เมื่อวันที่ 10 สิงหาคม 2553 นายกษิต ภิรมย์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ ได้แถลงข่าวเกี่ยวกับท่าทีไทยต่อกรณีปราสาทพระวิหาร สาระสำคัญสรุปได้ ดังนี้
1. การที่ที่ประชุมคณะกรรมการมรดกโลก ครั้งที่ 34 ที่กรุงบราซิเลีย ประเทศบราซิล มีข้อตัดสินใจให้เลื่อนการพิจารณาแผนบริหารจัดการปราสาทพระวิหาร ไปยังการประชุมฯ ครั้งต่อไปที่บาห์เรนเปิดโอกาสให้ทั้งสองฝ่ายได้มีเวลาเจรจาหารือในประเด็นที่เกี่ยวข้อง
2. กลไกการประสานงานระหว่างไทย-กัมพูชา มีการดำเนินการทั้งในกรอบคณะกรรมาธิการเขตแดนร่วม (JBC) ซึ่งมีกระทรวงการต่างประเทศเป็นหน่วยงานหลัก และคณะกรรมการชายแดนทั่วไทย (GBC) ไทย-กัมพูชา และคณะกรรมการชายแดนส่วนภูมิภาค (RBC) ไทย-กัมพูชา ซึ่งมีกระทรวงกลาโหมเป็นหน่วยงานหลัก ซึ่งในส่วนของ GBC ฝ่ายทหารของทั้งสองประเทศมีการประสานงานกันในระดับต่าง ๆ ทั้งในพื้นที่และส่วนกลาง เกี่ยวกับเรื่องนี้ คณะรัฐมนตรีและสภาความมั่นคงแห่งชาติได้มอบหมายให้รัฐมนตรีว่าการฯ และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหมประสานกับฝ่ายกัมพูชาในกรอบที่แต่ละหน่วยงานมีอยู่ โดยให้ทำงานแบบคู่ขนาน (Dual Track)
3. ไทยกำลังประสานกับกัมพูชาเพื่อกำหนดวันประชุม JBC โดยหวังจะสามารถดำเนินการให้มีความคืบหน้าได้ในโอกาสแรก
4. รัฐบาลกำลังจะเสนอบันทึกการประชุม JBC ไทย-กัมพูชา 3 ฉบับ เข้าสู่การพิจารณาของรัฐสภาในช่วงสมัยประชุมนี้
5. รัฐบาลไทยเห็นว่าการก่อสร้างวัดและชุมชนชาวกัมพูชาในบริเวณพื้นที่ใกล้เคียงปราสาทพระวิหารที่ทั้งสองฝ่ายอ้างอธิปไตย เป็นการละเมิดบันทึกความเข้าใจ (MOU) ว่าด้วยการสำรวจและจัดทำหลักเขตแดนทางบกร่วมไทย-กัมพูชา ซึ่งได้มีการลงนามเมื่อวันที่ 14 มิถุนายน 2543 ซึ่งจะต้องมีการหารือกันผ่านช่องทางการทูตและการติดต่อประสานงานระหว่างฝ่ายทหารของทั้งสองฝ่ายต่อไป
6. การพบหารือระหว่างนายกรัฐมนตรีกับผู้แทนภาคประชาชนในเรื่องปราสาทพระวิหาร มีการแปลความคำกล่าวของนายกรัฐมนตรีคลาดเคลื่อน โดยนายกรัฐมนตรีกล่าวถึงการใช้ช่องทางการทูตและฝ่ายทหารในการพูดคุยกับฝ่ายกัมพูชา ไม่ได้กล่าวว่าจะใช้กำลัง
7. บ่ายวันนี้ นายกรัฐมนตรีไทยได้ลงนามหนังสือถึงประธานคณะมนตรีความมั่นคงแห่งสหประชาชาติ และประธานสมัชชาสหประชาชาติ เพื่อชี้แจงข้อมูลที่คลาดเคลื่อนและย้ำท่าทีไทยสืบเนื่องจากนายกรัฐมนตรีกัมพูชาได้มีหนังสือถึงบุคคลทั้งสองก่อนหน้านี้
8. ในส่วนของความสัมพันธ์ระหว่างประเทศไทยกับกัมพูชาในภาพรวม ประเทศไทยสนับสนุนความร่วมมือในภูมิภาคและพหุภาคี เพื่อส่งเสริมสันติภาพ ความมั่นคง และความเจริญรุ่งเรือง โดยจะเห็นได้จากความช่วยเหลือของไทยต่อกัมพูชาในด้านต่าง ๆ ที่ยังคงดำเนินอยู่ อาทิ การสร้างและปรับปรุงเส้นทางคมนาคมทางบก การให้ทุนการศึกษา ความร่วมมือทางวัฒนธรรม การปฏิบัติตามความตกลงในการโอนตัวนักโทษ และการมอบคืนวัตถุโบราณ
9. กระทรวงการต่างประเทศมีการตั้งคณะทำงานเฉพาะกิจ (Task Force) โดยมีนายชวนนท์ อินทรโกมาลย์สุต เลขานุการรัฐมนตรีว่าการฯ เป็นหัวหน้า ซึ่งจะทำงานเต็มเวลาในการติดตามและชี้แจงทำความเข้าใจประเด็นปราสาทพระวิหารที่มีนัยทางการเมือง นอกจากนี้ กระทรวงฯ ยังจ้างผู้เชี่ยวชาญด้านกฎหมายระหว่างประเทศในยุโรป 3 คน มาช่วยสนับสนุนการทำงานในเรื่องนี้ด้วย
10. รัฐมนตรีว่าการฯ มีความตั้งใจที่จะยกเลิกบันทึกความเข้าใจระหว่างรัฐบาลไทย-กัมพูชาว่าด้วยพื้นที่ที่ไทยและกัมพูชาอ้างสิทธิในไหล่ทวีปทับซ้อนกัน ที่ได้มีการลงนามเมื่อวันที่ 18 มิถุนายน 2544 เนื่องจากการลากเส้นเขตแดนจะต้องลากจากจุดสูงสุดของเกาะกูดไปยังพื้นที่ทางบก มิใช่ทางตรงกันข้าม ทั้งนี้ กระทรวงการต่างประเทศจักได้เสนอเรื่องการยกเลิกบันทึกความเข้าใจดังกล่าวพร้อมกรอบการเจรจาใหม่เข้าสู่การพิจารณาของรัฐสภาภายในปีนี้
11. รัฐบาลไทยเน้นการดำเนินการตามกลไก JBC และ MOU ปี 2543 ซึ่งเกี่ยวข้องกับอนุสัญญาสยาม-ฝรั่งเศสปี ค.ศ. 1904 และสนธิสัญญาปี ค.ศ. 1907 ตลอดจนแผนที่ 11 ระวาง ทั้งนี้ MOU ปี 2543 ช่วยอำนวยให้มีการเจรจาแก้ปัญหาข้อพิพาทเรื่องเขตแดนไทย-กัมพูชาโดยสันติ
12. แผนที่เขตแดนไทย-กัมพูชาทำเป็นร้อยปีแล้ว จึงควรนำเทคโนโลยีในปัจจุบันมาช่วยในเชิงเทคนิค ซึ่งช่วงเวลาที่ผ่านมาลักษณะทางภูมิศาสตร์อาจมีการเปลี่ยนแปลงไป จึงต้องมีการตรวจสอบกันใหม่ประกอบกับการสำรวจหลักเขตแดนที่มีอยู่เดิม
13. รัฐมนตรีว่าการฯ แสดงความเชื่อมั่นและยืนยันความซื่อสัตย์และเกียรติภูมิในการทำงานของอดีตเอกอัครราชทูตวศิน ธีรเวชญาณ ประธาน JBC (ฝ่ายไทย) ซึ่งมีผลงานมากมายเป็นที่ยอมรับโดยทั่วไป โดยเฉพาะข้าราชการกระทรวงฯ ทั้งในอดีตและปัจจุบัน จึงไม่เห็นด้วยกับคำวิจารณ์ที่ไม่มีเหตุผลและมีผลกระทบต่อศักดิ์ศรีและเกียรติภูมิของท่าน และเรียกร้องให้ผู้วิจารณ์ขอโทษต่อสาธารณชน
14. รัฐมนตรีว่าการฯ ได้ตอบคำถามสื่อมวลชนเกี่ยวกับการเชิญเอกอัครราชทูตอาเซียนหรือผู้แทน (ยกเว้นกัมพูชา) มาพบเมื่อบ่ายวันนี้ว่า ได้เชิญมาเพื่อชี้แจงท่าทีไทยในเรื่องปราสาทพระวิหาร โดยมีประเด็นสำคัญคือ ก) ท่าทีไทยมีความชัดเจนที่ต้องการจะเจรจาต่อไป ข) ไทยส่งเสริมความร่วมมือกับกัมพูชา ค) ไทยรักสันติภาพ และ ง) ไทยต้องการให้กัมพูชาปฏิบัติตาม MOU ปี 2543
15. รัฐมนตรีว่าการฯ สนับสนุนให้มีการชำระประวัติศาสตร์ของประเทศในภูมิภาคเหมือนกับประเทศในยุโรป โดยไม่ควรนำประเด็นเก่า ๆ ในประวัติศาสตร์มาสร้างความเกลียดชังระหว่างกัน อันจะเป็นผลดีต่อการสร้างประชาคมอาเซียน
กองการสื่อมวลชน กรมสารนิเทศ กระทรวงการต่างประเทศ โทร. 643-5170 โทรสาร. 643-5169 E-mail : div0704@mfa.go.th--จบ--