดหลักฐานขยายโครงข่าย GPS เพื่อใช้เป็นค่าพิกัดอ้างอิงเช่นเดียวกัน

3. หมุดหลักฐานขยายโครงข่าย GPS มีขนาดประมาณ 30 X 30 เซนติเมตร จะสร้างเสมอพื้นดิน ซึ่งมีขนาด รูปร่าง และลักษณะการสร้างที่แตกต่างจากหลักเขตแดนไทย - กัมพูชา โดยสิ้นเชิง ซึ่งมีขนาด 40 X 40 เซนติเมตร สูงเหนือพื้นดินประมาณ 1 เมตร ตามรูปภาพที่แสดงให้เห็นข้างล่างนี้ อนึ่ง หากเป็นหลักเขตแดนซึ่งทั้งสองฝ่ายตกลงสร้างขึ้นมา ฝ่ายไทยย่อมไม่สามารถเปลี่ยนแปลงแต่ฝ่ายเดียวได้

4. การดำเนินงานสำรวจและจัดทำหลักเขตแดนไทย-กัมพูชา ดำเนินการไปตามข้อกำหนดอำนาจหน้าที่และแผนแม่บทในการสำรวจและจัดทำหลักเขตแดนทางบกร่วมไทย-กัมพูชา (Terms of Reference and Master Plan for the Joint Survey and Demarcation of Land Boundary : TOR) ฉบับวันที่ 25 สิงหาคม 2546 ซึ่งได้กำหนดขั้นตอนต่าง ๆ สำหรับการสำรวจและจัดทำหลักเขตแดนร่วมกันเป็น 5 ขั้นตอน ดังนี้

1) การค้นหาที่ตั้งและสภาพของหลักเขตแดนเดิม 73 หลัก รวมถึงการซ่อมแซมหลัก เขตแดนเดิม

2) การจัดทำแผนที่ภาพถ่ายทางอากาศ (Orthophoto Maps) มาตราส่วน 1/25,000 ตลอดแนวเขตแดน

3) การลากแนวที่จะเดินสำรวจบนแผนที่ภาพถ่ายทางอากาศ

4) การตรวจสอบภูมิประเทศ

5) การปักหลักเขตแดน

5. ปัจจุบัน งานสำรวจและจัดทำหลักเขตแดนไทย-กัมพูชา รวมทั้งการประชุมของคณะกรรมาธิการเขตแดนร่วมไทย — กัมพูชา 3 ครั้งที่ผ่านมา เป็นการดำเนินการในขั้นตอนที่ 1 เท่านั้น กล่าวคือ การค้นหาที่ตั้งของหลักเขตแดนเดิม 73 หลัก จึงมิได้มีการขยับหลักเขตแดนตามที่เป็นข่าวแต่อย่างใด การที่จะทราบว่าตำแหน่งหลักเขตแดนระหว่างไทยกับกัมพูชาทั้งหมดจะอยู่ที่ใดอย่างแน่นอนนั้น จะต้องรอให้คณะกรรมาธิการเขตแดนร่วมไทย — กัมพูชา ดำเนินการครบ 5 ขั้นตอนก่อน

6. เมื่อครบ 5 ขั้นตอนแล้ว ผลงานของคณะกรรมาธิการเขตแดนร่วมไทย-กัมพูชา ก็ยังไม่มีผลผูกพันประเทศทั้งสอง เจ้าหน้าที่ต้องนำผลการสำรวจปักหลักเขตแดนเสนอคณะรัฐมนตรี เพื่อพิจารณานำเสนอรัฐสภาพิจารณาให้ความเห็นชอบตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 190 ต่อไป เมื่อรัฐสภาให้ความเห็นชอบแล้ว รัฐบาลไทยจะต้องให้สัตยาบันข้อตกลงดังกล่าวเป็นทางการ การสำรวจและปักหลักเขตแดนจึงมีผลทางกฎหมาย

กองการสื่อมวลชน กรมสารนิเทศ กระทรวงการต่างประเทศ โทร. 643-5170 โทรสาร. 643-5169 E-mail : div0704@mfa.go.th--จบ--

-พห-

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ