เมื่อวันที่ 21 กรกฎาคม 2553 นายกษิต ภิรมย์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ ได้เข้าร่วมการประชุมรัฐมนตรีต่างประเทศอาเซียน+3 (จีน ญี่ปุ่น และเกาหลีใต้) การหารืออย่างไม่เป็นทางการของรัฐมนตรีในกรอบการประชุมสุดยอดเอเชียตะวันออก และการประชุมระดับรัฐมนตรีลุ่มน้ำโขง-ญี่ปุ่น ณ กรุงฮานอย ประเทศเวียดนาม
ที่ประชุมรัฐมนตรีต่างประเทศอาเซียน+3 ได้พิจารณาทบทวนและหารือในประเด็นทิศทางในอนาคตของความร่วมมือภายใต้กรอบอาเซียน+3 ซึ่งรัฐมนตรีว่าการฯ ได้แสดงความพอใจถึงความคืบหน้าของการดำเนินการในกรอบดังกล่าว และให้คำมั่นของไทยในการแสวงหาความร่วมมือในกรอบดังกล่าวด้วย ทั้งนี้ รัฐมนตรีว่าการฯ ได้เน้นย้ำความสำคัญของความร่วมมือด้านการศึกษาซึ่งไทยจะเป็นเจ้าภาพการประชุมระดับเจ้าหน้าที่อาวุโสอาเซียน+3 ด้านการศึกษา ครั้งที่ 1 ในเดือนพฤศจิกายน 2553 เพื่อรับรองแผนการดำเนินงานและพิจารณาความเป็นไปได้ในการจัดการประชุมรัฐมนตรีอาเซียน+3 ด้านการศึกษาในอนาคตต่อไป โดยภายใต้แผนการดำเนินงานดังกล่าว ประเทศไทยต้องการที่จะส่งเสริมการศึกษาด้านอาเซียนและเอเชียตะวันออก ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของยุทธศาสตร์ด้านการทูตสาธารณะภายใต้กรอบอาเซียน+3 นอกจากนี้ รัฐมนตรีว่าการฯ ได้เน้นย้ำถึงความสำคัญของความปลอดภัยด้านอาหาร และมาตรฐานอาหารต่างๆ รวมถึงการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำอย่างเป็นระบบ
ในระหว่างการหารืออย่างไม่เป็นทางการของรัฐมนตรีต่างประเทศในกรอบการประชุมสุดยอดเอเชียตะวันออกนั้น รัฐมนตรีว่าการฯ ได้เน้นย้ำถึงความสำคัญของการประชุมสุดยอดเอเชียตะวันออก ในฐานะเวทียุทธศาสตร์สำหรับการหารือประเด็นต่างๆ ของภูมิภาค โดยประเด็นที่ไทยเห็นว่ามีความสำคัญได้แก่ การลดช่องว่างการพัฒนาระหว่างประเทศในภูมิภาค การส่งเสริมการเปิดเสรีระบบเศรษฐกิจ การส่งเสริมสิทธิมนุษยชน และแนวปฏิบัติที่ดีในด้านธรรมาภิบาล ความโปร่งใส และความน่าเชื่อถือ การส่งเสริมความปลอดภัยทางทะเล และการแก้ไขปัญหาโจรสลัด และการควบคุมสิ่งแวดล้อม และการส่งเสริมให้มีการยอมรับความเห็นที่แตกต่างและการลดอคติตามแนวทางของความเชื่อ นอกจากนี้ กรอบการประชุมสุดยอดเอเชียตะวันออกควรแก้ไขปัญหาการค้ามนุษย์และการโยกย้ายถิ่นฐาน โดยกระชับความร่วมมือด้านการข่าว และการปราบปรามกระบวนการค้ามนุษย์
ในการประชุมระดับรัฐมนตรีลุ่มน้ำโขง-ญี่ปุ่น รัฐมนตรีว่าการฯ ได้แจ้งที่ประชุมเกี่ยวกับความพยายามของไทยในการส่งเสริมความเชื่อมโยงในภูมิภาค ซึ่งไทยและญี่ปุ่นได้มีความร่วมมืออย่างใกล้ชิด โดยทั้งสองฝ่ายได้ร่วมกันส่งคณะไปสำรวจเส้นทางระเบียงเศรษฐกิจตะวันออก-ตะวันตก และท่าเรือทวาย นอกจากนี้ ทั้งสองฝ่ายจะร่วมกันเป็นเจ้าภาพจัดการประชุมลุ่มน้ำโขง-ญี่ปุ่นระหว่างประเทศ ว่าด้วยเส้นทางระเบียงเศรษฐกิจตะวันออก-ตะวันตก และใต้ ในเดือนกันยายน 2553 ภายใต้หัวข้อ “การสร้างความเชื่อมโยงที่สมบูรณ์ การสร้างความรุ่งเรืองทางเศรษฐกิจ
นอกจากนี้ รัฐมนตรีว่าการฯ ได้บรรยายสรุปให้ที่ประชุมทราบเกี่ยวกับโครงการของไทยในการให้ความช่วยเหลือด้านการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานในประเทศเพื่อนบ้าน รวมถึงการก่อสร้างสะพานข้ามแม่น้ำโขงแห่งที่ 3 และ 4 รวมถึงการปรับปรุงถนนจากแม่สอดไปกอกะเระ สำหรับข้อริเริ่ม “ทศวรรษสู่ลุ่มน้ำโขงสีเขียว” ของฝ่ายญี่ปุ่นนั้น รัฐมนตรีว่าการฯ เสนอว่าข้อริเริ่มควรรวมความร่วมมือด้านการพัฒนาและความเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม การควบคุมปัญหาหมอกควันข้ามชาติ การจัดการปัญหาขยะและการนำกลับมาใช้ใหม่ การสงวนและรักษาป่าไม้ ในการดำเนินโครงการในอนาคตนั้น รัฐมนตรีว่าการฯ รับทราบว่ามีการประสานงานกับเวทีอนุภูมิภาคอื่นๆ เช่น อนุภูมิภาคลุ่มน้ำโขง ยุทธศาสตร์ความร่วมมือทางเศรษฐกิจ อิระวดี-เจ้าพระยา-แม่โขง และข้อริเริ่มลุ่มน้ำโขงตอนล่าง-สหรัฐฯ เพื่อหลีกเลี่ยงความซ้ำซ้อนและเพื่อให้เกิดประสิทธิภาพในการดำเนินงาน
กองการสื่อมวลชน กรมสารนิเทศ กระทรวงการต่างประเทศ โทร. 643-5170 โทรสาร. 643-5169 E-mail : div0704@mfa.go.th--จบ--