รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศเข้าร่วมการประชุมรัฐมนตรีต่างประเทศอาเซียน ครั้งที่ 43

ข่าวต่างประเทศ Wednesday July 21, 2010 07:20 —กระทรวงการต่างประเทศ

เมื่อวันที่ 20 กรกฎาคม 2553 นายกษิต ภิรมย์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ ซึ่งอยู่ระหว่างการเข้าร่วมการประชุมรัฐมนตรีต่างประเทศอาเซียน ครั้งที่ 43 และการประชุมอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง ณ กรุงฮานอย ประเทศเวียดนาม ได้เข้าเยี่ยมคารวะนายเหวียน เติน สุง นายกรัฐมนตรีสาธารณรัฐสังคมนิยมเวียดนาม พร้อมกับรัฐมนตรีต่างประเทศอาเซียนอื่นๆ และเลขาธิการอาเซียน ก่อนพิธีเปิดการประชุมรัฐมนตรีต่างประเทศอาเซียน และหลังจากนั้น จึงเข้าร่วมการประชุมรัฐมนตรีต่างประเทศอาเซียนอย่างไม่เป็นทางการและแบบเต็มคณะ

ภายหลังการประชุม รัฐมนตรีว่าการฯ ได้ให้สัมภาษณ์สื่อมวลชนโดยมีประเด็นสำคัญ ดังนี้

1. ความเชื่อมโยงในภูมิภาค - ที่ประชุมยินดีต่อรายงานของการประชุมคณะทำงานระดับสูงว่าด้วยความเชื่อมโยงในภูมิภาค และการร่างแผนแม่บทในการดำเนินการเรื่องดังกล่าว โดยคำนึงถึงโครงการต่างๆ ภายใต้กรอบความร่วมมือในอนุภูมิภาคลุ่มน้ำโขง และกรอบความร่วมมืออื่นๆ เพื่อการประสานงานที่ใกล้ชิดยิ่งขึ้นและหลีกเลี่ยงความซ้ำซ้อน ซึ่งในขณะนี้ ประเด็นสำคัญที่ต้องพิจารณา คือ แหล่งเงินทุน และความร่วมมือจากประเทศต่างๆ เช่น จีน ญี่ปุ่น และกรอบความร่วมมืออนุภูมิภาคลุ่มน้ำโขง เป็นต้น นอกจากนี้ ที่ประชุมเห็นว่า นอกจากประเด็นความเชื่อมโยงด้านต่างๆ เช่น การคมนาคม พลังงาน เทคโนโลยีสารสนเทศแล้ว ควรคำนึงถึงประเด็นการอำนวยความสะดวกในการผ่านแดนของประชาชนและสินค้าระหว่างประเทศในภูมิภาคด้วย ทั้งนี้ ที่ประชุมเห็นชอบกับข้อเสนอของรัฐมนตรีว่าการฯ ในการจัดให้รัฐมนตรีต่างประเทศอาเซียนเดินทางตามเส้นทาง R3E จากไทยผ่านลาวไปคุนหมิง

2. การให้ความช่วยเหลือพม่าจากเหตุการณ์ภัยพิบัติพายุไซโคลนนาร์กิส - ที่ประชุมรับทราบความสำเร็จของคณะทำงานด้านมนุษยธรรมของอาเซียนสำหรับผู้ประสบภัยพิบัติพายุไซโคลนนาร์กิส ซึ่งภารกิจที่ได้รับมอบหมายร่วมกับ Tripatite Core Group จะสิ้นสุดในวันที่ 31 กรกฎาคม 2553 ทั้งนี้ รัฐบาลพม่าจะเริ่มเป็นผู้รับผิดชอบการประสานงานและการใช้ประโยชน์ความช่วยเหลือจากประชาคมระหว่างประเทศในเดือนสิงหาคม 2553 นอกจากนี้ จากการให้ความสำคัญกับความช่วยเหลือด้านมนุษยธรรมในกรณีภัยพิบัติธรรมชาติ ที่ประชุมเห็นชอบให้เร่งรัดจัดตั้งศูนย์การประสานงานอาเซียนสำหรับความช่วยเหลือทางมนุษยธรรมว่าด้วยการจัดการภัยพิบัติในประเทศอินโดนีเซีย

3. โครงสร้างทางสถาปัตยกรรมในภูมิภาค - ที่ประชุมเห็นพ้องกับการเร่งรัดการรวมตัวเป็นปึกแผ่นของอาเซียนและการสร้างประชาคมอาเซียน พร้อมกับการขยายความสัมพันธ์ของอาเซียนกับภูมิภาคภายนอก โดยยังคงบทบาทอาเซียนในการเป็นแกนนำ เกี่ยวกับเรื่องนี้ ที่ประชุมยินดีกับการที่สหรัฐฯ และรัสเซียได้แสดงความสนใจเข้าร่วมในกรอบการประชุมสุดยอดเอเชียตะวันออก (East Asia Summit - EAS) โดยมีอาเซียนยังคงบทบาทเป็นแกนหลักของเวทีความร่วมมือดังกล่าว ทั้งนี้ จะได้มีการหารือในเรื่องรูปแบบและช่วงเวลาในการดำเนินการต่อไป

4. TAC และความสัมพันธ์ของอาเซียนกับภูมิภาคภายนอก - ที่ประชุมยินดีต่อการเข้าร่วมเป็นภาคีของสนธิสัญญาไมตรีและความร่วมมือในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (TAC) ของแคนาดาและตุรกี นอกจากนี้ ที่ประชุมได้พิจารณาการเตรียมการประชุมผู้นำอาเซียน-สหรัฐอเมริกา ครั้งที่ 2 การประชุมสุดยอดอาเซียน-รัสเซีย ครั้งที่ 2 การประชุมสุดยอดอาเซียน-ออสเตรเลีย และการประชุมสุดยอดอาเซียน-สหประชาชาติ ครั้งที่ 3 และการประชุมสุดยอดอาเซียน-นิวซีแลนด์ ในโอกาสครบรอบความสัมพันธ์ระหว่างอาเซียนกับนิวซีแลนด์ ในช่วงการประชุมสุดยอดอาเซียน ครั้งที่ 17 ในเดือนตุลาคม 2553 ที่กรุงฮานอย รวมถึงการการประชุมสุดยอดกับจีนและอินเดีย ในโอกาสครบรอบความสัมพันธ์ระหว่างอาเซียนกับประเทศดังกล่าวในปี 2555

5. การร่วมกันเป็นเจ้าภาพจัดการแข่งขันฟุตบอลโลก - ที่ประชุมได้หารือถึงความเป็นไปได้ในการให้ประเทศสมาชิกอาเซียนร่วมกันเป็นเจ้าภาพจัดการแข่งขันฟุตบอลโลกในอนาคต

6. พม่า - ที่ประชุมรับทราบถึงพัฒนาการและความคืบหน้าล่าสุดในการดำเนินการตามแผนปรองดองแห่งชาติ รวมถึงการเตรียมการเลือกตั้งภายหลังการลงทะเบียนพรรคการเมืองเสร็จสิ้นแล้ว ที่ประชุมได้หยิบยกประเด็นการส่งคณะผู้แทนไปสังเกตการณ์การเลือกตั้งในพม่าด้วย โดยรัฐมนตรีว่าการฯ ได้แสดงความหวังว่าการเลือกตั้งจะเป็นอิสระ โปร่งใสและทุกฝ่ายสามารถเข้าร่วมได้ ซึ่งจะนำพม่าสู่ประชาธิปไตยแบบหลายพรรคการเมือง

กองการสื่อมวลชน กรมสารนิเทศ กระทรวงการต่างประเทศ โทร. 643-5170 โทรสาร. 643-5169 E-mail : div0704@mfa.go.th--จบ--

-พห-

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ