เมื่อวันที่ 22 กรกฎาคม 2553 ระหว่างการประชุมรัฐมนตรีต่างประเทศอาเซียน ครั้งที่ 43 และการประชุมระหว่างรัฐมนตรีต่างประเทศอาเซียนกับประเทศคู่เจรจา รวมถึงการประชุมที่เกี่ยวข้องอื่นๆ ณ กรุงฮานอย ประเทศเวียดนาม นายกษิต ภิรมย์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ ได้พบปะหารือทวิภาคีกับรัฐมนตรีต่างประเทศของเกาหลีเหนือ นิวซีแลนด์ แคนาดา และอินเดียด้วย เกี่ยวกับเรื่องนี้ นายธานี ทองภักดี รองอธิบดีกรมสารนิเทศ และรองโฆษกกระทรวงการต่างประเทศได้บรรยายสรุปแก่สื่อมวลชน ในประเด็นสำคัญ สรุปได้ดังนี้
1. การหารือกับนายปัก อึย-ชุน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศเกาหลีเหนือ - รัฐมนตรีว่าการฯ กล่าวว่ารู้สึกยินดีที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศเกาหลีเหนือสามารถเข้าร่วมการประชุมหารือด้านการเมืองและความมั่นคงในภูมิภาคเอเชียและแปซิฟิกในปีนี้ได้ และกล่าวว่าการประชุมดังกล่าวเป็นเวทีที่เกาหลีเหนือสามารถใช้ในการกล่าวและชี้แจงท่าทีของตนแก่ประชาคมระหว่างประเทศทราบเกี่ยวกับเหตุการณ์ที่ประเทศต่างๆ สนใจ ทั้งนี้ ฝ่ายไทยประสงค์ให้เกาหลีเหนือมีปฏิสัมพันธ์กับประชาคมระหว่างประเทศและภูมิภาคต่างๆ เพื่อเสริมสร้างความเข้าใจระหว่างกันให้ดีขึ้น เกี่ยวกับประเด็นอาวุธนิวเคลียร์นั้น ฝ่ายเกาหลีเหนือแจ้งว่า พร้อมที่จะกลับเข้าร่วมกรอบการเจรจา 6 ฝ่ายที่เท่าเทียมกัน ซึ่งรัฐมนตรีว่าการฯ ได้แสดงความยินดีในเรื่องดังกล่าว สำหรับประเด็นการจมของเรือโชนันนั้น รัฐมนตรีว่าการฯ ย้ำว่าประเด็นสำคัญ คือ ข้อเท็จจริงจากสิ่งที่ปรากฎขึ้น ทั้งนี้ หากฝ่ายเกาหลีเหนือเห็นว่าควรต้องชี้แจงกรณีดังกล่าว ก็ควรให้ข้อมูลแก่กระบวนการสอบสวนที่เกิดขึ้น
2. การหารือกับนายลอว์เรนส์ แคนนอน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศแคนาดา - ฝ่ายแคนาดาได้แสดงความยินดีที่สถานการณ์การเมืองไทยได้กลับเข้าสู่ภาวะปกติ และตระหนักดีว่ารัฐบาลไทยได้ดำเนินการอย่างอดกลั้นที่สุดแล้ว รวมถึงแสดงความขอบคุณสำหรับความช่วยเหลือต่อผู้สื่อข่าวชาวแคนาดาที่ได้รับบาดเจ็บจากเหตุการณ์ดังกล่าว ในการนี้ รัฐมนตรีว่าการฯ ได้แจ้งฝ่ายแคนาดาทราบเกี่ยวกับภูมิหลังของเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น และความพยายามของรัฐบาลในการสร้างความปรองดอง นอกจากนี้ รัฐมนตรีว่าการฯ แสดงความสนใจในการเรียนรู้ประสบการณ์และแนวปฏิบัติที่ดีของแคนาดาในเรื่องธรรมาภิบาลและความโปร่งใสรวมถึงความรู้สึกรับผิดชอบเพื่อเสริมสร้างสถาบันประชาธิปไตยของไทย เกี่ยวกับเรื่องนี้ ทั้งสองฝ่ายเห็นพ้องกันว่า ประชาธิปไตยไม่ใช่เป็นเรื่องวันเลือกตั้งเพียง 1 วัน แต่จะต้องพิจารณาว่าแนวคิดและหลักการประชาธิปไตยจะนำมาใช้ในสังคมไทยในช่วงวันที่เหลือ 364 วันอย่างไร ทั้งนี้ รัฐมนตรีต่างประเทศของทั้งสองฝ่ายเคยเข้าร่วมการประชุมประชาคมประชาธิปไตยที่เมืองกลาโกว ประเทศโปแลนด์ ซึ่งมีการหารือเรื่องการศึกษาประชาธิปไตย นอกจากนี้ ทั้งสองฝ่ายได้หารือความเป็นไปได้ในการจัดการสัมมนาในเรื่องดังกล่าวร่วมกันในกรุงเทพฯ ในอนาคต
3. การหารือกับนายเมอเรย์ แมคคัลลี รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศนิวซีแลนด์ - ทั้งสองฝ่ายได้หารือเกี่ยวกับความร่วมมือในด้านต่างๆ อาทิ การพัฒนาทรัพยากรมนุษย์และความปลอดภัยทางอาหาร นอกจากนี้ เนื่องจากฝ่ายไทยมีความสนใจเกี่ยวกับระบอบประชาธิปไตยของนิวซีแลนด์ โดยเฉพาะในเรื่องธรรมาภิบาล ความโปร่งใส และความรู้สึกรับผิดชอบ รวมถึงการพัฒนาสถาบันด้านประชาธิปไตย สำหรับด้านการศึกษานั้น เนื่องจากไทยอยู่ระหว่างการปฏิรูประบบการศึกษา ดังนั้น รัฐมนตรีว่าการฯ จึงแสดงความสนใจที่จะมีครูสอนภาษาอังกฤษจากนิวซีแลนด์เข้ามาดำเนินการสอนในไทย
4. การหารือกับนางปรีณีต คอร์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการต่างประเทศอินเดีย - ทั้งสองฝ่ายได้หารือเกี่ยวกับการส่งเสริมความร่วมมือระหว่างกัน โดยเฉพาะนโยบายมองตะวันตกของไทย และนโยบายมองตะวันออกของอินเดีย ในการนี้ ทั้งสองฝ่ายจะส่งเสริมให้มีการแลกเปลี่ยนการเยือนอย่างต่อเนื่องในทุกระดับ และการจัดการประชุมคณะกรรมาธิการร่วมไทย-อินเดียในโอกาสแรกที่ทั้งสองฝ่ายสะดวก นอกจากนี้ ฝ่ายอินเดียขอรับการสนับสนุนในการริเริ่มฟื้นฟูมหาวิทยาลัยนาลันทา ในฐานะที่เป็นสถาบันการศึกษาชั้นนำ โดยเฉพาะเรื่องพุทธศาสนา
กองการสื่อมวลชน กรมสารนิเทศ กระทรวงการต่างประเทศ โทร. 643-5170 โทรสาร. 643-5169 E-mail : div0704@mfa.go.th--จบ--