การประชุมคณะทำงานระดับสูงว่าด้วยความเชื่อมโยงระหว่างกันในอาเซียน ครั้งที่ 3

ข่าวต่างประเทศ Friday July 9, 2010 14:02 —กระทรวงการต่างประเทศ

ประเทศไทย โดยกรมอาเซียน กระทรวงการต่างประเทศจะเป็นเจ้าภาพจัดการประชุมคณะทำงานระดับสูงว่าด้วยความเชื่อมโยงระหว่างกันในอาเซียน ครั้งที่ 3 ที่โรงแรม Four Seasons กรุงเทพฯ ในวันที่ 10-12 กรกฎาคม 2553 โดยมีผู้แทนระดับสูงฯ จากประเทศสมาชิกอาเซียนทั้ง 10 ประเทศ และผู้แทนจากธนาคารเพื่อการพัฒนาเอเชีย (Asian Development Bank: ADB) สถาบันวิจัยด้านเศรษฐกิจสำหรับอาเซียนและเอเชียตะวันออก (Economic Research Institute for ASEAN and East Asia: ERIA) คณะกรรมาธิการเศรษฐกิจ และสังคมสำหรับเอเชียและแปซิฟิกแห่งสหประชาชาติ (United Nations Economic and Social Commission for Asia and the Pacific: UN ESCAP) และธนาคารโลก (World Bank) เข้าร่วมการประชุม

จากการที่อาเซียนมีศักยภาพทางภูมิศาสตร์ในการเชื่อมโยงกับภูมิภาคเอเชียตะวันออก เอเชียใต้ และแปซิฟิก จึงมีแนวคิดที่จะร่วมกันผลักดันความเชื่อมโยงด้าน physical (เส้นทางคมนาคมทางบก ทางราง ทางน้ำ ทางอากาศ) software (ICT พลังงาน cross border facilitation issues ฯลฯ) และ people-to-people เพื่อเพิ่มพูนการพัฒนาเศรษฐกิจของอาเซียน ส่งเสริมการเป็นศูนย์กลางของอาเซียน (ASEAN centrality) ในภูมิภาคเอเชียตะวันออก และเพื่อดำรงความสำคัญของบทบาทของอาเซียนในโครงสร้างสถาปัตยกรรมภูมิภาคใหม่

ปัจจุบัน ภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้มีแผนเชื่อมโยงโครงข่ายคมนาคมที่สำคัญหลายโครงการทั้งในกรอบอนุภูมิภาค (GMS BIMSTEC ACMECS IMT-GT ฯลฯ) และในกรอบอาเซียน อย่างไรก็ตาม การดำเนินการตามแผนดังกล่าวยังคงประสบปัญหาอยู่ (การก่อสร้างไม่แล้วเสร็จ / การพัฒนาโครงสร้างล่าช้า/ missing links) โดยเฉพาะในกลุ่มประเทศ mainland Southeast Asia ดังนั้น อาเซียนเห็นว่า แผนแม่บทฯ ควรจะเข้ามาช่วยเสริมสร้างและเร่งรัดการดำเนินการภายใต้กรอบความร่วมมือต่างๆ ที่มีอยู่ และไม่สร้างกรอบความร่วมมือใหม่ขึ้นมาอีก นอกจากนี้ ควรจะมีการจัดลำดับความสำคัญของโครงการต่างๆ ที่จะได้รับการดำเนินการเพื่อให้เกิดความเชื่อมโยงระหว่างกันอย่างแท้จริงในอาเซียนด้วย

ในการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน กลุ่มประเทศสมาชิกอาเซียนอาจไม่สามารถเป็นผู้สนับสนุนโครงการต่างๆ ได้แต่เพียงผู้เดียว จึงมีความจำเป็นที่จะต้องระดมความสนับสนุนจากภาคเอกชน ประเทศคู่เจรจาและหน่วยงานระหว่างประเทศ

จากความสำคัญของการเชื่อมโยงข้างต้น นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี ได้เสนอแนวความคิดเรื่อง Connectivity ในช่วงที่ไทยเป็นประธานอาเซียน เพื่อเสริมสร้างความเป็นปึกแผ่นของประชาคมอาเซียน และเพื่อส่งเสริมความสามารถในการแข่งขันในเวทีโลก โดยคำนึงถึงการตอบสนองผลประโยชน์ของประชาชน ประเทศสมาชิก ทั้ง 10 ประเทศเห็นด้วยกับข้อเสนอของไทย ที่ประชุมผู้นำอาเซียนครั้งที่ 15 จึงออกแถลงการณ์ในเรื่องของการเชื่อมโยงและให้จัดตั้งคณะทำงานระดับสูงว่าด้วยความเชื่อมโยงระหว่างกันในอาเซียน (High Level Task Force on ASEAN Connectivity: HLTF-AC) เพื่อจัดทำแผนแม่บท(Master Plan) ว่าด้วยความเชื่อมโยงระหว่างกันในอาเซียน โดยในส่วนของไทย คณะรัฐมนตรีได้มีมติเห็นชอบการแต่งตั้งนายประดาป พิบูลสงคราม อดีตเอกอัครราชทูต ณ กรุงโรมและอดีตรองปลัดกระทรวงฯ เป็นผู้แทน

คณะทำงานระดับสูงฯ ได้รับมอบหมายให้จัดทำแผนแม่บทว่าด้วยความเชื่อมโยงระหว่างกันในอาเซียนให้แล้วเสร็จเพื่อนำเสนอต่อที่ประชุมสุดยอดอาเซียน ครั้งที่ 17 ในเดือนตุลาคม ศกนี้ เพื่อเป็นกรอบในการร่วมมือในการสร้างความเชื่อมโยงระหว่างกัน และในที่สุดแล้วจะเป็นพื้นฐานในการเชื่อมโยงกับภูมิภาคอื่นๆ โดยเฉพาะภูมิภาคเอเชียตะวันออกและเอเชียใต้ เป้าหมายสูงสุดคือการช่วยให้อาเซียนเป็นประชาคมอย่างแท้จริงภายในปี 2558

การประชุม HLTF-AC มีขึ้นมาแล้ว 2 ครั้ง โดยครั้งแรกจัดขึ้นที่กรุงฮานอย ประเทศเวียดนามในช่วงเดือนมีนาคม 2553 และครั้งที่สองที่กรุงจาการ์ตา ประเทศอินโดนีเซีย เมื่อเดือนพฤษภาคม 2553

การประชุม HLTF-AC ครั้งที่ 3 ที่กรุงเทพฯ นี้ มีความสำคัญอย่างยิ่งเพราะจะมีการพิจารณายุทธศาสตร์สำคัญในการสร้างความเชื่อมโยงในภูมิภาค โดยเฉพาะอย่างยิ่งแผนในการพัฒนาทางหลวงอาเซียน การก่อสร้างเส้นทางรถไฟเชื่อมต่อจากสิงคโปร์ ไปยังคุนหมิง ประเทศจีน การจัดทำยุทธศาสตร์ตลาดการขนส่งสินค้าทางเรืออาเซียน รวมทั้งยุทธศาสตร์ตลาดการบินอาเซียน เป็นต้น

โดยในส่วนของไทย ได้มีการหารือระหว่างหน่วยงานหลายรอบเพื่อจัดทำ Master Plan ที่เป็นประโยชน์กับไทยและอาเซียนมากที่สุด ไทยยึดหลักว่าความเชื่อมโยงต้องครอบคลุมหลาย sector และไม่จำกัดอยู่แค่เรื่องการคมนาคมเพียงด้านเดียว และนอกเหนือจากทาง ด้าน hardware (ถนน ระบบราง ฯลฯ) จะต้องคำนึงถึง software เช่นระบบศุลกากร กฎหมายที่เกี่ยวข้อง รวมถึงการอำนวยความสะดวกข้ามพรมแดน (cross- border facilitation) ซึ่งเป็นอีกหนึ่งเรื่องสำคัญที่ไทยผลักดัน และในเรื่องของการเชื่อมโยงระหว่างประชาชนกับประชาชน (people-to-people) ด้วย ทั้งนี้ การประชุมครั้งต่อไป (ครั้งที่ 4) จะมีขึ้น ที่กรุงฮานอย ในช่วงเดือนกันยายน ศกนี้

ในโอกาสนี้ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ จะให้สัมภาษณ์แก่ผู้สื่อข่าวในวันอาทิตย์ที่ 11 กรกฎาคม 2553 เวลา 18.30 -18.45 น. ณ ห้องรัตนะโรงแรม Four Seasons กรุงเทพฯ

กองการสื่อมวลชน กรมสารนิเทศ กระทรวงการต่างประเทศ โทร. 643-5170 โทรสาร. 643-5169 E-mail : div0704@mfa.go.th--จบ--

-พห-

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ