ไทยชี้แจงสหประชาชาติกรณีความสัมพันธ์ระหว่างไทยกับกัมพูชา

ข่าวต่างประเทศ Wednesday August 11, 2010 07:20 —กระทรวงการต่างประเทศ

ตามที่สมเด็จอัครมหาเสนาบดีเดโช ฮุน เซน นายกรัฐมนตรีแห่งราชอาณาจักรกัมพูชา ได้มีหนังสือลงวันที่ 8 สิงหาคม 2553 ถึงนาย Ali Abdussalam Treki ประธานสมัชชาสหประชาชาติ และนาย Vitaly Churkin ประธานคณะมนตรีความมั่นคงแห่งสหประชาชาติ ประท้วงท่าทีของประเทศไทยกรณีปราสาทพระวิหาร นั้น เมื่อวันที่ 10 สิงหาคม 2553 นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี ได้มีหนังสือถึงประธานสมัชชาสหประชาชาติและประธานคณะมนตรีความมั่นคงแห่งสหประชาชาติ เพื่อชี้แจงและให้ข้อมูล โดยขอให้มีการเวียนหนังสือของฝ่ายไทยให้สมาชิกของสมัชชาสหประชาชาติและคณะมนตรีความมั่นคงแห่งสหประชาชาติทราบด้วย สรุปสาระสำคัญได้ ดังนี้

1. คำให้สัมภาษณ์ของนายกรัฐมนตรี ตามที่ปรากฏในหนังสือของสมเด็จฮุน เซน เป็นการอ้างที่คลาดเคลื่อนไม่ตรงกับบริบทและเป็นการเข้าใจผิด

2. ประเทศไทยให้ความสำคัญอย่างยิ่งกับการรักษาความสัมพันธ์อันดีกับประเทศเพื่อนบ้าน รวมถึงประเทศกัมพูชา ซึ่งเป็นสมาชิกของสมาคมประชาชาติแห่งเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (อาเซียน) ด้วยกัน และแม้ว่าความสัมพันธ์ทวิภาคีระหว่างไทยกับกัมพูชาจะมีความยากลำบากในช่วงนี้ แต่ทั้งสองประเทศก็ยังคงมีความร่วมมือและการประสานงานกันอย่างใกล้ชิดภายใต้กรอบความร่วมมือระดับทวิภาคีและระดับภูมิภาคต่าง ๆ ผู้นำและเจ้าหน้าที่ทุกระดับของทั้งสองประเทศมีการติดต่อและการแลกเปลี่ยนการเยือนกันตามปกติ โดยเฉพาะภายใต้กรอบความร่วมมือระดับอนุภูมิภาค นอกจากนี้ การค้าชายแดน การท่องเที่ยวข้ามชายแดน และการไปมาหาสู่กันระหว่างประชาชนของทั้งสองประเทศก็ดำเนินต่อไปอย่างปราศจากอุปสรรค

3. รัฐบาลไทยมีความตั้งใจที่จะแก้ไขปัญหาเขตแดนระหว่างไทยกับกัมพูชาด้วยการปฏิบัติให้เป็นไปตามบันทึกความเข้าใจว่าด้วยการสำรวจและจัดทำหลักเขตแดนทางบกร่วมไทย-กัมพูชา พ.ศ. 2543 ในการนี้ นายกรัฐมนตรีได้สั่งการให้ทั้งกระทรวงการต่างประเทศและกระทรวงกลาโหมประสานงานกันอย่างใกล้ชิด รวมทั้งประสานงานกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องของฝ่ายกัมพูชา ซึ่งรวมถึงคณะกรรมการชายแดนทั่วไป (GBC) และคณะกรรมการชายแดนส่วนภูมิภาค (RBC)

4. ประเทศไทยยึดมั่นอย่างเคร่งครัดต่อหลักการและความมุ่งประสงค์ของกฎบัตรสหประชาชาติมาโดยตลอด และได้ปฏิบัติตามคำพิพากษาศาลยุติธรรมระหว่างประเทศในคดีปราสาทพระวิหาร เมื่อปี 2505 อย่างครบถ้วน ประเทศไทยเชื่อมั่นว่า ความขัดแย้งใด ๆ ระหว่างประเทศจะต้องแก้ไขโดยสันติวิธี และยินดีที่ได้รับทราบการยืนยันอีกครั้งของนายกรัฐมนตรีกัมพูชาว่า กัมพูชามิได้มีนโยบายใช้กำลังในการแก้ไขปัญหาใดก็ตามกับประเทศเพื่อนบ้าน ประเทศไทยเองก็มีนโยบายเช่นเดียวกัน และด้วยเหตุผลนี้ บันทึกความเข้าใจฯ เป็นกรอบที่ประเทศไทยและกัมพูชาใช้ในการเจรจากันในเรื่องที่เกี่ยวกับเขตแดนทางบก ประเทศไทยจึงคาดหวังให้มีการยึดถือปฏิบัติตามบันทึกความเข้าใจฯ ดังกล่าวอย่างเคร่งครัด ปัญหาที่มีอยู่ในปัจจุบันเกิดขึ้นจากการที่กัมพูชาได้รุกล้ำเข้ามาในดินแดนของไทย อันเป็นการละเมิดกฎหมายระหว่างประเทศและโดยเฉพาะอย่างยิ่งข้อ 5 ของบันทึกความเข้าใจฯ ทั้งนี้ เมื่อปี 2552 นายกรัฐมนตรีได้แจ้งให้เลขาธิการสหประชาชาติทราบถึงปัญหาที่เกิดขึ้น เนื่องจากการที่กัมพูชานำปราสาทพระวิหารไปขึ้นทะเบียนเป็นมรดกโลก ในขณะที่พื้นที่โดยรอบปราสาทเป็นดินแดนของไทย

5. ประเทศไทยเชื่อว่าการทำงานร่วมกันกับประเทศกัมพูชาบนพื้นฐานของมิตรภาพที่ดีและการเป็นเพื่อนบ้านที่ดีเท่านั้นที่จะทำให้ทั้งสองประเทศสามารถผ่านพ้นความขัดแย้งในปัจจุบันเพื่อประโยชน์ของประเทศทั้งสองและประชาชนของทั้งสองประเทศได้ ไทยยังคงมีความมุ่งมั่นที่จะทำงานอย่างใกล้ชิดและโดยสุจริตใจกับกัมพูชาผ่านกรอบการเจรจาระดับทวิภาคีที่มีอยู่แล้ว รวมทั้งคณะกรรมาธิการเขตแดนร่วมไทย-กัมพูชา (JBC) ด้วย เพื่อให้สองประเทศสามารถบรรลุถึงการแก้ไขปัญหาที่มีอยู่ระหว่างกันได้โดยสันติ

กองการสื่อมวลชน กรมสารนิเทศ กระทรวงการต่างประเทศ โทร. 643-5170 โทรสาร. 643-5169 E-mail : div0704@mfa.go.th--จบ--

-พห-

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ