รัฐมนตรีว่าการฯ แถลงข่าวเรื่อง บันทึกความเข้าใจว่าด้วยการสำรวจและจัดทำหลักเขตแดนทางบกร่วมไทย-กัมพูชา วันที่ 14 มิถุนายน 2543 กับกรณีปราสาทพระวิหาร

ข่าวต่างประเทศ Tuesday August 3, 2010 07:12 —กระทรวงการต่างประเทศ

เมื่อวันที่ 2 สิงหาคม 2553 นายกษิต ภิรมย์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ ได้แถลงแก่สื่อมวลชนเรื่อง บันทึกความเข้าใจว่าด้วยการสำรวจและจัดทำหลักเขตแดนทางบกร่วมไทย-กัมพูชา ฉบับลงวันที่ 14 มิถุนายน 2543 กับกรณีปราสาทพระวิหาร ณ กระทรวงการต่างประเทศ สรุปสาระสำคัญได้ ดังนี้

1. เกี่ยวกับความเป็นมาของบันทึกความเข้าใจฯ รัฐมนตรีว่าการฯ กล่าวว่า ภายหลังคดีปราสาทพระวิหาร เมื่อปี 2505 ซึ่งศาลยุติธรรมระหว่างประเทศตัดสินให้ปราสาทพระวิหารเป็นของกัมพูชานั้น ประเด็นเรื่องเขตแดนได้ถูกละทิ้งเป็นเวลาหลายสิบปี เนื่องจากคนไทยยังมีความทรงจำที่เจ็บปวดกับคดีปราสาทพระวิหาร ดังนั้น รัฐบาลต่าง ๆ ของไทยในช่วงนั้นจึงมีความระมัดระวังที่จะดำเนินการในเรื่องนี้โดยทันที และต้องคำนึงถึงสภาพแวดล้อมทางการเมืองระหว่างประเทศด้วย

2. นอกจากนี้ สืบเนื่องจากพระปรีชาสามารถของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวที่ได้ผลักดันให้มีการตกลงในเรื่องเขตแดนระหว่างสยามกับฝรั่งเศส อันเป็นเหตุผลหลักที่สยามสามารถดำรงเอกราชไว้ได้ในต้นศตวรรษที่ 20 โดยการเสด็จประพาสต้นไปฝรั่งเศส เพื่อผลักดันให้ฝรั่งเศสให้สัตยาบันสนธิสัญญาสยาม — ฝรั่งเศส ค.ศ. 1907 เพื่อให้ฝรั่งเศสหยุดการรุกเข้ามาในดินแดนสยามอีก ดังนั้น รัฐบาลไทยจึงต้องให้การเคารพความตกลงระหว่างสยามกับฝรั่งเศสดังกล่าว

3. และเมื่อปี 2531 ได้เกิดการสู้รบระหว่างไทยกับลาวในเหตุการณ์บ้านร่มเกล้า ชายแดนจังหวัดพิษณุโลก อันเนื่องจากข้อพิพาทด้านเขตแดน ซึ่งนำไปสู่การสูญเสียจำนวนมากของทั้งสองฝ่าย รัฐบาลไทยจึงตระหนักว่า มีความจำเป็นต้องแก้ไขปัญหาเขตแดนอย่างจริงจัง โดยมีนโยบายว่าจะไม่ให้ปัญหาเขตแดนเป็นอุปสรรคต่อความสัมพันธ์กับประเทศเพื่อนบ้าน และแยกปัญหาเขตแดนออกจากประเด็นทางการเมือง (depoliticize) โดยในส่วนของกัมพูชานั้น ภายหลังที่สงครามภายในของกัมพูชาสิ้นสุดลงในปี 2536 ฝ่ายกัมพูชาก็มีความพร้อมที่จะเจรจา ทั้งนี้ โดยที่เขตแดนไทย-กัมพูชาได้มีการกำหนดไว้แล้ว รัฐบาลไทยจึงเห็นควรให้เรื่องเขตแดนเป็นเรื่องเทคนิค เกี่ยวกับการหาเส้นเขตแดนที่มีอยู่แล้ว และมิใช่การเจรจากำหนดเส้นเขตแดนใหม่ ดังนั้น ในบันทึกความเข้าใจฯ จึงได้มีการกำหนดวิธีที่จะนำไปสู่การหาเส้นเขตแดนที่มีอยู่แล้ว กล่าวคือ ก) ระบุรายชื่อเอกสารทางกฎหมายที่เกี่ยวข้อง และ ข) กำหนดให้มีการจัดทำรายละเอียดวิธีการสำรวจสำหรับเจ้าหน้าที่เทคนิค ซึ่งความพยายามที่จะไม่ให้เรื่องเขตแดนกลายเป็นปัญหาทางการเมืองส่งผลให้ในปัจจุบัน เขตแดนไทย-กัมพูชายังคงเปิดอยู่ เพื่อให้ความสัมพันธ์ด้านการค้าชายแดน การท่องเที่ยว หรือการเดินทางของชาวกัมพูชาเข้ามารับบริการด้านการแพทย์ในไทยยังดำเนินต่อไปได้ รวมถึงความร่วมมือเพื่อการพัฒนาในกรอบอาเซียน และอนุภูมิภาคอื่น ๆ ด้วย

4. ทั้งนี้ ในช่วงสมัยเดียวกันนั้น ไทยก็ได้เริ่มเจรจาเขตแดนกับประเทศเพื่อนบ้านอื่น ๆ ด้วยเช่นกัน โดยมีการจัดตั้งกลไกการเจรจา คือ คณะกรรมาธิการเขตแดนร่วมระหว่างไทย-ลาว และไทย-พม่า และสำหรับเขตแดนไทย — มาเลเซียนั้น ได้เริ่มมีการเจรจามาก่อนแล้วเมื่อปี 2515 โดยมีคณะกรรมการจัดทำหลักเขตแดนร่วมไทย - มาเลเซีย เป็นกลไกหลัก และได้มีการจัดทำบันทึกความเข้าใจกับลาวและมาเลเซีย เพื่อใช้เป็นกรอบทางกฎหมายในการเจรจาเรื่องเขตแดน เช่นเดียวกับบันทึกความเข้าใจฯ ระหว่างไทยกับกัมพูชา ปี 2543

5. นอกจากนี้ บันทึกความเข้าใจดังกล่าว ต้องอิงกฎหมายระหว่างประเทศด้วย โดยฝ่ายไทยตระหนักว่า การปักหลักเขตแดนจำเป็นต้องใช้อนุสัญญากรุงเวียนนาว่าด้วยกฎหมายสนธิสัญญา ค.ศ. 1969 ตีความสนธิสัญญาสยาม-ฝรั่งเศสในเรื่องเขตแดน ดังนั้น กรณีแผนที่ 1:200,000 จึงเป็นหนึ่งในเอกสารที่จะต้องใช้พิจารณาตีความ (subsequent agreement) และไม่ใช่เอกสารเพียงชิ้นเดียวที่จะใช้ในการตีความ เพราะได้มีการระบุทั้งอนุสัญญาฯ ค.ศ. 1904 และ ค.ศ. 1907 ไว้ด้วย

6. เกี่ยวกับสถานภาพของบันทึกความเข้าใจฯ ไทย-กัมพูชา ฉบับลงวันที่ 14 มิถุนายน 2543 นั้น รัฐมนตรีว่าการฯ ย้ำว่าตามกฎหมายระหว่างประเทศ บันทึกความเข้าใจฯ เป็นความตกลงที่ทำขึ้นเพื่อการเจรจา (agreement to negotiate) มิใช่ความตกลงที่จะมีผลเป็นการตกลงกันในเรื่องเขตแดน (agreement to agree) โดยผลการเจรจาที่จะมีขึ้นตามบันทึกความเข้าใจฉบับนี้ จะต้องนำมาใช้ประกอบการจัดทำความตกลงเรื่องเส้นเขตแดนระหว่างทั้งสองประเทศอีกฉบับหนึ่ง ดังนั้น จึงมิใช่ความตกลงที่จะต้องเสนอให้รัฐสภาให้ความเห็นชอบก่อนตามรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2540 มาตรา 224 และก่อนที่จะมีการจัดทำความตกลงดังกล่าวอีกฉบับ รัฐบาลต้องปฎิบัติตามรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2550 มาตรา 190 วรรคสองด้วย

7. บันทึกความเข้าใจฯ เป็นการตกลงระหว่างไทยกับกัมพูชาที่จะสำรวจและจัดทำหลักเขตแดนที่มีอยู่แล้วให้ชัดเจนบนพื้นฐานของเอกสารที่แต่ละฝ่ายอ้างอิง และไม่ใช่การเจรจาเขตแดนใหม่ ดังนั้น จึงไม่มีการเสียดินแดนแต่อย่างใด แต่เป็นเรื่องที่ต้องพิสูจน์หาตำแหน่งของเส้นเขตแดนที่ถูกต้อง ตามสนธิสัญญาสยาม-ฝรั่งเศสที่ได้ตกลงกันเมื่อต้นศตวรรษที่ 20 โดยอาศัยหลักการตีความสนธิสัญญาฯ ตามข้อ 31 และ 32 ของอนุสัญญากรุงเวียนนาฯ

8. บันทึกความเข้าใจฯ เป็นการวางกรอบและกลไกในการปฏิบัติงานบนพื้นฐานของการเคารพเส้นเขตแดนระหว่างประเทศทั้งสองที่ได้จัดทำขึ้นระหว่างสยามกับฝรั่งเศสและจะไม่มีการเปลี่ยนแปลงแก้ไขเส้นเขตแดน และเป็นการทำให้การเจรจาเขตแดนระหว่างไทยกับกัมพูชา ตั้งอยู่บนพื้นฐานของกฎหมายระหว่างประเทศ โดยเฉพาะการใช้หลักการตีความของอนุสัญญากรุงเวียนนาฯ ซึ่งมีผลผูกพันไทยและกัมพูชาตามกฎหมายจารีตประเพณีระหว่างประเทศ (Customary International Law) ทั้งนี้ การใช้เอกสารในการตีความดังกล่าว ไม่ใช่การยอมรับแผนที่ 1:200,000 แต่เป็นการเจรจาเรื่องน้ำหนักของเอกสารแต่ละชิ้นภายใต้กฎหมายระหว่างประเทศ เพื่อนำไปสู่การหาทางออกร่วมกันของไทยและกัมพูชาในเรื่องเขตแดน

9. บันทึกความเข้าใจฯ เป็นการตกลงของทั้งสองฝ่ายที่จะไม่ดำเนินการใด ๆ ที่มีผลเป็นการเปลี่ยนแปลงสภาพแวดล้อมของพื้นที่ชายแดน เพื่อป้องกันการรุกล้ำดินแดนและลดความเสี่ยงของการปะทะกันบริเวณแนวชายแดนอันเนื่องจากความเข้าใจผิดเกี่ยวกับการรุกล้ำดินแดน ซึ่งในเรื่องนี้ ในกรณีที่กัมพูชาไม่ปฏิบัติตามบันทึกความเข้าใจฯ ไทยก็ได้ประท้วงทุกครั้ง และถือได้ว่าตามกฎหมายระหว่างประเทศนั้น การประท้วงของไทยได้รักษาสิทธิในเรื่องอธิปไตยแล้ว

10. บันทึกความเข้าใจฯ เป็นเครื่องมือและกรอบเจรจาเพียงอย่างเดียวที่มีอยู่สำหรับการแก้ไขปัญหาเขตแดนระหว่างไทยกับกัมพูชาอย่างยั่งยืน และเป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้ประเทศต่าง ๆ ที่เป็นสมาชิกคณะกรรมการมรดกโลกได้ตระหนักว่า การเจรจาเขตแดนระหว่างไทยกับกัมพูชายังไม่แล้วเสร็จและอยู่ระหว่างการดำเนินการ รวมทั้งในบริเวณพื้นที่บริเวณประสาทพระวิหาร

11. นอกจากนี้ รัฐมนตรีว่าการฯ กล่าวเสริมว่า สิ่งที่กระทรวงการต่างประเทศ กำลังผลักดันในขณะนี้ คือ การเสนอบันทึกการประชุมคณะกรรมาธิการเขตแดนร่วม (JBC) ไทย - กัมพูชา 3 ฉบับล่าสุด เข้าสู่การพิจารณาของรัฐสภาในช่วงสมัยประชุมนี้ เนื่องจากยังไม่ได้รับการพิจารณาในสมัยที่ผ่านมา นอกจากนี้ ยังมีร่างข้อตกลงชั่วคราวระหว่างรัฐบาลแห่งราชอาณาจักรกัมพูชากับรัฐบาลแห่งราชอาณาจักรไทยว่าด้วยปัญหาชายแดนในพื้นที่ปราสาทพระวิหาร (Provisional Arrangement) ซึ่งยังไม่สามารถหาข้อสรุปเกี่ยวกับคำเรียกตัวปราสาทพระวิหาร (Phra Viharn) ได้ เนื่องจากทางฝ่ายกัมพูชาต้องการให้ใช้คำว่า “Preah Vihear” แต่ฝ่ายไทยเห็นว่า ตามหลักสากลหากทั้งสองฝ่ายไม่สามารถตกลงกันได้ ก็ควรใช้ทั้งคำในภาษาไทยและภาษากัมพูชาควบคู่กันไป หรือใช้คำว่า “Temple” เพียงคำเดียว

กองการสื่อมวลชน กรมสารนิเทศ กระทรวงการต่างประเทศ โทร. 643-5170 โทรสาร. 643-5169 E-mail : div0704@mfa.go.th--จบ--

-พห-

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ