ด้วยวิกฤตราคาอาหารในปี 2551 ทำให้ประเด็นเรื่องความมั่นคงทางอาหารกลายเป็นประเด็นสำคัญที่ประชาคมโลกให้ความสนใจ โดยปัจจัยประการหนึ่งที่ถูกมองว่าทำให้เกิดวิกฤตดังกล่าวคือ การลงทุนทางตรงระหว่างประเทศในภาคเกษตรกรรมมีน้อยเกินไป ในการนี้ การประชุมเพื่อการค้าและการพัฒนาแห่งสหประชาชาติ (UNCTAD) ได้มีบทบาทสำคัญในการริเริ่มพัฒนาหลักการ Principles for Responsible Agricultural Investment that Respects Rights, Livelihoods and Resources (RAI) ร่วมกับ องค์การอาหารและการเกษตรแห่งสหประชาชาติ (FAO) ธนาคารโลก (World Bank) และกองทุนระหว่างประเทศเพื่อพัฒนาเกษตรกรรม (IFAD) ซึ่งการพัฒนาหลักการดังกล่าวจะ เปิดโอกาสให้ทุกฝ่ายมีส่วนร่วม เนื่องจากจำเป็นต้องได้รับความสนับสนุนจากทุกภาคส่วน ทั้งจากเกษตรกร ภาคเอกชน ภาครัฐ และภาคประชาสังคม
โดยที่ประเทศไทยเป็นทั้งประเทศที่ส่งออกและนำเข้าการลงทุนทางตรงระหว่างประเทศในภาคการเกษตร และไทยได้ไปลงทุนในภาคการเกษตรในหลายประเทศ ในขณะเดียวกันมีหลายประเทศแสดงความสนใจที่จะเข้ามาลงทุนในภาคเกษตรกรรมในประเทศไทย โดยเฉพาะอย่างยิ่งประเทศในตะวันออกกลาง กระทรวงการต่างประเทศจึงเห็นว่า ประเทศไทยน่าจะต้องกำหนดนโยบายที่เหมาะสมกับสภาพทางเศรษฐกิจและสังคมของประเทศ เพื่อให้ทั้งการส่งออกและนำเข้าการลงทุนภาคการเกษตรดังกล่าวเป็นประโยชน์ต่อประเทศมากที่สุด
ในการนี้ กระทรวงการต่างประเทศจะจัดการหารือสาธารณะ (public forum) เรื่อง “การลงทุนที่รับผิดชอบในสาขาเกษตร: เส้นทางของไทย” ในวันที่ 13 กันยายน 2553 ณ ห้อง Infinity II โรงแรม Pullman Hotels and Resorts ถนนรางน้ำ ในเวลา 09.00 — 17.00 น. ดังร่างกำหนดการปรากฏตามเอกสารแนบมาพร้อมนี้ โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อแนะนำให้หน่วยงานต่าง ๆ ทั้งภาครัฐ เอกชน ประชาสังคมตระหนักถึงหลักเกณฑ์ RAI และแลกเปลี่ยนข้อคิดเห็นเกี่ยวกับการนำหลักเกณฑ์ดังกล่าวมาปรับใช้ในสังคมไทย เพื่อรองรับการลงทุนในภาคการเกษตรที่เพิ่มสูงขึ้น รวมทั้งหารือถึงการเตรียมการรองรับของไทยด้วย นอกจากนี้ กระทรวงการต่างประเทศจะจัดการเยี่ยมชมแปลงเกษตรตัวอย่างที่จังหวัดนครปฐม ในวันที่ 14 กันยายน 2553 ด้วย ทั้งนี้ ผู้ที่สนใจสามารถแจ้งชื่อได้ที่คุณสุรัชญา พลาวงศ์ นักการทูตชำนาญการ กองนโยบายเศรษฐกิจระหว่างประเทศ โทรศัพท์ 0 2643 5000 ต่อ 4066 หรือ คุณธีรวัฒน์ ว่องแก้ว นักการทูตปฏิบัติการ กองนโยบายเศรษฐกิจระหว่างประเทศ ต่อ 4067
กองการสื่อมวลชน กรมสารนิเทศ กระทรวงการต่างประเทศ โทร. 643-5170 โทรสาร. 643-5169 E-mail : div0704@mfa.go.th--จบ--