เมื่อวันที่ 19 กรกฎาคม 2553 ซึ่งเป็นวันแรกของการประชุมรัฐมนตรีต่างประเทศอาเซียน ครั้งที่ 43 การประชุมรัฐมนตรีต่างประเทศอาเซียนกับประเทศคู่เจรจา การประชุมอาเซียนว่าด้วยความร่วมมือด้านการเมืองและความมั่นคงในภูมิภาคเอเชียและแปซิฟิก ครั้งที่ 17 นายกษิต ภิรมย์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศได้เข้าร่วมการประชุมคณะกรรมการเขตปลอดอาวุธนิวเคลีย์รในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (SEANWFZ) ณ กรุงฮานอย ประเทศเวียดนาม
ที่ประชุมซึ่งมีรองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศเวียดนามเป็นประธานได้หารือเกี่ยวกับความคืบหน้าในการดำเนินการตามแผนปฏิบัติการเสริมสร้างบทบาทของ SEANWFZ เกี่ยวกับเรื่องนี้ รัฐมนตรีว่าการฯ ได้แจ้งสื่อมวลชนว่า ที่ประชุมเห็นชอบข้อเสนอของตนในการเสริมสร้างความร่วมมือและความเชื่อมโยงกับเขตปลอดอาวุธนิวเคลีย์รต่างๆ ทั่วโลก คือในภูมิภาคแอฟริกา เอเชียกลาง ลาตินอเมริกา และแคริเบียน รวมถึงประเทศมองโกเลีย และไทยในฐานะประเทศผู้เก็บรักษาสนธิสัญญา SEANWFZ พร้อมที่จะช่วยเหลือในเรื่องดังกล่าว นอกจากนี้ เนื่องจากประเทศภาคี SEANWFZ กำลังพิจารณาความเป็นไปได้ในการสร้างโรงงานพลังงานนิวเคลีย์ร ดังนั้น ตนจึงเสนอให้ประเทศเหล่านั้นแจ้งพัฒนาการและความคืบหน้าระหว่างกันให้ทราบเพื่อเป็นมาตรการเสริมสร้างความเชื่อมั่น เพราะประเด็นดังกล่าวมีผลกระทบประเทศอื่นๆ ในภูมิภาค
เกี่ยวกับความพยายามในการส่งเสริมให้ประเทศที่ครอบครองอาวุธนิวเคลีย์รสัตยาบันพิธีสารสนธิสัญญา SEANWFZ ดังกล่าวนั้น ประเทศภาคีจะต้องพยายามแก้ปัญหาระหว่างกันในเรื่องประเด็นสำคัญที่มีอยู่ โดยเฉพาะในเรื่องสิทธิในการเดินทางผ่าน และการใช้ท่าเรือหรืออากาศยาน ในขณะเดียวกัน จะต้องพยายามให้อินเดียและปากีสถานเข้ามาเกี่ยวข้องด้วย
นอกจากนี้ ที่ประชุมเห็นชอบกับข้อเสนอของรัฐมนตรีว่าการฯ ให้มีความร่วมมือกับทบวงการพลังงานปรมาณูระหว่างประเทศเกี่ยวกับการฝึกอบรมและการเสริมสร้างศักยภาพ ซึ่งไทยได้ร่วมมือกับทบวงการพลังงานปรมาณูระหว่างประเทศในเรื่องประเด็นความปลอดภัยและการใช้เทคโนโลยีนิวเคลีย์รด้านความปลอดภัยทางอาหารและยา ทั้งนี้ ไทยกับทบวงการพลังงานปรมาณูระหว่างประเทศจะร่วมกันจัดการสัมมนาเชิงปฏิบัติการในเรื่องนี้ โดยจะเชิญประเทศภาคีอื่นๆ เข้าร่วมด้วย
สำหรับการประชุมคณะมนตรีประชาคมการเมือง-ความมั่นคงอาเซียนนั้น รัฐมนตรีว่าการฯ เสนอที่ประชุมว่า ควรเสริมสร้างการประสานงานภายในประชาคม โดยการระบุบทบาทของแต่ละองค์กรย่อยในประเด็นที่มีความคาบเกี่ยวกันเพื่อหลีกเลี่ยงความทับซ้อนของหน่วยงานที่รับผิดชอบ นอกจากนี้ ได้เสนอว่าประเทศสมาชิกที่สนใจสามารถเป็น “พี่เลี้ยง” ในการประสานประเด็นที่มีความคาบเกี่ยวกัน เพื่อช่วยบรรเทาภาระของประธานอาเซียนและสำนักเลขาธิการอาเซียน
นอกจากนี้ รัฐมนตรีว่าการฯ เสนอให้อาเซียนดำเนินการส่งเสริมความร่วมมือกับองค์กรภาคประชาสังคมให้ใกล้ชิดขึ้น ซึ่งสอดคล้องกับอาเซียนที่ให้ความสำคัญกับประชาชน โดยมีทุกภาคส่วนของสังคมเข้าร่วม และเป็นสิ่งที่ไทยส่งเสริมมาโดยตลอดในระหว่างที่เป็นประธานอาเซียน
กองการสื่อมวลชน กรมสารนิเทศ กระทรวงการต่างประเทศ โทร. 643-5170 โทรสาร. 643-5169 E-mail : div0704@mfa.go.th--จบ--